ผู้ว่ากทม.ลั่นรับมือไหว หนักใจแต่ประคับประคองได้ ไม่อยากให้เรียกน้ำท่วม ให้เรียกน้ำมาก หลังประชุมร่วม ผู้บริหาร 6 จังหวัดปริมณฑล วางแผนรับน้ำ

เมื่อวันที่ 11 ต.ค.64 ที่ศาลาว่าการกทม. พล.ต.อ.อัศวิน ขวัญเมือง ผู้ว่ากทม. เป็นประธานการประชุมความร่วมมือในการบริหารจัดการน้ำ แบบบูรณาการระหว่าง กทม. จังหวัดปริมณฑล และหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง เพื่อเตรียมความพร้อมรับสถานการณ์น้ำเหนือไหลหลาก โดยมีผู้บริหาร กทม. ผู้บริหาร 6 จังหวัดปริมณฑล ประกอบด้วย นครปฐม ฉะเชิงเทรา ปทุมธานี สมุทรปราการ สมุทรสาคร นนทบุรี และหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง

อาทิ กรมชลประทาน กรมอุทกศาสตร์ กองทัพเรือ กรมอุตุนิยมวิทยา สำนักงานทรัพยากรน้ำแห่งชาติ กรมป้องกันและบรรเทาสาธารณภัย กรมทางหลวง กรมทางหลวงชนบท กรมเจ้าท่า กองบัญชาการตำรวจนครบาล (บช.น.) การไฟฟ้านครหลวง (กฟน.) กอ.รมน.กทม. (ฝ่ายทหาร) การรถไฟฟ้าขนส่งมวลชนแห่งประเทศไทย (รฟม.) คณะกรรมการการอาชีวศึกษา กองบังคับการตำรวจจราจร ร่วมประชุมผ่านระบบการประชุมทางไกล

ที่ประชุมตัวแทนจากกรมอุตุนิยมวิทยาให้ข้อมูลว่า ในช่วงที่จะมีน้ำมากอีกช่วงหนึ่งคือช่วงที่มีพายุคมปาซุ ที่จะเคลื่อนตัวเข้ามาในวันที่ 13-14 ต.ค. ในภาคตะวันออกเฉียงเหนือ หลังจากนั้นจะเกิดฝนตั้งแต่เวลา 1 ทุ่มของวันที่ 14 ต.ค. ในภาคกลางทั้งหมด และภาคตะวันออกเฉียงเหนือตอนล่าง ซึ่งจะได้มวลน้ำมหาศาล และจะทำให้ระดับน้ำสูงขึ้น และฝนจะตกอย่างต่อเนื่องไปจนถึงวันที่ 16 ตุลาคม จากนั้นจะเบาลงในวันที่ 17 ต.ค.

ทั้งนี้ กองอำนวยการน้ำแห่งชาติ (กอนช.) รายงานสถานการณ์น้ำเหนือและน้ำจากแม่น้ำป่าสักจะเริ่มลดลงเรื่อยๆ และคาดว่ามวลน้ำที่ผ่านบางไทรจะลดลงต่ำกว่า 2,000 ลบ.ม./วินาที ในวันที่ 20 ต.ค. ซึ่งจะทำให้กรุงเทพฯและปริมณฑลไม่ได้รับผลกระทบ แต่ให้เฝ้าระวังน้ำทะเลหนุนสูงในช่วงนี้

ที่ประชุมได้หารือเกี่ยวกับการร่วมกันบริหารจัดการน้ำในพื้นที่แต่ละจังหวัด การประสานความร่วมมือกับหน่วยงานที่เกี่ยวข้องในการบริหารจัดการน้ำ รวมถึงความพร้อมในการให้ความช่วยเหลือในกรณีที่เกิดฝนตกหนัก มีน้ำท่วมขัง ทั้งในส่วนของเจ้าหน้าที่ วัสดุ อุปกรณ์ เครื่องมือ การเรียงกระสอบทราย การเก็บผักตบชวา แผนบำรุงรักษาระบบไฟฟ้า การติดตั้งเครื่องสูบน้ำเพิ่มเติม เพื่อบรรเทาความเดือดร้อนของประชาชน รวมทั้งการฝึกซ้อมแผนปฏิบัติป้องกันและการแก้ไขปัญหาน้ำท่วมในเขตพื้นที่กรุงเทพฯ และปริมณฑล หรือแผนเผชิญเหตุ CPX ร่วมกัน อีกทั้งได้หารือและเตรียมความพร้อมแก้ไขปัญหาที่อาจส่งผลกระทบต่อระบบระบายน้ำ อาทิ โครงการระบบระบายน้ำแนวถนนวิภาวดีตั้งแต่แยกดินแดงถึงฐานทัพอากาศ และโครงการก่อสร้างรถไฟฟ้าสายสีต่างๆ

พล.ต.อ.อัศวิน แถลงว่า กทม.เตรียมความพร้อมในการเฝ้าระวัง รวมถึงการเตรียมความพร้อมในส่วนของประตูระบายน้ำ คู คลองต่างๆ โดยวันนี้ได้รเชิญผู้ว่าราชการจังหวัดทั้ง 6 จังหวัด และหน่วยงานที่เกี่ยวข้องร่วมประชุม ทั้งนี้ กทม.ได้เตรียมความพร้อมตามแผนงาน แต่สิ่งที่น่ากังวลที่สุดคือน้ำฝน เพราะหากฝนตกจะระบายน้ำออกได้ช้า เพราะท่อระบายน้ำของ กทม.มีขนาดเล็กกว่าปกติ ซึ่ง กทม.จะต้องค่อยๆ เปลี่ยนในอนาคต ส่วนประตูระบายน้ำได้มีการตรวจสอบอย่างต่อเนื่อง

“สำหรับการรับมือนั้น เราก็ต้องรับให้ไหว ใน 4 จังหวัด ที่อาจเกิดน้ำท่วมและจะกระทบกันไปหมด ได้แก่ กรุงเทพฯ นนทบุรี ปทุมธานี และสมุทรปราการ แต่ผมยังมีความมั่นใจว่า หากน้ำเข้ามาท่วมในเขตชุมชนเมือง ผมว่าคงไม่สูงเกินกว่าระดับเขื่อน เพราะใน 3 ปีที่แล้ว เราได้ขยายความสูงของเขื่อนเพิ่มเติมแล้ว โดยติดตั้งเครื่องสูบน้ำริมแม่น้ำเจ้าพระยาทั้งหมด 97 ตัว สำหรับการดึงน้ำออกและเครื่องสูบน้ำในคูคลองต่างๆ อีก 1,000 กว่าตัว ซึ่งจะมีคนคอยดูแลตลอด และมีเครื่องสูบน้ำแบบเครื่องยนต์ดีเซลไว้สำรองเวลาที่ไฟฟ้าดับ ถามว่าหนักใจหรือไม่ ก็หนักใจ แต่เชื่อว่าน่าจะประคับประคองไม่ให้น้ำท่วมกรุงเทพฯได้ ผมไม่อยากให้เรียกว่าน้ำท่วม ให้เรียกว่าน้ำมาก” พล.ต.อ.อัศวินกล่าว

ที่มา มติชนออนไลน์

ติดตามข่าวสด

ข่าวเด่นประจำวัน