หนุนซีโร่หมดองค์กรอิสระ

สดศรีโผล่แนะ สนช.ถกกม.ลูก เชิญกรธ.ชี้แจง

“สดศรี”อดีตกกต. หนุนเซ็ตซีโร่ทุกองค์กรอิสระ หลังรธน.ใหม่บังคับใช้ มั่นใจโละ 5 กกต.ไม่กระทบเลือกตั้ง ชี้เจ้าหน้าที่ทำเองได้หมด ทีมกฎหมายพรรคเพื่อไทยแนะหากจะรีเซ็ตองค์กรอิสระ ควรกำหนดกรอบเวลาการอยู่ให้ชัด ดักคอเซ็ตซีโร่สมาชิกพรรค หวังดึงส.ส.ร่วมตั้งรัฐบาล โหวตนายกฯ ที่วางตัวไว้ จี้กรธ.ต้องรับฟังความเห็นพรรค การเมือง สนช.จัดสัมมนา 14 พ.ย. เชิญกรธ.แจงกฎหมายลูก 10 ฉบับ กระทรวงพาณิชย์ปิดประกาศเรียกค่าเสียหายจีทูจีครบ 6 ราย เผยนายกฯ ย้ำให้ความเป็นธรรม คดีเรียกค่าเสียหายจำนำข้าวที่เหลืออีกร้อยละ 80 อ้างเป็นโครงการเชิงนโยบาย มีข้าราชการระดับสูงเกี่ยวข้องทั้งครม.-กขช.-ส่วนภูมิภาค

พณ.ปิดประกาศเรียกค่าเสียหายจีทูจี

นางดวงพร รอดพยาธิ์ อธิบดีกรมการค้าต่างประเทศ กระทรวงพาณิชย์ กล่าวถึงความคืบหน้าการเรียกร้องค่าเสียหายกรณีระบายข้าวแบบรัฐต่อรัฐหรือจีทูจี 4 สัญญา จำนวน 6.2 ล้านตัน มูลค่าความเสียหาย 20,000 ล้านบาท ผู้เกี่ยวข้องทั้งหมด 6 ราย หลังจาก ปลัดกระทรวงพาณิชย์ลงนามในคำสั่งทางปกครองเรียกค่าเสียหายแล้วว่า ขณะนี้กระทรวงพาณิชย์ได้ปิดประกาศหนังสือบังคับทางปกครองที่หน้าบ้านของผู้เกี่ยวข้อง 4 ใน 6 ราย เมื่อวันที่ 21 ก.ย. อีกรายปิดเมื่อช่วงต้นเดือนต.ค. และอีก 1 รายปิดประกาศหนังสือวันที่ 10 ต.ค.ที่ผ่านมา โดยผู้รับจะต้องลงนามเพื่อแสดงว่าได้รับหนังสือแล้ว หากครบ 30 วันไม่มาชำระจะทำหนังสือเตือน หากภายใน 15 วันไม่จ่ายค่าเสียหายจะทำหนังสือแจ้งกรมบังคับคดี โดยผู้เสียหายมีสิทธิ์ยื่นอุทธรณ์ต่อศาลปกครองใน 90 วันนับจากวันที่ได้รับหนังสือเรียกค่าเสียหาย

“บิ๊กตู่”ย้ำให้ความเป็นธรรมทุกฝ่าย

นางดวงพร กล่าวว่า ส่วนคดีโครงการจำนำข้าว กระทรวงการคลังออกคำสั่งเรียกค่าเสียหาย 35,000 ล้านบาท จากน.ส.ยิ่งลักษณ์ ชินวัตร อดีตนายกฯไปแล้ว ส่วนความเสียหายที่เหลืออีกร้อยละ 80 เจ้าหน้าที่ที่เกี่ยวข้องต้องชดใช้ในส่วนนี้ ซึ่งพล.อ. ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกฯ มอบให้กระทรวงยุติธรรมดำเนินการและอยู่ระหว่างการนัดหารือร่วมกับหลายหน่วยงาน ซึ่งกรมการค้าต่างประเทศร่วมประชุมด้วย โดยนายกฯย้ำว่าต้องให้ความเป็นธรรมกับทุกฝ่าย เพราะโครงการรับจำนำข้าวเป็นโครงการเชิงนโยบาย มีข้าราชการระดับสูงทั่วประเทศเกี่ยวข้อง ทั้งครม. คณะกรรมการนโยบายข้าวแห่งชาติ (กขช.) และข้าราชการส่วนภูมิภาค เป็นต้น

สนช.เล็งจัดสัมมนากม.ลูก 10 ฉบับ

นายทวีศักดิ์ สูทกวาทิน รองประธานคณะกรรมาธิการ (กมธ.) สามัญพิจารณาศึกษา เสนอแนะ และรวบรวมความเห็นเพื่อการจัดทำร่างรัฐธรรมนูญ ของสภานิติบัญญัติแห่งชาติ (สนช.) ถึงแนวทางการพิจารณา ร่างพระราชบัญญัติ (พ.ร.บ.) ประกอบรัฐ ธรรมนูญว่า สนช.จะจัดสัมมนา โดยเชิญคณะกรรมการร่างรัฐธรรมนูญ (กรธ.) และตัวแทนจากองค์กรอิสระที่เกี่ยวข้อง มาชี้แจงเจตนารมณ์ของการจัดทำร่างกฎหมายลูก เพื่อให้สมาชิกสนช.ได้รับทราบข้อมูล แลกเปลี่ยนซักถามข้อคิดเห็นร่วมกันก่อนจะประชุมเพื่อพิจารณาจัดทำร่างกฎหมายลูกทั้ง 3 วาระต่อไป

นายทวีศักดิ์กล่าวว่า การสัมมนาจะจัดวันที่ 14 พ.ย. ที่รัฐสภา มีตัวแทนจากกรธ.มาอธิบายภาพรวมของกฎหมายลูกทั้ง 10 ฉบับ จากนั้นจะให้กรธ.และตัวแทนองค์กรอิสระมาชี้แจงลงรายละเอียดแต่ละฉบับอีก 2 ครั้ง แต่ยังไม่ได้กำหนดวันแน่ชัด แบ่งเป็นรอบแรกคือ กฎหมายลูก 4 ฉบับ ที่สำคัญสำหรับการจัดเลือกตั้ง และรอบสอง กฎหมายลูกอีก 6 ฉบับ ที่เกี่ยวข้องกับองค์กรอิสระ

แย้มรอดูบทเฉพาะกาล

นายทวีศักดิ์กล่าวว่า ส่วนการหาสมาชิกสนช.เพื่อเป็นตัวแทนพิจารณาร่างกฎหมายลูก วาระ 2 ในชั้นกมธ.นั้น ได้มอบให้กมธ.ของสนช.แต่ละคณะพิจารณาคัดเลือกส่งรายชื่อบุคคลมาให้วิปสนช.พิจารณาคัดเลือก คาดว่าตัวแทนจากกมธ.การเมือง ที่มีนายกล้านรงค์ จันทิก เป็นประธาน จะเป็นแกนหลัก เนื่องจากมีความรู้และประสบการณ์เรื่องเหล่านี้โดยตรง ยืนยันว่าสนช.ยังไม่มีการหารือกันเกี่ยวกับการรีเซ็ตคณะกรรมการองค์กรอิสระ ตามแนวคิดของสมาชิกสภาขับเคลื่อนการปฏิรูปประเทศ (สปท.) เนื่องจากต้องรอดูร่างกฎหมายที่เสนอจากกรธ. ก่อนว่าเป็นอย่างไร แต่หากจะรีเซ็ตกรรมการองค์กรอิสระ ก็ต้องใส่ไว้ในบทเฉพาะกาล

สดศรีหนุนรีเซ็ตกก.องค์กรอิสระ

นางสดศรี สัตยธรรม อดีตกรรมการการเลือกตั้ง (กกต.) กล่าวถึงกรณีพล.อ.นคร สุขประเสริฐ สมาชิกสปท. เรียกร้องให้เซ็ตซีโร่กรรมการองค์กรอิสระ หลังมีรัฐธรรมนูญใหม่ว่า เมื่อมีรัฐธรรมนูญใหม่ คุณสมบัติของกรรมการองค์อิสระเปลี่ยนแปลงไปมาก หากจะเริ่มต้นใหม่ เมื่อรัฐธรรมนูญมีผลบังคับใช้ ทุกองค์กรอิสระก็ควรเริ่มต้นรีเซ็ตใหม่ทั้งหมดด้วย แต่ต้องเปิดโอกาสให้กรรมการองค์กรอิสระเดิมลงสมัครสรรหาใหม่ได้ด้วย เชื่อว่ากรรมการองค์กรอิสระเดิมมีเพียงไม่กี่คนที่มีคุณสมบัติครบถ้วนตามที่รัฐธรรมนูญใหม่กำหนด

ส่วนที่กกต.บางคนระบุหากเซ็ตซีโร่กกต. จะทำให้กระทบการเลือกตั้ง เพราะขาดกรรมการที่มีประสบการณ์นั้น นางสดศรีกล่าวว่า ตนมองว่า เรื่องนี้ไม่มีผลกระทบ เพราะกกต.เป็นเพียงหัวโขนเท่านั้น การจัดการเลือกตั้ง ขั้นตอนการดำเนินงานทุกอย่าง ทั้งการแบ่งเขตเลือกตั้ง เป็นหน้าที่ของเจ้าหน้าที่กกต.ฝ่ายประจำที่เป็นผู้ดำเนินการทั้งสิ้น สมัยที่ตนเป็นกกต. แม้จะเคยเป็นผู้พิพากษามาก่อน แต่ไม่ได้มีความรู้เกี่ยวกับการจัดเลือกตั้งมากเท่าเจ้าหน้าที่กกต. เพราะเจ้าหน้าที่เหล่านี้เคยทำงานอยู่กระทรวงมหาดไทยมาก่อน รู้ขั้นตอนจัดเลือกตั้งดี บางเรื่องเรายังสู้เจ้าหน้าที่กกต.ไม่ได้เลย

ข้องใจ 5 เสือกกต.ดึงตั้งเลขาฯ

นางสดศรีกล่าวด้วยว่า ตนมองว่าเรื่องที่ 5 เสือกกต.ชุดนี้ควรจะทำให้เร็วที่สุดคือ การตั้งเลขาธิการกกต. ตนไม่เข้าใจเหมือนกันว่าจะรออะไร ทำไมไม่ตั้งเลขาธิการกกต. เพราะสำนักงานกกต. ต้องมีหัวหน้าของรองเลขาธิการทั้ง 5 ด้าน คอยสั่งการเซ็นคำสั่ง เปรียบเหมือนกับปลัดกระทรวง เมื่อถูกปฏิวัติรัฐปะหาร รัฐมนตรีก็สิ้นสุดลง ปลัดกระทรวงจึงทำหน้าที่แทน เช่นเดียวกับกกต. หากมีกกต.ถูกเซ็ตซีโร่ เลขาธิการกกต.จะทำหน้าที่แทนทั้งหมด ซึ่งการจัดการเลือกตั้งสามารถเดินหน้าต่อไปได้ ไม่มีผลกระทบแต่อย่างใด

พท.ชี้ต้องดูคุณสมบัติ-ผลงาน

นายชูศักดิ์ ศิรินิล หัวหน้าคณะทำงานกฎหมายพรรคเพื่อไทย ให้สัมภาษณ์กรณีสมาชิกสปท.บางคน เรียกร้องให้เซ็ตซีโร่องค์กรอิสระว่า เรื่องดังกล่าวต้องคำนึงถึงคุณสมบัติของผู้ดำรงตำแหน่งในองค์กรอิสระ นั้นๆ ว่า สอดคล้องกับที่กำหนดไว้ตามรัฐธรรมนูญฉบับใหม่หรือไม่ รวมถึงศาลรัฐธรรมนูญเช่นกัน เท่าที่ตนเห็นคุณสมบัติสมาชิกขององค์กรบางลักษณะ บางคน บางฝ่ายไม่เป็นไปตามที่รัฐธรรมนูญใหม่กำหนด คือขัดกัน ดังนั้น การจะปรับปรุงองค์กรหรือสรรหาใหม่ ต้องมีเหตุผลและพิจารณาโดยดูคุณสมบัติเป็นหลัก หากไม่ถูกต้องก็ให้พ้นไป แต่ต้องพิจารณาอย่างรอบคอบ ยกตัวอย่าง บางคนเพิ่งทำหน้าที่เพียง 5 เดือน การจะให้พ้นไปทั้งหมดหรือบางส่วนก็อาจเป็นปัญหาเรื่องความชอบธรรมเกิดขึ้นได้

“หากจะเซ็ตซีโร่ ต้องมองประเด็นหลักคือคุณสมบัติสอดคล้องและเป็นไปตามรัฐธรรมนูญใหม่หรือไม่ และให้ประเมินผลว่าองค์กรอิสระนั้นทำหน้าที่อย่างไร ได้รับการยอมรับจากสังคมและมีความน่าเชื่อถือมากน้อยแค่ไหน ต้องคิดให้ดีว่าหากเซ็ตซีโร่หมดแล้วองค์กรที่จะมาใหม่ จะต้องผ่านความเห็นชอบของวุฒิสภาซึ่งมาจากการแต่งตั้งทั้งหมด ทั้งนี้ องค์กรที่ควรปรับปรุงการทำงานคือ องค์กรที่มีหน้าที่ให้ความเป็นธรรมชี้ถูกชี้ผิดกับประชาชน รวมถึงองค์กรที่ต้องบังคับใช้กฎหมาย ซึ่งจะต้องให้ความสำคัญเป็นพิเศษ” นายชูศักดิ์กล่าว

นายชูศักดิ์กล่าวกรณีรัฐบาลยืนยันบริหารงานตามโรดแม็ปว่า ไม่กังวลเพราะรัฐบาลต้องบริหารงานตามที่ระบุไว้ และต้องรับผิดชอบ ชี้แจงเหตุผลหากไม่เป็นไปตามนั้น ซึ่งจุดนี้ประชาชนจะเป็นผู้พิจารณาเอง

จี้กรธ.รับฟังความเห็นพรรค

นายชูศักดิ์กล่าวถึงกรธ.จะเชิญบุคคลที่เกี่ยวข้องกับการเมือง ไปหารือเพื่อประกอบการจัดทำกฎหมายประกอบรัฐธรรมนูญโดยไม่เชิญพรรค การเมืองว่า แปลกใจว่าเหตุใด กรธ.ถึงไม่เชิญพรรคการเมือง เพราะกฎหมายลูกอย่างน้อย 3 ฉบับคือ พ.ร.บ.ว่าด้วยการเลือกตั้งส.ส. พ.ร.บ.ว่าด้วยพรรคการเมืองและพ.ร.บ.ว่าด้วยกกต. ล้วนเกี่ยวข้องกับพรรค จึงควรรับฟังความคิดเห็นจากพรรคต่างๆ ด้วย ซึ่งการเชิญในนามบุคคล ก็เป็นเพียงความเห็นและข้อเสนอของบุคคลนั้นๆ แล้วจะเลือกเชิญอย่างไร จะเชิญเฉพาะบุคคลที่เห็นคล้อยตาม กรธ. แล้วมาอ้างภายหลังว่ารับฟังความเห็นของผู้เกี่ยวข้องอย่างรอบด้านแล้วได้อย่างไร

นายชูศักดิ์กล่าวว่า การที่ กรธ.ไม่เชิญพรรค อาจมีเหตุผลว่าสาระสำคัญในกฎหมายที่กรธ.จะเขียนนั้น เป็นสิ่งที่พรรคไม่อาจยอมรับได้ จึงตัดปัญหาไม่เชิญพรรค อีกประการคือหลายพรรคเสนอให้เซ็ตซีโร่องค์กรอิสระ เช่น กกต. จึงเกรงจะยุ่งไปกันใหญ่ จึงเลือกเชิญเฉพาะคนจะดีกว่า หรือติดขัดปัญหาที่พรรคประชุมไม่ได้ จึงตัดปัญหา ส่วนการเซ็ตซีโร่พรรค ยังไม่ทราบว่าจะเซ็ตซีโร่ในขอบเขตแค่ไหน หากทำถึงขนาดให้พรรคที่มีอยู่ สิ้นสุดลงแล้วให้จดทะเบียนจัดตั้งพรรคใหม่นั้น คงหาเหตุผลรองรับยากและไม่เกิดประโยชน์

ห่วงเปิดช่องทำลายระบบพรรค

นายชูศักดิ์กล่าวถึงข้อเสนอจะให้สมาชิกพรรคไปสังกัดพรรคอื่นได้แล้วค่อยมาลาออกจากพรรคเดิมว่า กรณีดังกล่าวมีข้อพิจารณาอยู่ 2 ประการ คือ 1.หากดูเจตนารมณ์ของการตั้งพรรค เพื่อให้ผู้ที่มีอุดมการณ์เดียวกันได้ร่วมทำกิจกรรมทางการเมือง เพื่อสร้างเจตนารมณ์ร่วมกันของพรรคและกำหนดเป็นนโยบายเสนอต่อประชาชนเมื่อมีการเลือกตั้ง ดังนั้น ตราบใดที่บุคคลนั้นยังเป็นสมาชิกของพรรคใด ก็ต้องปฏิบัติและยึดมั่นในอุดมการณ์ของพรรคนั้น เมื่อจะไปสังกัดพรรคอื่นจึงควรลาออกจากพรรคเดิมก่อน

นายชูศักดิ์กล่าวว่า 2.รัฐธรรมนูญและกฎหมายยึดหลักการสำคัญว่า บุคคลที่จะสมัคร ส.ส. ต้องเป็นสมาชิกพรรคตามระยะเวลาที่กำหนดไม่น้อยกว่ากี่วัน ระหว่างเป็น ส.ส.หากมีเหตุทำให้ขาดจากสมาชิกพรรค จะถือว่าพ้นจากตำแหน่งส.ส.ด้วย และห้ามไปสังกัดพรรคอื่น เว้นแต่กรณียุบสภาหรือยุบพรรค ดังนั้น การเป็นสมาชิกพรรคเดียวจึงเป็นสาระสำคัญ

“การที่มีแนวคิดจะให้สมาชิกพรรคไปสมัครเป็นสมาชิกพรรคอื่นก่อน แล้วค่อยมาลาออกจากพรรคเดิมได้นั้น อาจมีนัยสำคัญที่จะส่งสัญญาณว่าจะมีการดึงตัว ส.ส. จากพรรคใหญ่ เพื่อไปสังกัดบางพรรคที่ผู้มีอำนาจหมายมั่นปั้นมือว่าจะเป็นแกนนำตั้งรัฐบาลในการเลือกตั้งครั้งหน้า เพื่อให้ได้ นายกฯ ตามที่วางตัวไว้ การกระทำเช่นนี้จะทำลายระบบพรรค และเกิดการใช้เงินหรือตำแหน่งล่อซื้ออดีต ส.ส.กันมาก ซึ่งไม่เป็นผลดีต่อระบบการเมือง การเลือกตั้งและการบริหารงานของรัฐบาลในอนาคต” นายชูศักดิ์กล่าว

แนะกำหนดกรอบเวลารีเซ็ต

นายสามารถ แก้วมีชัย อดีตส.ส.เชียงราย พรรคเพื่อไทย ในฐานะคณะทำงานติดร่างรัฐธรรมนูญ กล่าวถึงแนวคิดการรีเซ็ตองค์กรอิสระว่า ไม่จำเป็นต้องรีเซ็ตเพราะแต่ละฝ่ายทำงานมาพอสมควร และรู้หน้าที่ของตัวเองแล้ว อาจให้อยู่ในวาระไปสักระยะ แล้วค่อยดำเนินการตามรัฐธรรมนูญฉบับใหม่ มองว่าไม่ควรให้องค์กรอิสระพ้นจากตำแหน่งหลังรัฐธรรมนูญประกาศใช้ เพราะองค์กรอิสระเข้าทำงานตามกติกาเก่า แต่หากจะเริ่มเข้ากระบวนการตามรัฐธรรมนูญใหม่ ควรระบุให้ชัดเจนว่าจะให้องค์กรอิสระอยู่ถึงช่วงใด และจะเริ่มใหม่ในช่วงไหน ทั้งนี้ ขึ้นกับกฎหมายลูกและรัฐธรรมนูญเป็นหลัก

นายสามารถกล่าวถึงแนวคิดรีเซ็ตพรรคกว่า รัฐธรรมนูญฉบับใหม่ไม่ได้ระบุให้รีเซ็ตพรรค เพียงแต่ต้องให้สมาชิกพรรคมีส่วนร่วมกำหนดนโยบายและการส่งผู้สมัครลงเลือกตั้ง การจะให้ยกเลิกสมาชิกเดิมและหา สมาชิกใหม่นั้นจะยุ่งยาก ถามว่าทำไปเพื่ออะไร หากต้องการยกเลิกการเป็นสมาชิกพรรค กกต.ควรมีเว็บไซต์ให้ประชาชนตรวจสอบว่าตัวเองสังกัดพรรคใด หากพอใจก็อยู่พรรคเดิม หากไม่พอใจก็ยื่นใบลาออกผ่านนายทะเบียนพรรคการเมือง แต่ต้องดูว่าระบบข้อมูลของ กกต.มีความพร้อมมากน้อยเพียงใด

ติดตามข่าวสด

ข่าวเด่นประจำวัน