ศปก.ศบค. เผย สาเหตุกลุ่มคนไม่ไปฉีดวัคซีน กลัวอ่อนแรง อัมพฤกษ์ อัมพาต แย้ม 13 ธ.ค.นี้ ศบค.ชุดใหญ่ ถก ผ่อนคลายอีก หลังสถานการณ์ระบาดดีขึ้น

วันที่ 8 ธ.ค.2564 ที่ศบค.ทำเนียบรัฐบาล พญ.สุมนี วัชรสินธุ์ ผู้อำนวยการสำนักสื่อสารความเสี่ยงและพัฒนาพฤติกรรมสุขภาพ กรมควบคุมโรค ในฐานะผู้ช่วยโฆษกศูนย์บริหารสถานการณ์การแพร่ระบาดของโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 (โควิด-19) หรือ ศบค. แถลงสถานการณ์ในประเทศไทย ว่า การฉีดวัคซีนเพิ่มขึ้นวันนี้ 263,684 โดส ทำให้ยอดสะสมรวม 95.8 ล้านกว่าโดส ในสัดส่วนเข็มที่หนึ่ง 68.6% เข็มที่สอง 59.2% เข็มที่สาม 5.3%

สำหรับจังหวัดที่มีความครอบคลุมในการได้รับวัคซีนเข็มที่หนึ่งต่ำที่สุด 10 จังหวัด ได้แก่ หนองบัวลำภู สุรินทร์ บึงกาฬ นครพนม สกลนคร กาฬสินธุ์ ร้อยเอ็ด พิษณุโลก ศรีสะเกษ ผลเฉลี่ยเข็มหนึ่งรวม 50% และเก็บหนึ่งในกลุ่มเสี่ยง 608 ที่ต่ำสุดใน 10 จังหวัด ได้แก่ ราชบุรี นครนายก ปัตตานี กาญจนบุรี สุพรรณบุรี สระบุรี แม่ฮ่องสอน นราธิวาส

อย่างไรก็ตาม จะเห็นได้ว่า จ.สมุทรสงคราม มีความครอบคลุมการฉีดเข็มที่หนึ่งต่ำ ทั้งในกลุ่มประชากรทั่วไปและกลุ่มเสี่ยง 608 คือ 50.9% และ 59% จึงต้องขอเชิญชวนประชาชนทั้งกลุ่มประชากรทั่วไปและกลุ่มเสี่ยง 608 ออกมารับวัคซีนกันให้มากขึ้น เพราะขณะนี้วัคซีนมีปริมาณเพียงพอ มีหลากหลายยี่ห้อให้เลือกใช้ สามารถไปติดต่อที่จุดฉีดวัคซีนได้ทุกที่ที่เป็นหน่วยบริการสถานพยาบาล

จากผลการฉีดวัคซีนที่ผ่านมาพบว่าจำนวนผู้ที่ได้รับการฉีดวัคซีนเริ่มชะลอตัวและลดจำนวนลง ทางกระทรวงสาธารณสุขโดยกรมควบคุมโรคและกรมสุขภาพจิต จึงได้สำรวจสาเหตุและปัจจัยในการผู้ที่ไม่มารับบริการฉีดวัคซีน จาก 5 จังหวัดคือ กรุงเทพมหานคร และจังหวัดหัวเมืองภาคต่าง ๆ ได้แก่ ขอนแก่น ชลบุรี เชียงใหม่ สงขลา ในช่วงวันที่ 20-21 พ.ย.ที่ผ่านมา พบว่า 80.9% ของประชาชนที่ไปสอบถามได้ฉีดครบสองเข็มแล้ว 20.6% ได้ฉีดเข็มกระตุ้นเข็มที่สามแล้ว 8.5% ยังไม่ได้ฉีด

จึงได้มีการสอบถามเพิ่มเติมพบว่าสาเหตุที่ตัดสินใจไม่ไปฉีดเนื่องจาก 7.2% ของผู้ที่ตอบแบบสำรวจอยู่ในพื้นที่ที่อาศัยได้รับวัคซีนที่ต้องการมีน้อย 15.5% จองคิวยาก 20% ไม่มีวัคซีนที่ต้องการ 22.8% กลัวผลข้างเคียงจากการฉีดวัคซีน และอีก 32.8% หรือ 1 ใน 3 ของผู้ที่ไม่ไปฉีด วัคซีนไม่ได้มีอุปสรรคใดๆ แต่คิดว่าตนเองไม่ได้มีความเสี่ยงในการติดเชื้อ

นอกจากนี้ มีการลงไปสำรวจอีก 10 จังหวัดที่ฉีดวัคซีนได้น้อย ได้แก่ แม่ฮ่องสอน สมุทรสงคราม ร้อยเอ็ด กาฬสินธุ์ นครพนม สกลนคร บึงกาฬ สุรินทร์ หนองบัวลำภู ยโสธร ซึ่งเมื่อสอบถามผู้ที่ไม่ได้ไปฉีดวัคซีนแล้วส่วนใหญ่กว่า 80% เป็นผู้สูงอายุ และกว่าครึ่งเป็นผู้ที่มีโรคประจำตัว ซึ่งได้ตอบแบบสำรวจมาพบว่าสาเหตุที่ไม่ได้ไปฉีดวัคซีน 5 อันดับแรกคือ กลัวมีอาการอ่อนแรงและทำงานไม่ได้ 75.38% , กลัวเป็นอัมพฤกษ์อัมพาต 74.62% , กลัวว่าจะเกิดมีอาการข้างเคียง เช่น เป็นไข้ ปวดหัว ปวดตัว 72.31% , และ 64.62% ไม่แน่ใจถึงประสิทธิภาพของการฉีดวัคซีน , 50.08% คิดว่าตัวเองไม่มีความเสี่ยงในการติดเชื้อ ซึ่งนั่นคือครึ่งหนึ่งเลย จึงไม่ได้ไปรับวัคซีน

และเมื่อสอบถามต่อว่าแล้วจะไปฉีดวัคซีนหรือไม่ 42.3% ตอบว่าขอคิดดูก่อนและรอดูข้อมูล อีก 1 ใน3 หรือ 30.77% ไม่ไปฉีดแน่นอน และ 26.93% จะไปฉีดเมื่อมีโอกาส มีการแนะนำว่าทำอย่างไรจึงจะยอมรับการฉีดวัคซีน ก็ขอให้มีการอธิบายถึงผลดีผลเสียให้มากขึ้นกว่านี้ 33.08% อีก 23.85% ขอให้มีการเยียวยาถ้าเกิดอาการข้างเคียง อีก 23.07% ตอบว่าถ้ามีวัคซีนให้เลือก และบอกวันเวลาตามวัคซีนที่เลือกก็จะไปฉีด อีก 20% ก็ไม่มีความเห็น

ซึ่งผลการสำรวจดังกล่าวสอดคล้องกับทางกรมสุขภาพจิต ที่ได้ออกแบบในการเก็บข้อมูลเรื่องการไม่ไปฉีดวัคซีนมาจากสามปัจจัยหลัก (3ช.) คือ ความเชื่อมั่นในวัคซีน พบว่า 53.81% ไม่มีความเชื่อมั่นเรื่องวัคซีน ได้แก่ ความปลอดภัย ผลข้างเคียง และสูตรไขว้วัคซีน, ความชะล่าใจ พบว่าผู้ตอบแบบสำรวจมีความชะล่าใจต่อสถานการณ์ถึง 80.89% ทั้งที่กลุ่มนี้อาศัยอยู่ในจังหวัดที่มีการระบาดถึง 51% และมีคนรู้จักที่ติดเชื้อ โควิด-19 ถึง 26.59%, ช่องทางในการเข้ารับวัคซีน ซึ่งผู้ตอบแบบสอบถาม ส่วนใหญ่เกินครึ่ง ตอบว่าเดินทางไปฉีดวัคซีน ได้รับการนัดหมายที่สะดวก

ดังนั้น จากผลการสำรวจทั้งของกรมควบคุมโรคและกรมสุขภาพจิตเป็นไปในทิศทางเดียวกัน คือผู้ที่ตอบแบบสำรวจและไม่มาฉีดวัคซีนส่วนใหญ่ยังเป็นผู้ที่คิดว่าตนเองไม่มีความเสี่ยง โดยพบว่าผู้ที่ตอบแบบสอบถามนี้เป็นกลุ่มผู้สูงอายุและเป็นผู้ที่มีโรคประจำตัว ดังนั้นถ้าจะมีการติดเชื้อก็ยังคงเป็นกลุ่มผู้เสี่ยงสูง ในการที่จะมีอาการป่วยหนัก มีความเสี่ยงที่จะเสียชีวิตอย่างมาก

จึงต้องขอฝากนักวิชาการ สื่อมวลชน และบุตรหลานของผู้สูงอายุ และผู้ที่มีโรคประจำตัว ในกลุ่มนี้ให้เข้าใจเรื่องการได้รับวัคซีนที่ถูกต้องและเห็นถึงประโยชน์ของการเข้ารับการฉีดวัคซีนให้เพิ่มขึ้น ถ้าเป็นไปได้ขอให้พาผู้สูงอายุมารับบริการฉีดวัคซีน ในจุดที่ให้บริการทั่วประเทศ

อย่างไรก็ตาม ในวันที่ 13 ธ.ค.นี้ จะมีการประชุม ศบค.ชุดใหญ่ ซึ่งที่ประชุมจะมีการพิจารณาผ่อนคลายต่าง ๆ เนื่องจากสถานการณ์ระบาดโควิด-19 ดีขึ้น และมีการพิจารณาจากความครอบคลุมในการได้รับวัคซีนของจังหวัดต่าง ๆ ด้วย

ติดตามข่าวสด

ข่าวเด่นประจำวัน