บินไทย เดือด โละทิ้ง 508 คน พนักงานที่ไม่ให้ความร่วมมือ ด้าน สหภาพฯ ฉุน ยื่นขอความคุ้มครองกระทรวงแรงงาน ห้ามบริษัทเลิกจ้าง

วันที่ 22 พ.ค.2564 ตามที่บริษัท การบินไทย จำกัด (มหาชน) ประสบปัญหาขาดทุนสะสมต่อเนื่องมายาวนาน ประกอบกับสถานการณ์โรคติดเชื้อไวรัสโคโรนาสายพันธ์ใหม่ 2019 (โควิด-19) ทำให้บริษัทไม่สามารถประกอบกิจการการบินได้ตามปกติ จนกระทั่งบริษัทต้องเข้าสู่กระบวนการฟื้นฟูกิจการและเมื่อเข้าสู่กระบวนการฟื้นฟูกิจการแล้ว บริษัทมีความจำเป็นต้องปรับปรุงองค์กรทุก ๆ ด้าน

อาทิ ด้านแรงงาน ด้านการลงทุน หรือด้านกลยุทธ์ในการประกอบธุรกิจ เพื่อลดต้นทุนลงและเพิ่มศักยภาพในการแข่งขันในตลาดธุรกิจการบิน การปรับปรุงองค์กรดังกล่าวเป็นปัจจัยที่สำคัญยิ่งที่จะทำให้บริษัทสามารถประกอบกิจการต่อไป เพื่อให้มีกระแสเงินสดเพียงพอสำหรับชำระหนี้ให้แก่บรรดาเจ้าหนี้ตามที่กำหนดไว้ในแผนฟื้นฟูกิจการ ตลอดจนเพิ่มศักยภาพการแข่งขันของบริษัทให้กลับมาประกอบธุรกิจการบินได้อย่างมั่นคงและเป็นสายการบินแห่งชาติที่คนไทยภาคภูมิใจ

ด้วยเหตุดังกล่าวข้างต้น บริษัทจึงได้ปรับปรุงโครงสร้างองค์กรให้มีจำนวนพนักงานให้เหมาะสมกับปริมาณงานและสถานะทางการเงินของบริษัท ซึ่งปัจจุบันมีพนักงานแสดงความจำนงเข้าสู่กระบวนการกลั่นกรองและผ่านการกลั่นกรองเข้าสู่โครงสร้างองค์กรใหม่ในตำแหน่งงานถาวร จำนวน 10,733 อัตรา และตำแหน่งชั่วคราวจำนวน 257 อัตรา รวมเป็น 10,990 อัตราเป็นที่เรียบร้อยแล้ว ประกอบกับที่ผ่านมาบริษัทฯ ได้จัดทำโครงการร่วมใจจากองค์กร (MSP) และมีพนักงานเสียสละเข้าร่วมโครงการทั้งสิ้น 6,725 คน

สำหรับพนักงาน จำนวน 508 คน ที่ไม่ประสงค์จะเดินหน้าไปกับบริษัทโดยไม่แสดงความจำนงเข้าสู่กระบวนการกลั่นกรองสู่โครงสร้างองค์กรใหม่ รวมถึงไม่สมัครเข้าร่วมโครงการร่วมใจจากองค์กรนั้น เมื่อวันที่ 21 พ.ค.2564 เวลา 14.30 น. บริษัทได้เลิกจ้างพนักงานดังกล่าวโดยให้มีผลในวันที่ 31 พ.ค.2564 ทั้งนี้ ในการเลิกจ้างดังกล่าว บริษัทปฏิบัติตามกฎหมายแรงงานโดยจะจ่ายเงินตามมาตรฐานขั้นต่ำที่กำหนดโดยกฎหมายแรงงาน

จากกรณีดังกล่าว เมื่อวันที่ 21 พ.ค.ที่ผ่านมา สหภาพแรงงานพนักงานการบินไทย ได้ยื่นหนังสือถึงอธิบดีกรมสวัสดิการและคุ้มครองแรงงาน โดยอ้างว่า สหภาพฯ ได้ทราบว่าทางนายจ้างจะกลั่นแกล้งกรรมการและสมาชิกสหภาพฯ โดยการเลิกจ้างทั้งกรรมการและสมาชิกสหภาพฯ ที่ไม่ยินยอมเซ็นสัญญาจ้างใหม่และรับข้อตกลงสภาพการจ้างใหม่ โดยการเข้าโครงสร้างองค์กรใหม่ ดังนั้น สหภาพฯ ขอให้อธิบดีกรมสวัสดิการและคุ้มครองแรงงานสั่งการไปยังนายจ้างให้หยุดการกระทำดังกล่าว และคุ้มครองชั่วคราวให้กับกรรมการและสมาชิกของสหภาพฯ

ขณะเดียวกันได้โพสต์เฟซบุ๊กว่า “เช้า 21 พฤษภาคม 2464 สร.พบท.ยื่นหนังสือหนังสือขอให้กรมสวัสดิการและคุ้มครองแรงงานคุ้มครองชั่วคราว กรรมการสหภาพ/อนุกรรมการสหภาพ/สมาชิกสหภาพ สร.พบท.ห้ามบริษัทเลิกจ้าง ตกเย็น การบินไทยออกประกาศเลิกจ้าง พวกหัวแข็ง แบบ ตาต่อตาฟันต่อฟัน”

ติดตามข่าวสด

ข่าวเด่นประจำวัน