อธิบดีกรมควบคุมโรค ย้ำวัคซีนไฟเซอร์ ล็อตบริจาคมาปลาย ก.ค.นี้ เริ่มฉีดได้ ส.ค. เน้นกลุ่มบุคลากรทางการแพทย์ด่านหน้าฉีดเป็นบูสเตอร์โดส ผู้สูงอายุและกลุ่มเสี่ยงในพื้นที่ระบาด เร่งสอบถามยอดแต่ละจังหวัด ส่วน รพ.เอกชนและคลินิกความงามส่งยอดเพียบไม่ตรงกลุ่มเป้าหมายจะสอบทานก่อนจัดสรรโดยคกก.โรคติดต่อจังหวัด แจงแอสตร้าฯ ส่งให้ได้ 5-6 ล้านโดสต่อเดือน เว้นผลิตได้เพิ่มขึ้น

เมื่อวันที่ 20 ก.ค. นพ.โอภาส การย์กวินพงศ์ อธิบดีกรมควบคุมโรค กล่าวว่า วันนี้ได้ลงนามสัญญาจัดหาวัคซีน mRNA ระหว่างกรมควบคุมโรคและบริษัทไฟเซอร์ จำกัด จำนวน 20 ล้านโดส หลังจาก ครม.อนุมัติให้ลงนามในสัญญา ซึ่งตามแผนที่วางไว้จะส่งมอบภายในไตรมาส 4 และสหรัฐอเมริกาจะส่งมอบวัคซีนไฟเซอร์บริจาคให้ไทย 1.5 ล้านโดสจะมาปลายเดือนนี้ ทำให้ฉีดครอบคลุมประชาชนมากขึ้นและควบคุมสถานการณ์โรคดียิ่งขึ้น

ส่วนปี 2565 จะหามาเพิ่มเติมต่อไป ตอนนี้ภาพรวมเราลงนามสัญญากับแอสตร้าเซนเนก้า 61 ล้านโดส จัดหาซิโนแวค 19 ล้านโดส และไฟเซอร์ 20 ล้านโดส จะมีวัคซีนที่จองซื้อและส่งมอบกันตามสัญญา 100 ล้านโดสในปี 2564 แต่ความต้องการฉีดวัคซีนของประชาชนมีจำนวนมาก สธ.จะจัดหามาเพิ่มเติม หากมีข่าวดีจะแจ้งให้ทราบต่อไป

นพ.โอภาส กล่าวว่า สำหรับการลงนาม 3 ฝ่ายระหว่างกรมควบคุมโรค แอสตร้าเซนเนก้า และสถาบันวัคซีนแห่งชาติ เมื่อวันที่ 27 ก.ย. 2563 มีข้อตกลงว่าจะไม่เปิดเผยความลับในสัญญา ถ้าจะเปิดเผยต้องได้รับความยินยอม 3 ฝ่าย มิเช่นนั้นถือว่าทำผิดสัญญา ซึ่งอาจเป็นปัญหาได้ เพราะเมื่อผิดสัญญาก็อาจถูกยกเลิก ไม่มีการส่งวัคซีนให้ประเทศไทย การรักษาสัญญาเป็นเรื่องสำคัญ แต่ในสัญญญาไม่ได้มีประเด็นอะไรซับซ้อน แต่ภาคเอกชนทำสัญญากับรัฐเขาคำนึงความลับทางการค้าที่อาจมีผลกับการทำสัญญากับอีกหลายประเทศ และการทำสัญญากับแอสตร้าฯ เป็นช่วงที่ยังไม่มีการผลิต จึงไม่สามารถกำหนดจำนวนที่ผลิตและจัดส่งให้ได้ จึงต้องเจรจากันล่วงหน้าในแต่ละเดือน

“ไม่ได้เป็นไปตามข่าวที่ออกมาว่าเราต้องการ 3 ล้านโดสต่อเดือน ความต้องการเดือนถัดไปอยู่ที่ 10 ล้านโดส แต่ทางบริษัทส่งสัญญาณว่าจะส่งให้เราได้อย่างน้อยประมาณ 5-6 ล้านโดสต่อเดือน โดยขึ้นกับกำลังการผลิต หากสามารถผลิตได้เพิ่มขึ้นก็จะส่งมอบให้เราได้มากขึ้น รวมถึงจะมีจัดหาวัคซีนเพิ่มเติม ซึ่งเรามีการเจรจากับไฟเซอร์และหาจากแหล่งผลิตต่างๆ การฉีด 10 ล้านโดสต่อเดือนก็น่าจะป้องกันการระบาดของโควิด 19 ในขณะนี้ได้” นพ.โอภาสกล่าว

นพ.โอภาส กล่าวต่อว่า สำหรับผลการศึกษาการใช้ “ซิโนแวค” ในสถานการณ์จริงของประเทศไทย โดยติดตามกลุ่มผู้สัมผัสเสี่ยงสูงและบุคลากรทางการแพทย์ พบว่า จ.ภูเก็ตฉีดเมื่อ เม.ย.- พ.ค. 64 ป้องกันการติดเชื้อ 90% สมุทรสาครช่วง เม.ย.ป้องกันติดเชื้อประมาณ 90% แต่เป็นช่วงของสายพันธุ์อัลฟา ส่วน มิ.ย.มีการระบาดในบุคลากรทางการแพทย์เชียงราย ศึกษาพบว่าประสิทธิภาพอยู่ที่ 82.8% แม้จะลดลง แต่อยู่ในระดับที่น่าพอใจ ส่วนการติดเชื้อในบุคลากรทางการแพทย์ทั้งประเทศรวบรวมโดยกรมควบคุมโรค ช่วง พ.ค.พบว่าป้องกันการติดเชื้อ 70.9% ข้อสังเกตคือประสิทธิภาพป้องกันการติดเชื้อเริ่มลดน้อยลง เพราะเชื้อกลายพันธุ์ เป็นสาเหตุที่ต้องหาวิธีเพิ่มประสิทธิภาพป้องกันการติดเชื้อให้ดีขึ้น เป็นที่มาของการปรับสูตรฉีดวัคซีน

“ขณะนี้มีการศึกษาหลายหน่วยงาน ทั้งจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย กรมวิทยาศาสตร์การแพทย์ และไบโอเทค พบว่า หากนำซิโนแวคเป็นเข็มแรก เว้น 3-4 สัปดาห์ฉีดแอสตร้าเซนเนก้าเข็มสอง ประสิทธิภาพป้องกันโรคสูงขึ้นหลายเท่าเมื่อเทียบกับการฉีดซิโนแวค 2 เข็ม รวมถึงทำให้การฉีดวัคซีนได้ครอบคลุมรวดเร็วยิ่งขึ้น เพราะจากเดิมแอสตร้าฯ 2 เข็มต้องเว้นช่วง 12 สัปดาห์ หากปรับสูตรฉีดก็ใช้เวลา 4 สัปดาห์ ทำให้ภูมิคุ้มกันคนรับวัคซีนครบเพิ่มขึ้นมาก รองรับสถานการณ์การระบาดได้ดียิ่งขึ้น” นพ.โอภาสกล่าว

เมื่อถามถึงกรณีตัวเลข รพ.เอกชนและสถานเสริมความงามส่งรายชื่อบุคลากรจำนวนมาก เพื่อขอการจัดสรรวัคซีน นพ.โอภาส กล่าวว่า วัคซีนไฟเซอร์ที่ได้รับบริจาคจากสหรัฐอเมริกา 1.5 ล้านโดส จะมาถึงไทยปลายเดือนนี้ โดยจะเริ่มต้นฉีดได้ช่วงเดือนส.ค. ในการจัดสรรฉีดวัคซีนกลุ่มเป้าหมาย ซึ่ง สธ.และความเห็นชอบจาก ศบค. กำหนดดังนี้ 1.บุคลากรทางการแพทย์และสาธารณสุขด่านหน้าที่ดูแลผู้ป่วยโควิด หรือผู้ป่วยที่เกี่ยวข้องกันที่ฉีดไปแล้ว 2 เข็ม จะมีการกระตุ้นเข็ม 3 หรือ บูสเตอร์โดส 2.กลุ่มผู้สูงอายุ หรือกลุ่มเสี่ยงในพื้นที่ระบาด

3. ชาวต่างชาติที่เป็นกลุ่มเสี่ยงในพื้นที่ระบาด เป็นต้น ในขั้นตอนการจัดการ สธ.ได้สอบถามข้อมูลให้แต่ละจังหวัดแจ้งยอดมาว่า ในจังหวัดมีกลุ่มบุคลากรทางการแพทย์และสาธารณสุขด่านหน้าที่ทำงานใกล้ชิดและเสี่ยงติดเชื้อจากการทำงานให้มารับวัคซีนเข็มกระตุ้น ซึ่งอยู่ในขั้นตอนการสอบถามข้อมูล ดังนั้น ข่าวที่ว่า มีหลาย รพ.ส่งข้อมูลไม่ตรงกับกลุ่มเป้าหมาย เราจะมีการสอบทานเพื่อให้ได้ตรงกับกลุ่มเป้าหมาย เราจะฉีดให้กับกลุ่มบุคลากรทางการแพทย์และสาธารณสุขด่านหน้าเป็นอันดับแรกก่อน ดังนั้น บางหน่วยงานที่ไม่เข้าใจและส่งยอดผิดจะไม่จัดสรรตามนั้น จะเป็นหน้าที่คณะกรรมการโรคติดต่อจังหวัด คณะกรรมการโรคติดต่อกรุงเทพมหานคร ตรวจสอบข้อมูลและแจ้งมายังส่วนกลางต่อไป

ติดตามข่าวสด

ข่าวเด่นประจำวัน