บอร์ด สปสช. เพิ่ม 4 สิทธิประโยชน์ บัตรทอง คัดกรอง “ธาลัสซีเมีย-ซิฟิลิส” ในคู่ของหญิงตั้งครรภ์ ชี้ต้นทุนต่ำกว่าการรักษา มีความคุ้มค่าทางเศรษฐศาสตร์

วันที่ 6 พ.ย.2564 รศ.พญ.ประสบศรี อึ้งถาวร ประธานคณะอนุกรรมการกำหนดประเภทและขอบเขตในการให้บริการสาธารณสุข กล่าวว่า ที่ประชุมคณะกรรมการหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ (บอร์ด สปสช.) เมื่อวันที่ 1 พ.ย.ที่ผ่านมา มีมติเห็นชอบการบริการสร้างเสริมสุขภาพและป้องกันโรค จำนวน 4 รายการ ได้แก่

  • 1.การคัดกรองธาลัสซีเมียในคู่ของหญิงตั้งครรภ์
  • 2.การคัดกรองซิฟิลิสในคู่ของหญิงตั้งครรภ์
  • 3.การตรวจวัดความดันโลหิตด้วยตนเองที่บ้าน
  • 4.บริการสายด่วนเลิกบุหรี่ ซึ่งการจ่ายชดเชยบริการจะใช้งบประมาณ จำนวน 32,149,500 บาท

รศ.พญ.ประสบศรี กล่าวต่อว่า โดยเริ่มดำเนินการตั้งแต่วันที่ 1 ม.ค.2565 ยกเว้นบริการสายด่วนเลิกบุหรี่ ให้เริ่มภายหลังจากที่ศูนย์บริการเลิกบุหรี่ทางโทรศัพท์แห่งชาติ ได้ขึ้นทะเบียนเป็นหน่วยบริการในระบบบัตรทองแล้ว โดยมอบให้สำนักงานหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ (สปสช.) ออกหลักเกณฑ์ วิธีการ และเงื่อนไข สำหรับสิทธิประโยชน์ใหม่ต่อไป

“สิทธิประโยชน์ 4 รายการนี้ ได้ผ่านเกณฑ์การพิจารณาความคุ้มค่าและความเป็นไปได้ในทางปฏิบัติ พร้อมกันนี้ได้มีการมอบ สปสช. พิจารณาประเด็นภาระงบประมาณกรณีต้องตรวจยืนยันภายหลังการตรวจคัดกรอง รวมถึงการรักษาต่อเนื่อง และการยืนยันตัวตนกรณีสามี/คู่ของหญิงตั้งครรภ์ ที่ต้องเข้ารับตรวจคัดกรองธาลัสซีเมียและตรวจคัดกรองซิฟิลิส” รศ.พญ.ประสบศรี กล่าว

รศ.พญ.ประสบศรี กล่าวอีกว่า ทั้งนี้ บริการตรวจคัดกรองธาลัสซีเมียในคู่ของหญิงตั้งครรภ์ พบว่าต้นทุนการตรวจคัดกรองโรคธาลัสซีเมียเท่ากับ 794 บาทต่อคู่ ขณะที่การดูแลผู้ป่วยธาลัสซีเมียอาการรุนแรง จะมีต้นทุนการรักษาคนละ 30,000 บาทต่อปี แม้จะยังไม่พบการศึกษาความคุ้มค่าทางเศรษฐศาสตร์ในไทย แต่จากการศึกษาของฮ่องกงพบว่าค่าตรวจคัดกรองและติดตามจะอยู่ที่ 10 ล้านดอลลาร์ฮ่องกง (HKD) เมื่อเทียบกับค่าใช้จ่ายในการดูแลผู้ป่วยตลอดอายุขัยจะอยู่ที่ 40 ล้านดอลลาร์ฮ่องกง

การคัดกรองซิฟิลิสในคู่ของหญิงตั้งครรภ์ พบว่าการตรวจคัดกรองและรับการรักษาก่อนมีบุตร มีต้นทุนต่ำกว่าการตรวจและรักษาเมื่อตั้งครรภ์แล้ว โดยค่าใช้จ่ายในการคัดกรองอยู่ที่ 130-400 บาทต่อครัวเรือน และค่ารักษา 1,500 บาท ในขณะที่การรักษาซิฟิลิสแต่กำเนิด 1 คน จะมีต้นทุนค่าใช้จ่ายผู้ป่วยนอก และค่าใช้จ่ายในการเลี้ยงดูเท่ากับ 70,667 บาทต่อครัวเรือน ดังนั้นจึงควรขยายสิทธิเพื่อควบคุมป้องกันโรค ลดค่าใช้จ่ายการติดตามรักษา และลดผลกระทบในอนาคต

รศ.พญ.ประสบศรี กล่าวต่อว่า การตรวจวัดความดันโลหิตด้วยตนเองที่บ้าน (Home Blood Pressure Monitoring: HBPM) เป็นรายการที่ไม่มีภาระงบประมาณ เนื่องจากผู้ป่วยไปโรงพยาบาลอาจจะตื่นเต้น ทำให้เวลาวัดความดันโลหิตอาจมีค่าความดันสูงได้ หรือที่เรียกว่า White coat hypertension จึงต้องให้เครื่องวัดความดันผู้ป่วยกลับไปวัดเองที่บ้านเป็นเวลาประมาณ 1 สัปดาห์ เพื่อประเมินค่าความดันโลหิตที่แท้จริง

ซึ่งจะเป็นการดูแลผู้ป่วยไม่ให้รับประทานยาเกินความจำเป็น และช่วยให้ประหยัดค่าใช้จ่ายด้านยาได้ โดย รพ. สามารถนำไปเป็นงบประมาณจัดซื้อเครื่องวัดความดันให้ผู้ป่วยยืมกลับไปวัดความดันที่บ้านได้ ขณะเดียวกันยังสร้างความตระหนักรู้และการดูแลตนเองให้กับผู้ป่วยที่นำไปสู่การป้องกันการเกิดโรคเรื้อรังอื่นๆ โดยสิทธิประโยชน์นี้สามารถดำเนินการได้ในปีงบประมาณ 2565 พร้อมกันทั่วประเทศ

ส่วนบริการสายด่วนเลิกบุหรี่ (โทร 1600) พบว่าจะสามารถประหยัดต้นทุนทางสังคมได้ตั้งแต่ 525-10,333 บาทต่อผู้สูบ 1 ราย และสามารถเพิ่มปีสุขภาวะต่อผู้สูบบุหรี่ได้ ซึ่งการสูบบุหรี่เป็นปัจจัยเสี่ยงอันดับที่ 1 ที่ส่งผลต่อการเสียชีวิตก่อนวัยอันควร และมีต้นทุนความสูญเสียจากความเจ็บป่วยและเสียชีวิตก่อนวัยอันควรต่อนักสูบหน้าใหม่ ถึงประมาณ 85,000 – 158,000 บาทต่อคน

ด้าน นางดวงตา ตันโช ประธานคณะอนุกรรมการกำหนดหลักเกณฑ์การดําเนินงานและการบริหารจัดการกองทุน กล่าวว่า สิทธิประโยชน์บริการสร้างเสริมสุขภาพและป้องกันโรคที่เพิ่มเติมทั้ง 4 รายการนี้ มีการกำหนดเป้าหมายบริการในปีงบประมาณ 2565 ในช่วง 9 เดือนจากนี้ ได้แก่ 1.บริการตรวจคัดกรองธาลัสซีเมีย เป้าหมาย 142,000 ราย งบประมาณ 17,041,500 บาท

2.การคัดกรองซิฟิลิส เป้าหมาย 148,400 ราย งบประมาณ 7,740,000 บาท 3.การตรวจวัดความดันโลหิตด้วยตนเองที่บ้าน เป้าหมาย 495,300 ราย ไม่มีภาระงบประมาณและประหยัดค่ายาในระบบ 4.สายด่วนเลิกบุหรี่ เป้าหมาย 245,600 ครั้ง งบประมาณ 7,368,000 บาท รวมงบประมาณดำเนินการใน 4 รายการ เป็นจำนวน 32,149,500 บาท

ติดตามข่าวสด

ข่าวเด่นประจำวัน