กฤษฎีกาเคาะออก พ.ร.บ.กู้เงิน 5 แสนล้านบาท ฉลุย ใช้โครงการดิจิทัลวอลเล็ต คาดหารือ กรรมการชุดใหญ่ นายกฯ นั่งหัวโต๊ะ สัปดาห์หน้า

เมื่อเวลา 14.00 น. วันที่ 8 ม.ค.2567 ที่กระทรวงการคลัง นายจุลพันธ์ อมรวิวัฒน์ รมช.คลัง เปิดเผยว่า คณะกรรมการกฤษฎีกาตอบข้อถามของกระทรวงการคลัง ยืนยันว่าสามารถออกพ.ร.บ.กู้เงิน 5 แสนล้านบาท เพื่อใช้ในโครงการ ดิจิทัลวอลเล็ต ได้ โดยเป็นไปตามอำนาจคณะรัฐมนตรี (ครม.) และคณะกรรมการนโยบายโครงการเติมเงิน 10,000 บาทผ่านดิจิทัลวอลเล็ต ที่จะออกกฎหมายกู้เงินดังกล่าวมาใช้ในโครงการ

ทั้งนี้ คณะกรรมการกฤษฎีกาตั้งข้อสังเกตในบางประเด็นเช่น การออกกฎหมายกู้เงินจะต้องเป็นไปตามพ.ร.บ.วินัยการเงินการคลัง มาตรา 53 และ มาตรา 57 รวมทั้งจะต้องรับฟังความคิดเห็นอย่างรอบด้าน ประเด็นนี้ได้พูดคุยกันในเบื้องต้นแล้วแต่ยังไม่มีข้อสรุปใดๆ

รวมทั้งข้อสังเกตที่ว่า ต้องเป็นโครงการที่ดำเนินการในสถานการณ์ที่เศรษฐกิจอยู่ในภาวะวิกฤต จนไม่สามารถตั้งงบประมาณปกติมาดำเนินการได้ ความคุ้มค่าของโครงการ ซึ่งต้องมีการประเมินผลก่อนและหลัง และรับฟังความคิดเห็นให้รอบด้าน ตรงนี้อาจจะต้องมาดูว่าทำกลไกอย่างไรเพื่อรับฟังความคิดเห็นจากประชาชน หรือส่วนงานใด ๆ เพิ่มเติมหรือไม่ เป็นสิ่งที่คณะกรรมการชุดใหญ่ต้องพิจารณาต่อ

เมื่อมีข้อสังเกตจากกฤษฎีกาแล้ว ก็เป็นหน้าที่คณะกรรมการนโยบายโครงการเติมเงิน 10,000 บาท ผ่านดิจิทัลวอลเล็ต และรัฐบาล ในการที่จะหาคำตอบ หาความชอบ และหารายละเอียดที่ครบถ้วนเพื่อชี้แจงต่อสังคม ชี้แจงต่อส่วนงานซึ่งมีหน้าที่ติดตามตรวจสอบทั้งหมด ว่าสถานการณ์ปัจจุบันเป็นไปตามกรอบกฎหมายหรือไม่ อย่างไร

นายจุลพันธ์ กล่าวว่า คาดว่าในสัปดาห์หน้าจะประชุมคณะกรรมการนโยบายโครงการเติมเงิน 10,000 บาทผ่านดิจิทัลวอลเล็ต ที่มี นายเศรษฐา ทวีสิน นายกรัฐมนตรีและรมว.คลัง เป็นประธาน เพื่อพิจารณาข้อหารือในประเด็นกฎหมายดังกล่าว พร้อมกันนี้จะมีเลขาธิการกฤษฎีกาที่ร่วมเป็นคณะกรรมการ มาพิจารณาตรวจข้อกฎหมาย สรุปข้อประชุม และความเห็นของคณะกรรมการกฤษฎีกา ว่ามีข้อสังเกตและแนวทางดำเนินการอย่างไร

“การวินิจฉัยของกฤษฎีกาก็เป็นกลไกที่จำเป็นตามขั้นตอนของกฎหมาย ดังนั้น ไม่ว่ากฤษฎีกาจะตอบอะไรมา รัฐบาลก็จะเดินหน้าตามขั้นตอนที่ต้องทำ โดยเมื่อมีการหารือในที่ประชุมคณะกรรมการนโยบายแล้ว จะสรุปความชัดเจนว่าจะดำเนินการเรื่องนี้อย่างไรต่อไป ในส่วนของร่างพ.ร.บ.กู้เงินนั้น กระทรวงการคลังยกร่างบางส่วนแล้วในเบื้องต้น เรื่องนี้ดำเนินการไม่ช้า” นายจุลพันธ์ กล่าว

สำหรับประเด็นที่มีข้อคิดเห็นขัดแย้งกันว่าเศรษฐกิจอยู่ในภาวะวิกฤตหรือไม่นั้น รัฐบาลยืนยันอยู่แล้วว่าสถานการณ์เศรษฐกิจไทยในขณะนี้ค่อนข้างเปราะบาง ประชาชนอยู่ในความเดือดร้อน และเศรษฐกิจไทยติดหล่มในเรื่องการเจริญเติบโตทางเศรษฐกิจ ดังนั้น ขณะนี้เป็นสถานการณ์ที่หลายฝ่ายเรียกร้องตรงกันว่าควรจะต้องดำเนินการเพื่อกระตุ้นเศรษฐกิจได้แล้ว

ขณะนี้ยังไม่มีใครชี้มาว่าเศรษฐกิจไทยวิกฤตหรือไม่วิกฤต นี่เป็นหน้าที่ส่วนงานของกระทรวงการคลัง คณะกรรมการนโยบายโครงการเติมเงิน 10,000 บาทผ่านดิจิทัลวอลเล็ต ที่จะช่วยกันหาคำตอบที่พิสูจน์ได้ทางวิทยาศาสตร์ สามารถตอบได้ว่าสถานการณ์นี้สุกงอม วิกฤตหรือไม่อย่างไร

“ส่วนการดำเนินการทั้งหมดของโครงการดิจิทัลวอลเล็ต เบื้องต้นรัฐบาลจะพยายามอย่างสูงสุดที่จะดำเนินการ เพื่อให้เงินถึงมือประชาชนตามกรอบเวลาที่กำหนดไว้” รมช.คลัง ระบุ

ติดตามข่าวสด

ข่าวเด่นประจำวัน