‘วิษณุ’ แจงเอกสารราชการไทยในระบบสากลใช้เลขอารบิก-ปีค.ศ. หน่วยงานรู้อยู่แล้ว ประเทศไหนๆ ก็ใช้ภาษาราชการของตัวเอง ชี้เถียงกันในเรื่องที่ไม่เป็นเรื่อง

เมื่อวันที่ 30 พ.ค. ที่ทำเนียบรัฐบาล นายวิษณุ เครืองาม รองนายกรัฐมนตรี ให้สัมภาษณ์หลังการประชุมคณะรัฐมนตรี (ครม.) ถึงกรณีที่ผู้ออกแคมเปญผ่านเว็บไซต์ Change.org เรียกร้องให้ใช้เลขอารบิกแทนเลขไทยในเอกสารราชการของไทย โดยอ้างว่าเพื่อความพัฒนาในด้านดิจิตอล ว่า ตนเห็นข่าว แต่ยังไม่เห็นรายละเอียดชัดเจน

โดยข่าวการเรียกร้องดังกล่าว เป็นการเรียกร้องให้เอาเลขอารบิกในเอกสารราชการในระบบดิจิตอล ซึ่งก็ถูกต้อง เพราะระบบดิจิตอลต้องใช้ตัวเลขที่เป็นสากล มิฉะนั้นชาวต่างชาติจะอ่านไม่ออก แต่ในกรณีที่เป็นเอกสารของประเทศไทย อาทิ หนังสือเรียน หนังสือราชการ เราจำเป็นต้องใช้ตัวเลขไทย ซึ่งประเทศไหนๆ ก็ใช้ภาษาราชการของตัวเองทั้งนั้น

แต่เมื่อใดที่เขาต้องนำเอกสารไปสู่สากล เขาก็ต้องปรับให้เข้ากับสากลเช่นกัน แม้กระทั่งเรื่องของปีพุทธศักราช (พ.ศ.) กับปีคริสตศักราช (ค.ศ.) ถ้าใช้เฉพาะในไทย เราก็ใช้ปีพ.ศ. แต่ถ้าเมื่อใดที่เราต้องใช้ในต่างประเทศ ก็ใช้ปีค.ศ. หรืออย่างมากก็เขียนวงเล็บกำกับเอาไว้ทั้ง 2 ภาษาก็ได้ เพราะถ้าใช้ปีพ.ศ.อย่างเดียว ประเทศอื่นๆอาจไม่เข้าใจ

เมื่อถามว่า แสดงว่าหน่วยงานราชการต้องทำเอกสารเป็น 2 รูปแบบใช่หรือไม่ รองนายกฯ กล่าวว่า ทำเอกสารเป็นรูปแบบเดียว แต่เมื่อใดที่ต้องแปลก็ใช้เลขอารบิก ทั้งนี้ หน่วยงานราชการต่างๆ รู้อยู่แล้วว่ากาลเทศะควรจะเป็นอย่างไร

เมื่อถามอีกว่า บางครั้งหน่วยงานราชการนำเอกสารที่ใช้ตัวเลขไทยไปสแกนเป็นไฟล์ลงระบบคอมพิวเตอร์ด้วย ทำให้ยังมีความยุ่งยากอยู่ นายวิษณุ กล่าวว่า ก็ต้องยอมให้ยุ่งยาก เพราะเราต้องรักษาสิ่งที่เป็นเอกลักษณ์ของไทยเอาไว้

ผู้สื่อข่าวถามว่า จะต้องชี้แจงทำความเข้าใจกับประชาชนในเรื่องนี้หรือไม่ นายวิษณุ กล่าวว่า มีหน่วยงานที่จะชี้แจงเรื่องนี้อยู่แล้ว อาทิ สำนักงานราชบัณฑิตยสภา กระทรวงศึกษาธิการ กระทรวงวัฒนธรรม

เมื่อถามถึงกรณีที่มีบางคนเรียกร้องให้ยกเลิกการใช้ปีพุทธศักราช (พ.ศ.) ด้วย นายวิษณุ กล่าวว่า เรารู้ว่าจะมีคนขยับไปอย่างนั้น ซึ่งเราต้องยืนตรงนี้ให้ได้เสียก่อน

ต่อข้อถามว่า การที่คนในสังคมถกเถียงกันเรื่องเหล่านี้ เกรงว่าจะบานปลายหรือไม่ นายวิษณุ กล่าวว่า เถียงกันในเรื่องที่ไม่เป็นเรื่อง แต่ถ้าจะให้เป็นเรื่อง ก็ต้องยอมรับว่าในระบบของไทย เราใช้ของไทย แต่เมื่อใดที่ก้าวสู่สากล ก็ต้องใช้แบบสากล ซึ่งเป็นเรื่องธรรมดา

ติดตามข่าวสด

ข่าวเด่นประจำวัน