“สาธิต” แจงดึงอินฟลูเอนเซอร์จูงใจคนปั๊มลูก แค่ตัวอย่างเดียวการเปลี่ยนค่านิยม รับมีคนวิจารณ์ช่วยเพิ่มโอกาสสะท้อนปัญหาโครงสร้างประชากร ห่วง 10 ปี เหลือประชากร 40 ล้านคน ต้องดันเป็นวาระชาติร่วมแก้ปัญหาทั้งระบบ สิทธิสวัสดิการ ตั้งแต่ท้อง เกิด เรียน วางแผนมีบุตร

เมื่อวันที่ 20 ก.พ. นายสาธิต ปิตุเตชะ รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงสาธารณสุข (สธ.) ให้สัมภาษณ์ถึงกรณีการวิพากษ์วิจารณ์นำอินฟลูเอนเซอร์มาบอกเล่าประสบการณ์และความสุขการเลี้ยงลูก เพื่อปรับค่านิยมให้คนไทยอยากมีลูก แก้ปัญหาเด็กไทยเกิดน้อย ว่า รับทราบประเด็นนี้แล้ว แต่ก็เข้าใจดี เพราะเรากำลังทำเรื่องยาก เป็นเรื่องการสร้างความเข้าใจ ซึ่งกิจกรรมดังกล่าวเป็นเพียงการยกตัวอย่างเล็กๆ ส่วนเดียวที่จะทำ ซึ่งต้องทำอีกหลายเรื่องเพื่อแก้ปัญหาโครงสร้างประชากรเด็กเกิดน้อย ด้อยคุณภาพ สิ่งที่เราต้องทำทั้งระบบคือ การทำให้คู่สมรสที่แต่งงานกันมีข้อมูลมากเพียงพอในการมีบุตร

“เราต้องเริ่มจากการสะท้อนปัญหาที่เกิดขึ้นในประเทศ การวิพากษ์วิจารณ์ครั้งนี้ถือเป็นเรื่องที่ดี เพื่อใช้โอกาสนี้สะท้อนปัญหาเรื่องนี้ เพื่อให้ทุกคนตระหนักร่วมกัน เตรียมตัวเผชิญหน้า รองรับสถานการณ์ในอนาคต” นายสาธิต กล่าว

นายสาธิต กล่าวว่า เราทราบถึงความกังวลเรื่องค่าครองชีพในการมีลูกที่ต้องใช้เงินจำนวนมากและใช้เวลา ซึ่งเราต้องทำนโยบายให้เอื้อต่อพ่อแม่มากที่สุด ค่อยปรับเปลี่ยนค่านิยม ให้เห็นว่าปัญหานี้จะเกิดขึ้นชัดในอีก 10 ปีข้างหน้า หากอัตราเกิดและตายยังอยู่ในระดับนี้ อนาคตประชากรไทยจะเหลือ 40 ล้านคน ส่งผลกระทบต่อเศรษฐกิจประเทศ ศักยภาพการแข่งขันลดลง คนทำงานน้อยลง แต่ต้องดูแลคนสูงอายุมากขึ้น จากคนวัยทำงาน 10 ต่อผู้สูงอายุ 1 คน ก็จะเหลือ 1.7 ต่อ 1 คน ปัญหานี้จำเป็นต้องถูกพูดถึง ไม่ว่ารัฐบาลใดเข้ามาก็ต้องนำเรื่องนี้เป็นวาระแห่งชาติ เพื่อแก้ไขโครงสร้างประชากรในอนาคตให้ได้

“ขณะนี้สิ่งที่เราดำเนินการร่วมกันหลายภาคส่วน เช่น สิทธิตั้งแต่การตั้งครรภ์ มารดาจะเข้าถึงสิทธิตรวจสุขภาพ ตรวจหาเชื้อซิฟิลิสในคู่สมรส ตรวจหาโอกาสเกิดดาวน์ซินโดรม เมื่อคลอดแล้วจะมีมาตรการรองรับด้วยการอุดหนุนค่าเลี้ยงดูบุตรจากประกันสังคม 800 บาทและกระทรวงการพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์ (พม.) 600 บาท รวม 1,400 บาทต่อเดือนต่อเด็กหนึ่งคน ตั้งแต่แรกเกิดไปจนถึงเด็กอายุ 6 ปี” นายสาธิตกล่าว

ส่วนการเลี้ยงดูเด็กระหว่างที่พ่อแม่ต้องทำงาน กระทรวงแรงงาน ก็มีนโยบายให้สถานประกอบการจัดมุมนมแม่ เพิ่มสวัสดิการลาคลอดของแม่จาก 3 เป็น 6 เดือน และพ่อก็สามารถลาไปเลี้ยงดูบุตรได้ด้วย โดยยังได้รับเงินเดือนตามปกติ เพื่อให้คู่สมรสที่มีลูกได้ใช้เวลาเลี้ยงดูบุตรในช่วงแรกเกิด ส่งเสริมพัฒนาการของเด็ก และเพื่อสร้างความอบอุ่นในครอบครัว

นายสาธิตกล่าวว่า หากเกิดเป็นวาระแห่งชาติ ต้องให้ความสำคัญ เช่น การเรียนฟรี เพื่อลดค่าใช้จ่ายพ่อแม่อย่างจริงจัง รวมถึงการคำนวณว่า หากจะวางแผนมีบุตร สำหรับคนที่เรียนจบปริญญามา ทำงานอีกกี่ปีจึงควรจะมีบุตรได้ ทั้งหมดนี้ต้องคิดเข้ามาในระบบทั้งหมด ซึ่งคณะกรรมการอนามัยเจริญพันธุ์ ก็ได้คิดทั้งหมดของเรื่องอยู่แล้ว แต่ว่าเรื่องที่จะให้อินฟลูเอนเซอร์เข้ามาร่วมรณรงค์ เป็นเพียงตัวอย่างเดียวในการปรับเปลี่ยนค่านิยม โดยเราต้องสื่อสารผ่านผู้ที่มีอิทธิพลทางความคิดในทุกสาขาอาชีพ ทุกฐานรายได้ครอบครัว ได้นำเสนอแนวคิดการมีลูกอย่างมีความสุข ให้ความคิดดีๆ เหล่านี้เกิดการซึมซับในสังคมได้

“ยอมรับว่าเป็นเรื่องที่ยาก แต่ไม่เริ่มทำวันนี้ไม่ได้ เพราะต้องใช้เวลาตั้งแต่การให้ความสำคัญ สร้างความตระหนัก การกำหนดนโยบาย การใช้งบประมาณ ซึ่งต้องย้ำว่า เงินไม่ใช่คำตอบเพียงอย่างเดียว ยกตัวอย่างสิงคโปร์ที่มีการอุดหนุนเด็กแรกเกิด 1 แสนบาท แต่ก็แก้ไขปัญหาเกิดน้อยไม่สำเร็จ ฉะนั้นเรื่องนี้ต้องคิดทั้งระบบ จึงจะเปลี่ยนค่านิยมได้” นายสาธิตกล่าว

ติดตามข่าวสด

ข่าวเด่นประจำวัน