กรมควบคุมโรค เปิดไทม์ไลน์จัดซื้อวัคซีนแอสตร้าฯ โดยละเอียด จากเดิมสั่งซื้อ 26 ล้านโดส เพิ่มอีก 35 ล้านโดส รวมเป็น 61 ล้านโดส กำหนดส่งมอบตั้งแต่เดือน มิ.ย. แต่มีการส่งมาก่อนช่วงมีการระบาด ขณะนี้รวมทั้งหมด 8,193,500 โดส ทยอยส่งเป็นสัปดาห์

เมื่อวันที่ 18 ก.ค. นพ.โอภาส การย์กวินพงศ์ อธิบดีกรมควบคุมโรค ให้สัมภาษณ์ตอบข้อซักถามเกี่ยวกับวัคซีนโควิด 19 ผ่านระบบออนไลน์ โดย นพ.โอภาสกล่าวว่า โรคโควิด 19 เป็นโรคอุบัติใหม่ ความรู้และการจัดการเป็นเรื่องใหม่ ขณะที่ไวรัสเปลี่ยนแปลงตลอดเวลา ตอนนี้ปัญหาระบาดทั่วโลก คือ สายพันธุ์เดลตา แพร่กระจายเชื้อมากขึ้น ก่อโรคเกิดความรุนแรงมากขึ้น สถานการณ์การระบาดทั่วโลกและไทยมีการเปลี่ยนแปลงตลอดเวลา

ดังนั้น การอ้างอิงข้อมูลเวลาใดเวลาหนึ่งพูด โดยเฉพาะเอาข้อมูลเก่ามาพูดในปัจจุบันอาจไม่สอดคล้อง เพราะวันนี้พูดอาจจะถูก แต่ต่อไปอาจจะผิด เรื่องของวัคซีนโควิด 19 ก็เช่นกัน มีการผลิตออกมาในเวลาไม่ถึงปี แต่เป็นการใช้ในภาวะฉุกเฉิน จะรอวิจัยครบถ้วนเสร็จสมบูรณ์แล้วใช้จึงเป็นไปได้ยาก แต่ขณะนี้ภาพรวมการฉีดวัคซีนถือว่ามีประสิทธิภาพและปลอดภัยเป็นที่ยอมรับได้ ใช้ในภาวะฉุกเฉินทั่วโลกและไทย

นพ.โอภาส กล่าวว่า สำหรับการจัดหาวัคซีนแอสตร้าเซนเนก้านั้น มีไทม์ไลน์ดังนี้ ช่วง ม.ค. 63 ไทยพบผู้ป่วยโควิดรายแรก , วันที่ 25 มี.ค.63 ไทยประกาศสถานการณ์ฉุกเฉินหลังพบการระบาดมากขึ้น , วันที่ 22 เม.ย. 63 คณะกรรมการวัคซีนแห่งชาติเห็นชอบแผนการเข้าถึงวัคซีนโควิด 19 ของประชากรไทย , วันที่ 24 ส.ค. 63 กระทรวงสาธารณสุข (สธ.) ลงนามสนับสนุนการถ่ายทอดเทคโนโลยีจากบริษัทแอสตร้าเซนเนก้าให้ผู้ผลิตในไทย ทำให้มีแหล่งผลิตในไทย , วันที่ 23 ก.ย. 63 คณะกรรมการขับเคลื่อนการจัดหาวัคซีนฯ เห็นชอบแผนจัดหาวัคซีนเบื้องต้น

วันที่ 9 ต.ค. 63 รมว.สธ.ออกประกาศจัดหาวัคซีนในกรณีมีเหตุฉุกเฉิน โดยให้กรมควบคุมโรค สถาบันวัคซีนแห่งชาติ จัดหาโดยการจองล่วงหน้า ซึ่งขณะนั้นยังไม่มีวัคซีนที่ผลิตออกมาได้ ซึ่งวัคซีนอาจสำเร็จหรือไม่ก็ได้ , วันที่ 17 พ.ย. 63 ครม.เห็นชอบโครงการจัดหาวัคซีนโดยการจองล่วงหน้ากับแอสตร้าเซนเนก้า 26 ล้านโดส วันที่ 27 พ.ย. 63 ลงนามในสัญญา 3 ฝ่ายเพื่อจองซื้อ โดยแอสตร้าเซนเนห้าประเทศไทย สถาบันวัคซีนฯ และกรมควบคุมโรค

วันที่ 5 ม.ค. 64 ครม.เห็นชอบให้สั่งซื้อเพิ่มอีก 35 ล้านโดส รวมเป็น 61 ล้านโดส วันที่ 20 ม.ค.64 อย.ขึ้นทะเบียนวัคซีนแอสตร้าเซนเนก้าสามารถใช้ได้ในภาวะฉุกเฉิน วันที่ 23 ก.พ.64 ครม.เห็นชอบแก้ไขสัญญาจองซื้อวัคซีนจากเดิม 26 ล้านโดส เพิ่ม 35 ล้านโดส เป็น 61 ล้านโดส วันที่ 2 มี.ค. ครม.เห็นชอบกรอบวงเงินงบประมาณเพิ่มสำหรับ 35 ล้านโดส วันที่ 25 มี.ค. 64 กรมควบคุมโรคส่งสัญญาที่ลงนามแก้ไขให้บริษัทแอสตร้าเซนเนก้าประเทศไทย โดยใช้เวลา 2 เดือนแอสตร้าฯ จึงส่งสัญญากลับมา คือ วันที่ 4 พ.ค. ที่ได้รับสัญญาที่ลงนามโดยแอสตร้าฯ ประเทศไทย และแอสตร้าฯ อังกฤษ และ วันที่ 1 มิ.ย. 64 ครม.เห็นชอบกรอบการดำเนินงาน 61 ล้าน ตั้งแต่ มิ.ย. – ธ.ค. 64

นพ.โอภาสกล่าวต่อว่า ส่วนการส่งมอบวัคซีนนั้นตามกำหนดการจะเริ่ม มิ.ย. 64 แต่เนื่องจากมีการระบาดจึงมีการส่งมาให้ก่อน โดยส่งมาวันที่ 28 ก.พ. จำนวน 117,300 โดส และวันที่ 28 พ.ค. จำนวน 242,100 โดส สำหรับเดือนมิ.ย. ส่งมาวันที่ 4 มิ.ย. จำนวน 1,787,100 โดส , วันที่ 16 มิ.ย. จำนวน 610,000 โดส , วันที่ 18 มิ.ย. จำนวน 970,000 โดส , วันที่ 23 มิ.ย. จำนวน 593,300 โดส , วันที่ 25 มิ.ย. จำนวน 323,600 โดส และ วันที่ 30 มิ.ย. จำนวน 846,000 โดส ส่วนเดือน ก.ค. ส่งมาวันที่ 3 ก.ค. จำนวน 590,000 โดส , วันที่ 9 ก.ค. จำนวน 555,400 โดส , วันที่ 12 ก.ค. จำนวน 1,053,000 โดส และวันที่ 16 ก.ค. จำนวน 505,700 โดส รวมได้รับวัคซีนแอสตร้าฯ ทั้งหมด 8,193,500 โดส จะเห็นว่าเมื่อผลิตและตรวจรับรองรุ่นการผลิตเสร็จก็ทยอยส่งให้เรา เป็นไปตามที่ สธ.เคยอบกว่าจะส่งเป็นรายสัปดาห์

ติดตามข่าวสด

ข่าวเด่นประจำวัน