ผอ.สถาบันมะเร็งฯ ชี้เป็นมะเร็งทั้งที่ไม่มีปัจจัยเสี่ยงได้ หลังหมออายุน้อย ป่วยมะเร็งปอดระยะสุดท้าย แนะเอกซเรย์ปอดทุกปี ไทยป่วยใหม่วันละ 5 ราย ดับวันละ 4 ราย

กรณี นพ.กฤตไท ธนสมบัติกุล อายุ 28 ปี เปิดเพจเฟซบุ๊ก สู้ดิวะ เล่าประสบการณ์ป่วยมะเร็งปอดระยะสุดท้าย ทั้งที่อายุน้อย เผยชอบออกกำลังกาย มีสุขภาพแข็งแรงมาตลอด และไม่สูบบุหรี่ ตามที่เสนอข่าวไปนั้น อ่านข่าว หมอหนุ่มเป็นมะเร็งปอด เปิดเพจ เล่าเรื่องราว ทั้งที่แข็งแรง เริ่มไอไปตรวจ ปอดขวาเหลือครึ่งเดียว

เมื่อวันที่ 11 พ.ย.65 นพ.สกานต์ บุนนาค ผอ.สถาบันมะเร็งแห่งชาติ ให้สัมภาษณ์ถึงกรณีดังกล่าวว่า ว่า ปัจจัยเสี่ยงต่างๆ ที่เป็นสาเหตุโรคต่างๆ เป็นผลวิจัยทางการแพทย์ ซึ่งต้องมีประชากรกลุ่มจำนวนพอสมควร แล้วจึงวิเคราะห์เป็นข้อสรุป แต่บางเรื่องเจอในคนน้อยมาก โดยเฉพาะในชนิดที่พบน้อยมาก ผลวิจัยอาจจะยังไม่มี แต่ไม่ได้แปลว่าไม่มีสาเหตุ

การที่ไม่มีปัจจัยเสี่ยงที่การแพทย์ยืนยันไม่ได้แปลว่า จะไม่มีปัจจัยเสี่ยงที่เราไม่รู้ ในรายคุณหมอคนดังกล่าว อาจจะมีความเป็นไปได้ว่า อยู่ในพื้นที่มีมลภาวะความเสี่ยง ยกตัวอย่าง เช่น พื้นที่มีการเผาไหม้ มีฝุ่นควัน PM 2.5 แต่ PM 2.5 ก็ไม่ได้มีหลักฐานชัดเจนว่าเกี่ยวข้องกับมะเร็งปอด แต่ตัว PM 2.5 เกิดขึ้นพร้อมกับสารหลายตัวที่มีหลักฐานที่ก่อมะเร็งได้ เช่น คาร์บอนมอนอกไซด์ ที่เกิดจากการเผาไหม้ไม่สมบูรณ์

“ดังนั้น PM 2.5 สูงจึงอาจไปสัมพันธ์กับสารก่อมะเร็งที่สูงได้ หรืออาจจะเกิดจากมลภาวะอื่นๆ เช่น ปัจจุบันที่มีการก่อสร้างมาก หากควบคุมไม่ดีมีฝุ่นควันที่มีส่วนประกอบแร่ใยหิน ที่เป็นสารก่อมะเร็งได้ เป็นข้อมูลภาพรวมที่ไม่ได้เจาะจงว่าเกิดกับหมอคนดังกล่าว บางครั้งเราอาจจะนึกไม่ถึง และไม่คิดว่าจะเป็นสาเหตุ ทำให้ไม่ได้ระวังตัวจากเรื่องเหล่านี้

ดังนั้น แม้จะไม่มีปัจจัยเสี่ยงที่เราคุ้นเคย ไม่ว่าจะเป็นอาหาร เหล้า บุหรี่ การพักผ่อน ก็ไม่ได้แปลว่าจะไม่เสี่ยงเป็นมะเร็ง ดังนั้น การคัดกรองตรวจสุขภาพประจำปีจึงเป็นสิ่งสำคัญ ทั้งนี้ มลภาวะสิ่งแวดล้อมอาจจะมีผลต่อการเปลี่ยนแปลงทางพันธุกรรม ก็สามารถก่อให้เกิดมะเร็งในคนที่อายุน้อยลงได้” นพ.สกานต์ กล่าว

นพ.สกานต์ กล่าวว่า ภาพรวมคนที่อยู่ในมลภาวะจึงมีความเสี่ยงเพิ่ม แต่ก็ต้องบวกปัจจัยอื่นๆ ร่วมด้วย สิ่งที่ดีสุดควรหลีกเลี่ยง เช็กสภาพอากาศ หากไม่ดีก็เลี่ยงหรืองดออกกำลังกายกลางแจ้ง หรือสวมใส่หน้ากากอนามัยที่กรองฝุ่น PM 2.5 ลดความเสี่ยงให้กับตนเอง

ส่วนข้อสังเกตถึงอาการที่เสี่ยงจะเป็นมะเร็งปอด ที่พบบ่อยคือไอเรื้อรัง 2 สัปดาห์ไม่หาย หรือหายใจแล้วเจ็บหน้าอก ไอเป็นเลือด และอาการร่วมมีไข้เรื้อรัง น้ำหนักลด เบื่ออาหาร ยิ่งต้องระวังและรีบแพทย์ อาการเหล่านี้ไม่ได้เฉพาะเจาะจงเป็นมะเร็งปอด แต่เป็นสัญญาณเตือน ซึ่งอาจจะเป็นโรคอื่น เช่น วัณโรค จึงต้องตรวจละเอียด

ผอ.สถาบันมะเร็งแห่งชาติ กล่าวอีกว่า สถานการณ์ทั่วประเทศพบผู้ป่วยมะเร็งปอดรายใหม่ประมาณปีละ 17,000 ราย แต่ละปีเสียชีวิต 14,000 ราย หรือเฉลี่ยพบผู้ป่วยมะเร็งปอด 50 คน ต่อวัน เสียชีวิต 40 คนต่อวัน เป็นมะเร็งอันดับ 2 ในเพศชาย และอันดับ 4 ในเพศหญิง แนวโน้มยังไม่ลด ทั้งนี้การตรวจสุขภาพปีละครั้ง เอกซเรย์ปอดปีละครั้ง เพื่อคัดกรองจะลดโอกาสเสี่ยงลงได้

ติดตามข่าวสด

ข่าวเด่นประจำวัน