เพิ่งเคยเห็นครั้งแรก! รองอธิบดีกรมการแพทย์แผนไทยฯ เผยข้อมูล ยางู คาดเป็นยาโบราณแพทย์แผนจีน-เวียดนาม แต่ละขนานจะมีตัวเลขกำกับไว้

เมื่อวันที่ 18 ก.ค.67 นพ.เทวัญ ธานีรัตน์ รองอธิบดีกรมการแพทย์แผนไทยและการแพทย์ทางเลือก กระทรวงสาธารณสุข (สธ.) ให้สัมภาษณ์ถึงกรณีที่มีชื่อยาแผนโบราณ “ยางู” ที่ปรากฏอยู่ในการให้ข้อมูลเกี่ยวกับคดีชาวเวียดนาม 6 คน ถูกวางยาพิษไซยาไนด์ (Cyanide) จนเสียชีวิตในโรงแรมดังกลางกรุงว่า

สำหรับยางูที่เป็นข่าวในขณะนี้นั้น ตนขอให้ข้อมูล เฉพาะส่วนที่มีคำถามในสังคมถึง “ยางู” ว่าเป็นยาอะไร เบื้องต้นเท่าที่ตนดูข้อมูลจากข่าว คาดว่าเป็นยาแผนโบราณ มีหลายขนาน ซึ่งอยู่ภายใต้ชื่อแบรนด์ว่า “ตรางู” โดยแต่ละขนานจะมีตัวเลขกำกับไว้ เช่น หมายเลข 1, 2, 3 เป็นต้น

ส่วนตัวยาที่ผสมอยู่ในแคปซูลนั้น ตนยังไม่มีข้อมูลว่าเป็นยาอะไร เพราะต้องเข้าไปดูในสลาก แต่เท่าที่ดูจากข่าวก็คาดว่าจะเป็นยากลุ่มบำรุงร่างกาย ซึ่งอาจเป็นยาโบราณแพทย์แผนจีน ซึ่งไม่แน่ใจว่า เป็นยาแผนโบราณของเวียดนามด้วยหรือไม่ อย่างไรก็ตาม ตนยอมรับว่าเพิ่งเคยเห็นตัวยาชนิดนี้เป็นครั้งแรกเช่นกัน

เมื่อถามว่า มีข้อมูลการขายยางูในประเทศไทย นพ.เทวัญ กล่าวว่า ต้องเข้าใจว่าประเทศไทยเรามีเรื่องยาแผนโบราณอยู่แล้ว ซึ่งก็จะมีแพทย์แผนไทยและแพทย์แผนจีนสามารถที่จะทำจำหน่ายได้ เท่าที่ทราบน่าจะเป็นหมอแผนไทย ซึ่งมีความรู้เรื่องยาแผนโบราณ

เมื่อถามต่อว่าการใช้ยาแผนโบราณ จะต้องขึ้นทะเบียนตำรับยาหรือไม่ นพ.เทวัญ กล่าวว่า มีข้อกฎหมายอยู่คือถ้าเป็นของผู้ประกอบวิชาชีพแผนไทย ก็ต้องไปขอเปิดร้านขายยา เป็นร้านขายยาแผนโบราณซึ่งก็จะสามารถที่จะขายยาแผนโบราณตัวนี้ให้กับคนไข้ได้ แต่ถ้าอีกรูปแบบหนึ่งก็คือ เป็นยาแผนโบราณที่ผลิตโดยโรงงาน ซึ่งจะต้องไปขอเลขขึ้นทะเบียนกับสำนักงานคณะกรรมการอาหารและยา (อย.)

ถามย้ำว่ายาตรางู ไม่ใช่ตำรับแผนไทยใช่หรือไม่ นพ.เทวัญ กล่าวว่า ถือเป็นยาแผนโบราณอย่างหนึ่ง ซึ่งตนเข้าใจว่า แต่ก่อนภูมิภาคอาเซียนเองนั้นเชื่อมกันหมด ทั้งยาแพทย์แผนไทย แพทย์แผนจีน

เมื่อถามว่า กรมการแพทย์แผนไทยฯ จะดำเนินการเพิ่มเติมอะไรหรือไม่ นพ.เทวัญ กล่าวว่า กรมแพทย์แผนไทยฯ ดูแลเรื่องวิชาการ ขณะที่ตัวยาตัวนี้ก็ไม่มี ก็ไม่คิดว่าจะมีประเด็นอะไร ถ้ามีประเด็นเพิ่มเรื่องข้อกฎหมายก็จะเป็นเรื่องหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง คืออย. ที่อาจจะเข้าไปตรวจสอบ ขณะที่หากเป็นเรื่องของยาบำรุง ก็จะเป็นเรื่องของผู้ประกอบวิชาชีพที่ปรุงขึ้นมาให้กับผู้ป่วยเฉพาะราย ก็สามารถทำได้ตามกฎหมาย

เมื่อถามว่า มีการจำหน่ายยางูในเฟซบุ๊ก ถือเป็นการขายแบบออนไลน์มีความผิดหรือไม่ นพ.เทวัญ กล่าวว่า ถ้าผู้ที่ปรุงไม่ได้รับอนุญาตตามกฎหมาย ก็ต้องผิดอยู่แล้ว ไม่สามารถที่จะขายออนไลน์ได้ ต้องขายได้เฉพาะในร้านที่ได้รับอนุญาตจากอย. ซึ่งทางอย.จะต้องไปตรวจสอบ

ติดตามข่าวสด

ข่าวเด่นประจำวัน