ศาลอนุญาตให้ ลูกน้ำ อดีตพิธีกรดัง ประกันตัวตีราคา 50,000 บาท คดีฉ้อโกงและพ.ร.บ.คอมพิวเตอร์ หลังจากหลอกลวงเหยื่อลงทุน เสียหายกว่า 100 ล้านบาท

วันที่ 28 ธ.ค.2564 ที่ศาลอาญาธนบุรี ถ.เอกชัย พนักงานสอบสวน สน.ราษฎร์บูรณะ ยื่นคำร้องฝากขัง น.ส.อิสราลักษณ์ (ขอสงวนนามสกุล) หรือ ลูกน้ำ อายุ 29 ปี อดีตพิธีกรรายการโทรทัศน์ชื่อดัง ผู้ต้องหาคดีฉ้อโกงประชาชนและโดยทุจริต หรือโดยหลอกลวง, นำเข้าสู่ระบบคอมพิวเตอร์ซึ่งข้อมูลคอมพิวเตอร์ที่บิดเบือนหรือปลอมไม่ว่าทั้งหมดหรือบางส่วน หรือข้อมูลคอมพิวเตอร์อันเป็นเท็จ โดยประการที่น่าจะเกิดความเสียหายแก่ประชาชน ครั้งแรกเป็นเวลา 12 วัน เนื่องจากการสอบสวนยังไม่เสร็จสิ้น ต้องสอบปากคำพยานอีก 6 ปาก โดยขอคัดค้านการประกันตัวเนื่องจากคดีนี้มีอัตราโทษสูง หากปล่อยตัวไปเกรงผู้ต้องหาจะหลบหนีและไปยุ่งเหยิงกับพยานหลักฐาน

ตามคำร้องฝากขังระบุพฤติการณ์สรุปว่า ผู้เสียหายรู้จัก น.ส. อิสราลักษณ์ ผู้ต้องหา ผ่านทางไอจีและเฟสบุ๊คเป็นเวลาประมาณ 10 ปี ตลอดระยะเวลาที่ผ่านมาเห็น น.ส.อิสราลักษณ์ ทำธุรกิจขายของออนไลน์มาตลอด ไม่ว่าจะเป็นไดร์ม้วนผม เครื่องม้วนผม เครื่องสำอาง แบรนด์ซึ่งเป็นที่รู้จักในท้องตลาด ซึ่งผู้กล่าวหาเองก็เคยได้ทำการซื้อสินค้าเหล่านี้มา อ่านข่าว : รวบ อดีตพิธีกรสาว คดีฉ้อโกงออนไลน์ ตุ๋นเหยื่อลงทุน สูญกว่า100ล้าน

ต่อมา น.ส.อิสราลักษณ์ ได้ทำการเปิดลงทุนเงินจากบุคคลทั่ว ๆ ไปมายังธุรกิจ ที่ได้อ้างว่ามีหลากหลายธุรกิจ ผ่านทางไอจีสตอรี่ โดยใช้แรงจูงใจให้ดอกเบี้ยเปอร์เซ็นต์ที่สูง ผู้กล่าวหาเคยได้ทำการซื้อสินค้า และได้ทำการติดตาม น.ส.อิสราลักษณ์ มานาน จึงไว้เนื้อเชื่อใจและร่วมลงทุน ดังนี้

เมื่อวันที่ 2 ก.พ.2564 โดยนำเงินสดเข้าบัญชีธนาคารกรุงศรีอยุธยา จำนวน 60,000 บาท และในการลงทุนนั้นผู้กล่าวหาได้เลือกเงื่อนไขที่ 7 จากนั้น น.ส.อิสราลักษณ์ ก็ได้ทำการส่งสัญญาฉบับแรกมาให้ผู้กล่าวหาตรวจทาน ดังจะเห็นได้ว่า น.ส.อิสราลักษณ์ ได้มีการพิมพ์ตอบกลับผู้กล่าวหา ผู้กล่าวหาเลยคิดว่าบุคคลนี้ไม่น่าหลอกหลวง เนื่องจากเหตุการณ์ที่ผ่านมาสามารถติดต่อกันได้ทางไลน์ตลอดไม่ว่าช้า-เร็ว ต่อมาเมื่อวันที่ 8 ก.พ.2564 ผู้กล่าวหาได้ลงทุนเพิ่มโดยโอนเข้าบัญชี น.ส.อิสราลักษณ์ อีก 60,000 บาท

จากนั้น น.ส.อิสราลักษณ์ ได้ทำการชักชวนผู้กล่าวหา ว่าทำไมไม่ลงทุนที่ 150,000 บาท โดยเอาเปอร์เซ็นต์ดอกเบี้ยหรือเงินปันผลมาเป็นแรงจูงใจและอ้างว่าหวังดี แต่ผู้กล่าวหาได้ปฏิเสธไป โดยทุกครั้งที่ผู้กล่าวหา ตกลงร่วมลงทุนนั้น ทาง น.ส.อิสราลักษณ์ จะส่งสัญญามาให้ผู้กล่าวหาลงลายมือชื่อ และให้ส่งกลับไปยัง น.ส.อิสราลักษณ์ อีก 1 ฉบับ

แต่เมื่อผู้กล่าวหาลงทุนไปแล้วนั้น ผู้กล่าวหาได้รับหนังสือสัญญาจาก น.ส.อิสราลักษณ์ ล่าช้า ซึ่งผู้กล่าวหาได้ทวงถามอยู่บ่อยครั้ง จน น.ส.อิสราลักษณ์ ส่งสัญญามาให้ผู้กล่าวหา โดยสัญญาฉบับแรกระบุว่าเงินปันผลก้อนแรกจะเข้าสิ้นเดือน มิ.ย.64 เดือนละ 5,650 บาท จำนวน 12 เดือน ถึงเดือน พ.ค.65

พอถึงสิ้นเดือน มิ.ย.64 น.ส.อิสราลักษณ์ ก็ไม่ได้ทำการโอนตามกำหนดโดยอ้างว่าธนาคารกรุงศรีอยุธยา ที่ตนใช้โอนเงินนั้นมีปัญหาจึงทำการขอเปลี่ยนสัญญาฉบับใหม่มาเป็นโอนสิ้นเดือนสิงหาคม 64 ไปจนถึงเดือนเมษายน 65 ระยะเวลา 9 เดือนโดยให้เปอร์เซ็นต์ของเงินปันผลเพิ่มมากขึ้นจากสัญญาฉบับเก่าที่พอครบสัญญาจะได้ยอดเงินเป็นสัญญาฉบับสองที่ทำขึ้นมาแทน รวมเป็นเงิน 150,000 บาท มาเป็นให้เงินปันผล 9 งวด งวดละ 17,000 บาท ยอดรวมเป็น 153,000 บาท เพิ่มขึ้นมาอีก 3,000 บาท

แต่พอถึงสิ้นเดือนส.ค.64 เงินปันผลก็ยังไม่มีการโอนใด ๆ เข้ามา ผู้กล่าวหาจึงได้ติดตามทวงถามจาก น.ส.อิสราลักษณ์ แต่ก็ถูกบ่ายเบี่ยงเรื่อยมา จึงมาร้องทุกข์ต่อพนักงานสอบสวนเพื่อดำเนินคดีกับ น.ส.อิสราลักษณ์ ตามกฎหมายจนกว่าคดีจะถึงที่สุด

ต่อมาเมื่อวันที่ 30 พ.ย.2564 พนักงานสอบสวนขอศาลอาญาธนบุรี ขอหมายจับผู้ต้องหาได้เมื่อวันที่ 26 ธ.ค.64 ในชั้นสอบสวนผู้ต้องหาให้การรับสารภาพตลอดข้อกล่าวหา ศาลพิจารณาคำร้องแล้วอนุญาตให้ฝากขังได้ ต่อมาญาติของผู้ต้องหาได้ยื่นคำร้องพร้อมหลักทรัพย์ขอปล่อยชั่วคราว ศาลพิจารณาแล้วอนุญาตให้ปล่อยชั่วคราวโดยตีราคาประกัน 50,000 บาท

ติดตามข่าวสด

ข่าวเด่นประจำวัน