ศาล รธน.มติเอกฉันท์ ตีตก 2 คำร้อง กล่าวหา กกต.จัดเลือกตั้ง สว. 2566 ไม่สุจริต-เที่ยงธรรม ชี้ยื่นคำร้องไม่เป็นไปตามหลักเกณฑ์ เคยมีคำวินิจฉัยไว้แล้ว

เมื่อวันที่ 25 ธ.ค.2567 ศาลรัฐธรรมนูญประชุมปรึกษาคดีที่สำคัญ และเป็นที่สนใจ โดยมีวาระการพิจารณาเรื่องเกี่ยวกับการเลือก สว. 2566 จำนวน 2 เรื่องได้แก่ กรณีนายเสฐียร ศรีเมือง (ผู้ร้อง) ขอให้ศาลรัฐธรรมนูญ พิจารณาวินิจฉัยตามรัฐธรรมนูญ มาตรา 213 เรื่องพิจารณาที่ ต. 76/2567 ว่าการกระทำของคณะกรรมการการเลือกตั้ง หรือ กกต. (ผู้ถูกร้องที่ 1) เกี่ยวกับการจำกัดสิทธิของผู้ร้อง ในการสมัครรับเลือกเป็นสมาชิกวุฒิสภา (สว.) ไม่ชอบด้วยกฎหมาย เลือกปฏิบัติโดยไม่เป็นธรรม

ทำให้การเลือกสว. ไม่สุจริตและเที่ยงธรรม ขัดหรือแย้งต่อรัฐธรรมนูญ มาตรา 215 และมาตรา 224 วรรคหนึ่ง (1) (2) (3) (4) และ (6)

นอกจากนี้การพิจารณาพิพากษาคดีของศาลปกครองกลาง (ผู้ถูกร้องที่ 2) ไม่ชอบด้วยกฎหมาย ละเมิดสิทธิหรือเสรีภาพของผู้ร้องตามรัฐธรรมนูญคุ้มครองไว้ ขัดหรือแย้งต่อรัฐธรรมนูญ มาตรา 25 มาตรา 188 มาตรา 191 มาตรา 197 วรรคหนึ่งและวรรคสาม และมาตรา 215

ขณะเดียวกัน การปฏิบัติหน้าที่ของผู้ตรวจการแผ่นดิน (ผู้ถูกร้องที่ 3) ที่ยุติเรื่องร้องเรียนโดยไม่ดำเนินการแสวงหาข้อเท็จจริงเพื่อเสนอเรื่องพร้อมด้วยความเห็นต่อศาลรัฐธรรมนูญ เป็นการละเมิดสิทธิหรือเสรีภาพของผู้ร้อง ขัดหรือแย้งต่อรัฐธรรมนูญ มาตรา 215 มาตรา 221 มาตรา 230 วรรคหนึ่ง (1) และ (2) และมาตรา 231

ศาลรัฐธรรมนูญ พิจารณาโดยการอภิปรายแล้วเห็นว่า ข้อเท็จจริงตามคำร้องและเอกสารประกอบคำร้อง ไม่ปรากฏว่าผู้ร้องยื่นคำร้องเกี่ยวกับการกระทำของผู้ถูกร้องที่ 1 ต่อผู้ตรวจการแผ่นดิน กรณีไม่เป็นไปตามหลักเกณฑ์ พ.ร.ป.ว่าด้วยวิธีพิจารณาของศาลรัฐธรรมนูญ พ.ศ. 2561 มาตรา 46 วรรคหนึ่ง ดังนั้น ผู้ร้องไม่อาจยื่นคำร้องดังกล่าวตามรัฐธรรมนูญ มาตรา 213

สำหรับการพิจารณาพิพากษาคดีของผู้ถูกร้องที่ 2 เป็นการใช้อำนาจของผู้พิพากษาหรือตุลาการที่มีอิสระในการพิจารณาพิพากษาอรรถคดีตามรัฐธรรมนูญ มาตรา 188 วรรคสอง ประกอบกับเป็นเรื่องที่ศาลอื่น มีคำพิพากษาหรือคำสั่งถึงที่สุดแล้วตาม พ.ร.ป.ว่าด้วยวิธีพิจารณาของศาลรัฐธรรมนูญ พ.ศ. 2561 มาตรา 47 (4) ซึ่งมาตรา 46 วรรคสาม บัญญัติให้ศาลรัฐธรรมนูญสั่งไม่รับคำร้องไว้พิจารณา ดังนั้น ผู้ร้องไม่อาจยื่นคำร้องดังกล่าวตามรัฐธรรมนูญ มาตรา 233

ส่วนการกระทำของผู้ถูกร้องที่ 3 เป็นการใช้อำนาจตามกฎหมาย หากผู้ร้องเห็นว่าเป็นการกระทำละเมิดสิทธิหรือเสรีภาพ ผู้ร้องอาจใช้สิทธิทางศาลได้ศาลตามรัฐธรรมนูญ มาตรา 25 วรรคสาม เป็นกรณีที่รัฐธรรมนูญหรือกฎหมายประกอบรัฐธรรมนูญได้กำหนดกระบวนการร้องหรือผู้มีสิทธิขอให้ศาลพิจารณาวินิจฉัยไว้เป็นการเฉพาะแล้วตาม พ.ร.ป.ว่าด้วยวิธีพิจารณาของศาลรัฐธรรมนูญ พ.ศ. 2561 มาตรา 47 (2)

ซึ่งมาตรา 46 วรรคสาม บัญญัติให้ศาลรัฐธรรมนูญสั่งไม่รับคำร้องไว้พิจารณา ดังนั้น ผู้ร้องไม่อาจยื่นคำร้องดังกล่าวตามรัฐธรรมนูญ มาตรา 213 ศาลรัฐธรรมนูญมีมติเป็นเอกฉันท์มีคำสั่งไม่รับคำร้องไว้พิจารณาวินิจฉัย

นอกจากนี้ยังพิจารณา เรื่องพิจารณาที่ ต. 77/2567 กรณี นายสุวิทย์ เหมตะศิลป (ผู้ร้อง) ขอให้ศาลรัฐธรรมนูญพิจารณาวินิจฉัยตามรัฐธรรมนูญ มาตรา 213 ว่า กกต.(ผู้ถูกร้องที่ 1) เลขาธิการกกต. (ผู้ถกร้องที่ 2) และพนักงานเจ้าหน้าที่ตามพ.ร.ป.ว่าด้วยการได้มาซึ่งสมาชิกวุฒิสภา พ.ศ. 2561 (ผู้ถูกร้องที่ 3) ปฏิบัติหน้าที่โดยไม่ชอบด้วยกฎหมาย ไม่ควบคุมและจัดการเลือก สว. ให้เป็นไปโดยสุจริตและเที่ยงธรรม ขัดหรือแย้งต่อรัฐธรรมนูญ มาตรา 107 และมาตรา 224 เป็นการละเมิดสิทธิหรือเสรีภาพของผู้ร้อง

ศาลรัฐธรรมนูญ พิจารณาโดยการอภิปรายแล้วเห็นว่า ข้อเท็จจริงตามคำร้องและเอกสารประกอบคำร้องเป็นเรื่องการดำเนินการจัดการเลือกสมาชิกวุฒิสภาของ กกต. ผู้ร้องอาจใช้สิทธิทางศาลได้ตามรัฐธรรมนูญ มาตรา 25 วรรคสาม เป็นกรณีที่รัฐธรรมนูญหรือกฎหมายประกอบรัฐธรรมนูญได้กำหนดกระบวนการร้องหรือผู้มีสิทธิขอให้ศาลพิจารณาวินิจฉัยไว้เป็นการเฉพาะแล้วตาม พ.ร.ป.ว่าด้วยวิธีพิจารณาของศาลรัฐธรรมนูญ พ.ศ. 2561 มาตรา 47 (2) ซึ่งมาตรา 46 วรรคสาม บัญญัติให้ศาลรัฐธรรมนูญสั่งไม่รับคำร้องไว้พิจารณา

ดังนั้น ผู้ร้องไม่อาจยื่นคำร้องดังกล่าวตามรัฐธรรมนูญ มาตรา 213 ศาลรัฐธรรมนูญมีมติเป็นเอกฉันท์มีคำสั่งไม่รับคำร้องไว้พิจารณาวินิจฉัย

ติดตามข่าวสด

ข่าวเด่นประจำวัน