มติคณะกรรมการโรคติดต่อแห่งชาติ เห็นชอบฉีดวัคซีนโควิดสลับชนิด ให้ “ซิโนแวค” เข็มแรก ตามด้วยแอสตร้าฯ เป็นเข็มสอง ห่าง 3-4 สัปดาห์ หวังสร้างภูมิเร็วขึ้นต้านเชื้อกลายพันธุ์เดลตา ฉีดบูสเตอร์โดสเข็มสามบุคลากรด่านหน้าด้วยแอสตร้าฯ ให้เริ่มได้ทันที ให้ใช้แอนติเจนเทสต์คิทตรวจใน รพ. อนาคตจ่อเปิดตรวจที่บ้าน พร้อมรักษาแยกกักที่บ้านและชุมชน

เมื่อวันที่ 12 ก.ค. นายอนุทิน ชาญวีรกูล รองนายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงสาธารณสุข แถลงผลการประชุมคณะกรรมการโรคติดต่อแห่งชาติ ครั้งที่ 7/2564 ว่า จากการมีมาตรการควบคุมสถานการณ์โควิด จึงมีการแถลงข่าวแบบออนไลน์ โดยสถานการณ์โรคโควิด 19 ใน กทม.และปริมณฑลยังมีความน่าเป็นห่วง พบผู้ติดเชื้อเพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่องจากการระบาดของสายพันธุ์เดลตา มีแนวโน้มแพร่เชื้อเพิ่มในต่างจังหวัด โดยเฉพาะในสถานประกอบการ โรงงาน ตลาดค้าส่ง คาดว่าหากพบผู้ติดเชื้อสูงถึงใกล้หมื่นรายต่อวัน หรือประมาณ 1 แสนกว่ารายใน 2 สัปดาห์นี้

ส่งผลให้เกิดอัตราการเสียชีวิตเพิ่มมากขึ้น ต้องมีมาตรการป้องกันโรคที่เข้มงวดและประสิทธิภาพ มาตรการยาแรงที่จะดำเนินการพร้อมกันในพื้นที่ควบคุมสูงสุดและเข้มงวด คือ ห้ามรวมกลุ่มคนมากกว่า 5 คน จำกัดการเดินทางข้ามจังหวัด ลดจำนวนขนส่งสาธารณะข้ามจังหวัดระยะไกล ปิดสถานที่เสี่ยง ทำงานที่บ้านทั้งเอกชนและรัฐให้มากที่สุด ลดโอกาสสัมผัสโรค ลดเคลื่อนย้ายและการดำเนินกิจกรรมของคนให้มากที่สุด

ส่วนการปรับแผนการฉีดวัคซีน ระดมฉีดสูงอายุและ 7 โรคเรื้อรัง และตั้งเป้าฉีดวัคซีนให้ผู้มีอายุ 60 ปีขึ้นไป 1 ล้านคนใน 2 สัปดาห์นี้ โดยเฉพาะพื้นที่ระบาดรุนแรง คือ กทม. ปริมณฑล วัตถุประสงค์เพื่อให้สร้างภูมิคุ้มกันในกลุ่มประชากรมากกว่า 80% ในกลุ่มสูงอายุ และ 7 โรคเสี่ยง ปัจจุบันเราทำการฉีดวัคซีนไปแล้วมากกว่า 12 ล้านโดส แต่กลุ่มเสี่ยงเสียชีวิต คือ ผู้สูงอายุ และโรคเรื้อรัง ยังรับวัคซีนไม่ครบจำนวนที่ตั้งเป้าไว้จึงต้องเร่งฉีดให้เร็วที่สุดในระยะเวลาจากนี้ไม่นาน ต้องฉีดได้ครบจำนวน

นายอนุทิน กล่าวอีกว่า สำหรับผลการประชุมคณะกรรมการโรคติดต่อแห่งชาติ มีข้อสรุป 4 เรื่อง ได้แก่ 1.เห็นชอบการฉีดวัคซีนโควิด 19 สลับชนิด โดยเข็ม 1 คือ ซิโนแวค และเข็ม 2 เป็นแอสตร้าเซนเนก้า ระยะเวลาห่าง 3-4 สัปดาห์ เพื่อเพิ่มประสิทธิภาพป้องกันเชื้อกลายพันธุ์สายพันธุ์เดลตา โดยจะสร้างภูมิคุ้มกันต่อเชื้อไวรัสในระดับที่สูงและเร็วมากยิ่งขึ้น รพ.ดำเนินการได้ทันที

2.รับทราบการฉีดบูสเตอร์โดสบุคลากรการแพทย์ด่านหน้า ในการให้วัคซีนเข็ม 3 ห่างจากเข็มสองระยะ 3-4 สัปดาห์ขึ้นไป ซึ่งบุคลากรทางการแพทย์ด่านหน้าส่วนใหญ่รับสองเข็มแรกเกิน 4 สัปดาห์แล้ว จะดำเนินการฉีดบูสเตอร์โดสได้เลยทันที เพื่อกระตุ้นภูมิคุ้มกันสูงและเร็วที่สุด บุคลากรด่านหน้าที่เสี่ยงเชื้อโควิดจากการปฏิบัติงานประจำดูแลผู้ป่วย ซึ่งเชื้อกลายพันธุ์เดลตา มีความจำเป็นต้องฉีดบูสเตอร์โดสเพื่อความมั่นใจและความปลอดภัยบุคลากรดูแลผู้ป่วยได้เต็มที่ โดยบูสเตอร์โดสจะเป็นแอสตร้าฯ เป็นหลัก มีข้อมูลวิชาการว่าการให้คนละชนิดในเข็มกระตุ้นมีผลดีสร้างภูมิคุ้มกันในบุคคลเพื่อป้องกันโรคโควิด 19

3.เห็นชอบแนวทางการใช้ชุดตรวจ Antigen Test Kit ตรวจหาเชื้อโควิด เพิ่มโอกาสเข้าถึงการตรวจหาเชื้อที่มีการระบาดหลายพื้นที่ ประชาชนไม่ต้องรอคิวนานในการไปตรวจหาเชื้อด้วยวิธีสวอปจมูกหรือ RT-PCR ที่ใช้เวลานานมาก การนำทุกเทสต์คิทที่นำมาใช้ต้องผ่านการรับรองขึ้นทะเบียนกับ อย. ปัจจุบันมีผู้ขึ้นทะเบียนแล้ว 24 ราย โดยอนุญาตให้ตรวจโดยสถานพยาบาล หน่วยตรวจที่รับรองมาตรฐานมีมากกว่า 300 แห่ง ช่วยลดระยะรอคอย และเร็วๆ นี้จะอนุญาตตรวจเองที่บ้านเพื่อความสะดวกประชาชนทราบผลที่เร็ว ลดเสี่ยงแพร่เชื้อ กรมควบคุมโรคจะมอบหมายให้ คณะกรมการโรคติดต่อจังหวัดและ กทม.กำกับตามแนวทางปฏิบัติอย่างเคร่งครัด

และ 4.เห็นชอบแนวทางการแยกกักที่บ้านและชุมชน (Home Isolation / Community Isolation) ในผู้ป่วยที่ยังไม่สามารถเข้ารักษา รพ.ได้ ไม่มีอาการรุนแรง โดยมีเครื่องวัดไข้ วัดออกซิเจนในกระแสเลือด และยา ซึ่ง สปสช.ทำแนวทางขึ้นมาแล้วพร้อมอาหาร 3 มื้อ ร่วม รพ.เจ้าภาพที่ดูแลผู้ป่วย จะให้การดูแลเต็มที่

นอกจากนี้ ยังรับทราบแนวทางการดำเนินงาน Comprehensive Covid-19 Response Team (CCR Team) 200 ทีมในพื้นที่ กทม.เพื่อดูแลโควิดสีเขียวถึงบ้าน ทั้งทางกายและจิตใจ หรือผู้ป่วยที่กลับมาจาก รพ.แล้ว พร้อมนำชุดคัดกรองต่างๆ ที่เป็นแอนติเจนเทสต์คิทไปให้บริการถึงชุมชนถึงบ้านที่อยู่

“สุดท้ายแม้การฉีดวัคซีนช่วยลดการป่วยรุนแรงและเสียชีวิต ชะลอการแพร่ระบาดของโรคทำให้ รพ.รองรับผู้ป่วยไม่เกินขีดจำกัด มาตรการสำคัญที่ สธ.ยังแนะนำคือความจำเป็นต้องปฏิบัติตามมาตรการส่วนบุคคล คือ สวมหน้ากาก ลดคลุกคลีใกล้ชิดผู้คน ไม่รับประทานอาหารร่วมกัน ทั้งที่บ้านและที่ทำงาน งดการเดินทางที่ไม่จำเป็น จำกัดการเคลื่อนย้ายประชาชน ลดกิจกรรมนอกบ้านมากที่สุดตามแนวทาง ศบค.กำหนดไว้ เรามั่นใจจะควบคุมการระบาดได้ในที่สุดด้วยความร่วมมือร่วมใจของทุกคนในประเทศ” นายอนุทินกล่าว

ติดตามข่าวสด

ข่าวเด่นประจำวัน