ปิยบุตร แสงกนกกุล เลขาธิการคณะก้าวหน้า โพสต์ ร่วมชมนิทรรศการมติชน รับรู้อาการ ‘วนลูป’ สังคมไทย ในงาน ‘มติชน บุ๊กมาร์ก’

หลังจากสำนักพิมพ์มติชนจัดงาน Matichon Bookmark 2021 ที่มติชน อคาเดมี โดยมีเพื่อนสำนักพิมพ์ชั้นนำร่วมกันนำหนังสือราคาพิเศษลด 20-90 % มาออกบูธจำหน่ายจนถึงวันที่ 11 พฤศจิกายน เวลา 10.00-19.00 น. นอกจากนี้ ศูนย์ข้อมูลมติชน ยังร่วมจัด นิทรรศการ ข่าววันนั้น ประวัติศาสตร์วันนี้ The Exhibition by MIC นิทรรศการหนังสือพิมพ์เก่าหาดูยาก ซึ่งเป็นอีกส่วนหนึ่งที่ได้รับความสนใจจากผู้เข้ารวมงานจำนวนมาก หนึ่งในนั้นคือ นายปิยบุตร แสงกนกกุล เลขาธิการคณะก้าวหน้า ที่เข้าร่วมชมนิทรรศการดังกล่าว

ล่าสุดเมื่อวันที่ 10 พฤศจิกายน นายปิยบุตร ได้โพสต์ความรู้สึกหลังเข้ารับชมนิทรรศการผ่านเฟซบุ๊ก Piyabutr Saengkanokkul – ปิยบุตร แสงกนกกุล เอาไว้ด้วยโดยเนื้อหาระบุว่า

[ มาชมนิทรรศการเครือมติชน – มารับรู้อาการ “วนลูป” ของสังคมไทย ! ]

เหลือเชื่อ! การเมืองไทยในยุคสมัยทศวรรษ 2520 มีเนื้อหาแทบจะไม่แต่ต่างจากในปัจจุบัน

นักหนังสือพิมพ์ คอลัมนิสต์ นักคิดนักเขียนต่างๆ ในยุคนั้น เขียนเรื่องประชาธิปไตยเรียกร้องประชาธิปไตยเต็มใบ เขียนเรื่องแก้รัฐธรรมนูญเพื่อให้อำนาจเป็นของประชาชนอย่างแท้จริง เขียนเรื่องการต่อต้านเผด็จการรัฐประหาร ฯลฯ วันนี้ ก็ยังต้องเขียนต้องถกเถียงเรื่องเดิมๆ เหล่านี้อยู่

ประเทศเหมือน “วนลูป” เดินถอยหลัง ไม่ก้าวหน้าไปไหนเลย !

นั่นคือความรู้สึกของผมหลังจากที่มีโอกาสได้ไปชมนิทรรศการของ “ศูนย์ข้อมูลมติชน” ในงาน Matichon BookMark ซึ่งบอกเล่าต้นกำเนิดของหนังสือพิมพ์และนิตยสารในเครือมติชน ไม่ว่าจะเป็น หนังสือพิมพ์ประชาชาติ หนังสือพิมพ์มติชน หนังสือพิมพ์ข่าวสด นิตยสารมติชนสุดสัปดาห์ และนิตยสารศิลปวัฒนธรรม

นอกจากที่ไปที่มาของหนังสือในเครือมติชนแล้ว ยังมีข่าวเก่า ภาพเก่า ที่ดูอย่างไรก็ไม่ต่างจากสภาพบ้านเมืองในวันนี้ นี่แหละคือสิ่งที่ผมบอกว่า “เหลือเชื่อ”

เรายังอยู่กับรัฐบาลที่ไม่เป็นประชาธิปไตย เรายังอยู่กับการแก้รัฐธรรมนูญให้เป็นประชาธิปไตยที่ประชาชนมีอำนาจสูงสุดอย่างแท้จริง เรายังอยู่กับการชุมนุมประท้วงของนักเรียน นักศึกษาและประชาชน ที่เรียกรวมๆ ว่า “เยาวรุ่นโบว์ขาว”

ลองดูกำเนิดหนังสือพิมพ์ในเครือมติชนครั้งแรก โดย คุณขรรค์ชัย บุนปาน อยากทำหนังสือพิมพ์ แต่สมัยนั้นเปิดหัวใหม่ไม่ได้ ก็ไปขอหัวหนังสือประชาชาติ ของ พระเจ้าวรวงศ์เธอ กรมหมื่นนราธิปพงศ์ประพันธ์ หรือ “พระองค์วรรณ” อีกหนึ่งบุคคลสำคัญในยุคคณะราษฎร

วางแผงฉบับแรกคือ 5 พฤศจิกายน 2516 ในชื่อหัวว่า “ประชาชาติรายสัปดาห์” จากนั้นต่อมาอีก 9 เดือน คือราว กรกฎาคม 2517 ก็ปรับเป็น “ประชาชาติรายวัน” ซึ่งทีมงานในยุคนั้น ก็ล้วนแต่นักเขียน นักหนังสือพิมพ์รุ่นใหญ่ในวันนี้ ไม่ว่าจะเป็นคุณขรรค์ชัย คุณสุจิตต์ วงษ์เทศ คุณสุทธิชัย หยุ่น เป็นต้น

มีบทสัมภาษณ์ดีๆ หลายชิ้น ที่ผมคิดว่าน่าจะนำกลับมาเผยแพร่ให้ประชาชนได้อ่านกันอีกครั้งในวันนี้ ไม่ว่าจะเป็นบทสัมภาษณ์ อ.ปรีดี พนมยงค์ ที่คุณขรรค์ชัยไปสัมภาษณ์ถึงที่ฝรั่งเศส, บทสัมภาษณ์ อ.ป๋วย อึ๊งภากรณ์ รวมถึง บทสัมภาษณ์ “เยาวรุ่นโบว์ขาว” ในยุคนั้นอย่าง อ.ธงชัย วินิจจะกูล ซึ่งเป็นนักเรียนโรงเรียนสวนกุหลาบวิทยาลัย

หนังสือพิมพ์ประชาชาติรายวัน นำเสนอข่าวเพื่อประชาชน มีบทสัมภาษณ์ดีๆ มีข่าวแรงงานกรรมกรต่างๆ และที่เป็นไฮไลต์น่าสนใจมาก นั่นก็คือสกู๊ปครบรอบ 1 ปี “เหตุการณ์14 ตุลาคม 2516” ที่เช้าวันนั้นคือวันที่ 14 ตุลาคม 2517 บนแผงหนังสือพิมพ์ ผู้คนจะได้เห็นหนังสือพิมพ์หัวเดียวกันคือ “ประชาชาติ” 2 เล่ม โดยเล่มหนึ่งเป็นข่าวทั่วไป อีกเล่มหนึ่งนั้นอุทิศให้กับเรื่องราวการต่อสู้ของ “วีรชน 14 ตุลา” ในทุกมิติ

รวมถึงเรื่องที่เราไม่ค่อยรู้อย่างงานศพของผู้เสียชีวิตจากเหตุการณ์ดังกล่าว ที่มีการจัดงาน ตั้งเมรุกลางท้องสนามหลวง ซึ่งเป็นครั้งที่ 2 ที่สามัญชนได้จัดงานศพที่นี่ โดยครั้งแรกนั้นก็คืองานศพของ วีรชนผู้เสียชีวิตจากเหตุการณ์ปราบกบฏบวรเดช

หนังสือพิมพ์ประชาชาติรายสัปดาห์ดำเนินเรื่อยมาจนกระทั่งเกิดเหตุการณ์ 6 ตุลาคม 2519

ฉบับสุดท้ายที่ตีพิมพ์คือ 7 ตุลาคม 2519 ซึ่งมีรายงานเหตุการณ์ดังกล่าวเยอะมาก ก่อนที่สุดท้าย จะถูกคณะทหารที่ทำการรัฐประหารยึดอำนาจ ขนรถถัง ปืนกลเข้ามาจ่อ และปิดหนังสือพิมพ์ ยึดแท่นพิมพ์

มีเรื่องเล่าด้วยว่า ก่อนหน้าที่ทหารจะเข้ามา ทางทีมงานให้ทำลายหนังสือ 2 ปก ที่โรงพิมพ์จัดทำขึ้นในตอนนั้น ด้วยเกรงว่าทหารจะตีความว่า “เป็นภัยต่อความมั่นคง” นั่นก็คือหนังสือ “ยูโทเปีย” ของ ทอมัส มอร์ สำนวนแปลโดย สมบัติ จันทรวงศ์ และอีกเล่มคือหนังสือรวมบทกวีชื่อ “เพียงความเคลื่อนไหว” ของ เนาวรัตน์ พงษ์ไพบูลย์ ซึ่งเป็นสมาชิกวุฒิสภา (ส.ว.) ในวันนี้

บ้านเมืองกลับสู่ยุคมืด แต่กระนั่นทีมงานก็ไม่ย่อท้อที่จะทำหน้าที่ “สื่อมวลชน” ในที่สุด 1 กุมภาพันธ์ 2520 พวกเขาก็ได้หัวหนังสือพิมพ์ “เข็มทิศธุรกิจ” และกลับมาเริ่มดำเนินการอีกครั้ง

มาจนกระท้่ง 9 มกราคม 2521 หนังสือพิมพ์มติชนฉบับแรกก็ถือกำเนิด มีคำโปรยบนหน้า 1 ว่า “ทีมงานประชาชาติ กลับมาอาสาประชาชน” และวันดังกล่าวก็นับเป็นวันเกิดของหนังสือพิมพ์มติชนที่ทุกวันนี้บรรดานักการเมือง นักธุรกิจ ผู้คนมากมายต่างเดินทางมาร่วมอวยพรวันเกิดอย่างอุ่นหนาฝาคั่ง

กับงานชิ้นสำคัญในเล่มแรกนั่นก็คือ บทสัมภาษณ์ พล.อ.เกรียงศักดิ์ ชมะนันทน์ นายกรัฐมนตรี นี่ย่อมสะท้อนความเป็น “เสาหลัก” ของคนทำหนังสือพิมพ์มติชนอย่างเลี่ยงไม่ได้

นี่ก็เรื่องที่อยากชี้ให้เห็นถึงความ “วนลูป” โดยพาดหัวหนังสือพิมพ์มติชนฉบับแรกนั้นมีอยู่ว่า “เผยวิธีสู้เศรษฐกิจ นายกฯ ให้ปรับปรุงภาษี ยันไม่ถอนห่านคนจน” ซึ่งก็ไม่ต่างอะไรจากวันนี้ ที่รัฐบาล พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา ไม่รู้ว่าจะไปจัดเก็บหารายได้เข้าคลังจากช่องทางไหนแล้ว เดือนร้อนทั่วหย่อมย่าน

จากนั้น เครือมติชนก็ให้กำเนิดนิตยสารมติชนสุดสัปดาห์ ในปี 2523 รวมคอลัมน์นิสต์ นักคิดนักเขียน นักวิชาการ หัวก้าวหน้าไว้ครบครัน

มีเกร็ดหนึ่งซึ่งน่าเล่าให้ฟังคือ นวนิยายเรื่อง “คนดีศรีอยุธยา” ผลงานของ เสนีย์ เสาวพงศ์ (ผู้เขียน ปีศาจ, ความรักของวัลยา) ซึ่งเป็นนวนิยายอิงประวัติศาสตร์ที่ให้ภาพสามัญชนเป็นตัวเอกครั้งแรก ก็พิมพ์ตอนแรกในมติชนสุดสัปดาห์ฉบับปฐมฤกษ์นี้ และผู้บริหารในเครือมติชนคนหนึ่ง คือ คุณเสถียร จันทิมาธร ซึ่งตอนนั้นยังคงอยู่ในป่า ก็ได้อ่าน และติดนิยายเรื่องดังกล่าว ต้องตามอ่านทุกฉบับ (ฮา)

นิตยสารอีกเล่มในเครือมติชนซึ่งน่าสนใจมาก นั่นก็คือ “ศิลปวัฒนธรรม”

เล่มนี้ คุณสุจิตต์ วงษ์เทศ เป็นผู้ก่อตั้งขึ้นในเดือนพฤศจิกายน 2522 ฉบับปฐมฤกษ์นั้น รับการบูรณปฏิสังขรณ์อุทยานประวัติศาสตร์สุโขทัย รับเทศกาลลอยกระทงที่ยิ่งใหญ่ของสุโขทัย ด้วยโปรยบนปกว่า “ชำแหละประวัติศาสตร์สุโขทัย” และเป็นปฐมบทของการตีความใหม่ ขององค์ความรู้ใหม่ที่ว่า “สุโขทัยไม่ใช่ราชธานีแห่งแรกของไทย” ที่สุจิตต์ยืนยันมาโดยตลอด

ซึ่งวันนี้ก็เป็นที่ชัดเจนของคนทั้งสังคมแล้วว่า ก่อนมีสุโขทัย ดินแดนที่เรียกว่า “สยาม” แห่งนี้มีละโว้ อู่ทอง นครไชยศรี ศรีวิชัย เสมา และอีกเยอะแยะเต็มไปหมด!

คุณอภิสิทธิ์ ธีระจารุวรรณ ผู้อำนวยการศูนย์ข้อมูล ซึ่งอดีตเคยเป็นกองบรรณาธิการศิลปวัฒนธรรม และทำหน้าที่นำชมนิทรรศการเล่าให้ผมฟังด้วยว่า นิตยสารศิลปวัฒนธรรมฉบับปฐมฤกษ์ขายดีมาก ตีพิมพ์ซ้ำแล้วซ้ำอีกจน “เพลทถลอก”

อีกเล่มในเครือมติชนก็คือหนังสือพิมพ์ข่าวสด ซึ่งกำเนิดขึ้นในปี 2534 เป็นหนังสือพิมพ์หัวสี ที่ออกมาแข่งกับเดลินิวส์, ไทยรัฐ มีฉบับอย่างเป็นทางการ คือ 9 เมษายน 2534 ซึ่งนับเป็นวันเกิดของหนังสือพิมพ์ข่าวสด โดยเล่มนี้ข่าวอาชญากรรม ข่าวภูมิภาค ข่าวกีฬา จะค่อนข้างโดดเด่นมากเล่ามาทั้งหมดก็เพื่อที่จะบอกว่า อยากเชิญชวนไปเลือกซื้อหนังสือในงาน “Matichon BookMark” และชวนชมนิทรรศการดังกล่าว

มารับรู้เรื่องราวของ “เครือมติชน” ที่มีเส้นทางสัมพันธ์กับประวัติศาสตร์การเมืองไทยร่วมสมัยอย่างแยกไม่ออก และปฏิเสธไม่ได้ว่านี่คือสื่อมวลชนที่เป็น “เสาหลัก” มีบทบาทต่อสังคมไทยเสมอมา ซึ่งนอกจากนักข่าว นักหนังสือพิมพ์แล้ว เครือมติชนยังมีนักวิชาการ ปัญญาชน นักคิด นักเขียน ที่ล้วนแล้วแต่ชั้นแนวหน้านำเสนอผลงานเรื่อยมา และบุคคลต่างๆ เหล่านี้ หากเอ่ยชื่อตรงนี้ก็คงจะไม่เพียงพอ และเกรงจะขาดตกบางบุคคลสำคัญไป

ขอบคุณ คุณปานบัว บุนปาน กรรมการผู้จัดการ บมจ.มติชน, คุณวรศักดิ์ ประยูรศุข บรรณาธิการหนังสือพิมพ์มติชน และผู้บริหารในเครือมติชนทุกคนที่ให้การต้อนรับ และมอบความรู้ เรื่องราวดีๆ ให้

ผมอยากเชิญชวนมาเดินงาน “Matichon BookMark” เลือกซื้อหนังสือ มาชมนิทรรศการนี้ด้วยตัวเองครับ

งานจัดถึงวันที่ 11 ตุลาคมนี้ (10.00 – 19.00 น.) ที่มติชนอคาเดมี แผนที่ตามโลเคชั่นนี้เลย https://goo.gl/maps/ED56EsDPAjDSX6Eb8

#MatichonBookMark #มติชน #ข่าวสด #ประชาชาติธุรกิจ #มติชนสุดสัปดาห์ #ศิลปวัฒนธรรม

 

ติดตามข่าวสด

ข่าวเด่นประจำวัน