รมว.ยุติธรรม ชี้ ‘ดีเจแมน-ใบเตย’ มีสิทธิ์ฟ้องรัฐ เรียกค่าเสียหาย หลังศาลชั้นต้นยกฟ้อง แจง ได้รับเงินเยียวยา แต่ต้องรอคดีถึงที่สุด

เมื่อเวลา 12.30 น. วันที่ 27 ธ.ค. 2567 พ.ต.อ.ทวี สอดส่อง รมว.ยุติธรรม ให้สัมภาษณ์กรณีศาลมีคำพิพากษายกฟ้อง ดีเจแมน ในคดี Forex-3D และได้รับการปล่อยตัวออกจากเรือนจำ ซึ่งมีกระแสดราม่า ดีเจแมน ติดคุกฟรี ว่า กระทรวงยุติธรรมมีพระราชบัญญัติ (พ.ร.บ.) ค่าตอบแทนสำหรับจำเลยในคดีอาญา จะอยู่ที่ 500 บาทต่อวัน แต่ต้องขอให้คดีนั้นเด็ดขาดก่อน

เนื่องจากคดีดังกล่าวศาลลงโทษบางคน และไม่ได้ลงโทษบางคน ซึ่งถ้าถูกควบคุมจะได้รับค่าตอบแทนที่เรียกว่าเป็นแพะ แต่เนื่องจากในคดีนี้เป็นเพียงการตัดสินของศาลชั้นต้น จึงยังไม่มั่นใจว่าอัยการจะอุทธรณ์หรือไม่ และต้องขอรอดูก่อน

พ.ต.อ.ทวี กล่าวต่อว่า ส่วนในอนาคตได้มีการเสนอแก้ไปแล้ว ซึ่งคณะรัฐมนตรี (ครม.) เพิ่งอนุมัติ โดยจะมีการเอาผิดถึงชั้นสอบสวนและอัยการด้วย ถ้าอัยการสั่งไม่ฟ้อง เราจะเข้าไปเยียวยาฟื้นฟูประชาชน ย้ำว่ากฎหมายเขียนระบุว่า ต้องรอให้คดีถึงชั้นสูงสุด จึงจะพิจารณาชดเชยได้ ขณะเดียวกันการเยียวยาในส่วนของสังคม เมื่อศาลยกฟ้องก็มีเยียวยาทางจิตใจกันอยู่แล้ว

เมื่อถามว่าสังคมมองว่าไม่คุ้มค่าชดเชยกับที่ติดคุกไป พ.ต.อ.ทวี กล่าวว่า เขามีสิทธิ์ที่จะฟ้องรัฐได้ เพื่อเรียกร้องค่าเสียหาย

ทั้งนี้ พ.ต.อ.ทวี ให้สัมภาษณ์เพิ่มเติมที่กระทรวงยุติธรรม กรณีดีเจแมน เกี่ยวกับการต่อสู้คดีระหว่างพิจารณาคดีของผู้ต้องหาว่า ควรได้รับสิทธิประกันตัวหรือไม่ เพื่อไม่ต้องกลายเป็นการถูกคุมขังฟรี เมื่อศาลชั้นต้นมีการยกฟ้องว่า กระทรวงยุติธรรมมีการส่งเสริมให้มีการประกันตัว เนื่องจากจำนวนผู้ต้องราชทัณฑ์ในเรือนจำทั่วประเทศ ปัจจุบันนี้มีจำนวนกว่า 300,000 ราย และยังมีผู้ต้องหาที่อยู่ระหว่างพิจารณาคดีอีก 60,000 ราย

ตนย้ำเสมอว่าการได้รับการประกันตัวเป็นสิทธิ์ตามรัฐธรรมนูญ แต่ศาลอาจจะมีดุลพินิจอย่างใด ซึ่งโดยหลักแล้ว การให้การประกันตัวเป็นอำนาจของศาล และตอนนี้ก็เป็นเพียงศาลชั้นต้น ยังมีศาลอุทธรณ์ ศาลฎีกา

นอกจากนี้ อำนาจของพนักงานสอบสวนในชั้นการสอบสวน มีหน้าที่ในการควบคุมตัวผู้ต้องหาได้เพียง 48 ชั่วโมง ส่วนการยื่นฝากขังผู้ต้องหาต่อศาล เจ้าหน้าที่ก็สามารถดำเนินการได้ภายใน 7 ผัด หรือ 84 วัน

เมื่อถามกรณีดีเจแมนและใบเตย ถูกคุมขังระหว่างพิจารณาคดี แต่ภายหลังศาลมีการยกฟ้องจะทำให้เสื่อมเสียประวัติ สูญเสียโอกาสการทำงาน จนมีการนำไปเทียบเคียงกับกรณีบริษัท ดิไอคอน กรุ๊ป พ.ต.อ.ทวี กล่าวว่า กระทรวงยุติธรรม มีพ.ร.บ.ค่าตอบแทนผู้เสียหายและค่าทดแทนและค่าใช้จ่ายแก่จำเลยในคดีอาญา พ.ศ. 2544 (และแก้ไขเพิ่มเติม ฉบับที่ 2 พ.ศ. 2559) ที่จะเข้ามาให้ความช่วยเหลือชดเชยเยียวยา จากการถูกคุมขังแล้วศาลยกฟ้อง แม้เงินไม่มากนัก แต่มันเป็นการแสดงถึงคำขอโทษจากรัฐ และให้เกียรติเขา

อย่างไรก็ตาม ตอนนี้เริ่มมีการแก้ไขร่าง พ.ร.บ.ค่าตอบแทนฯ ดังกล่าว เพื่อให้มีเนื้อหารายละเอียดครอบคลุมมาถึงชั้นพนักงานสอบสวนได้ เมื่ออัยการสั่งไม่ฟ้องตามพนักงานสอบสวน จะไม่ใช่เพียงแค่ชั้นศาลอีกต่อไปที่เราจะชดเชยเยียวยา

ส่วนหลังจากนี้ต้องติดตามว่า จะมีการอุทธรณ์ของพนักงานอัยการในคดีหรือไม่ หากอัยการไม่ยื่นอุทธรณ์ต่อการยกฟ้องของศาล อัยการก็จะต้องทำหนังสือสอบถามความคิดเห็นมาที่ดีเอสไอว่า เห็นด้วยหรือไม่ หากดีเอสไอไม่เห็นด้วยกับกรณีที่อัยการไม่อุทธรณ์ ดีเอสไอสามารถทำหนังสือเพื่อขอให้อัยการสูงสุดเป็นผู้ชี้ขาดได้

พ.ต.อ.ทวี กล่าวถึงบรรทัดฐานจากการที่ศาลยกฟ้องคดีแชร์ Forex-3D ของดีเจแมนและใบเตยต่อคดีอื่นๆ ว่า ในส่วนของพนักงานสอบสวน ในเรื่องการให้ประกัน ต้องยอมรับว่าเป็นดุลพินิจของศาล มันเป็นมาตรฐานทางกฎหมาย ถ้าหากศาลไม่ให้ประกัน ศาลท่านมีเหตุผล แต่อย่างไรระหว่างนี้ทั้งคู่ก็ได้รับการปล่อยตัวออกมาแล้ว หากมีการอุทธรณ์อย่างไร ในชั้นศาลอุทธรณ์หรือศาลฎีกาก็ต้องติดตามต่อเนื่องไป

ผู้สื่อข่าวรายงานว่า สำหรับการชดเชย ต้องผ่านการพิจารณาของคณะกรรมการ โดยจะมีสิทธิได้รับค่าทดแทนและค่าใช้จ่ายดังนี้ 1.ค่ารักษาพยาบาลเท่าที่จ่ายจริง ไม่เกิน 40,000 บาท 2.ค่าฟื้นฟูสมรรถภาพทางร่างกายและจิตใจเท่าที่จ่ายจริง ไม่เกิน 20,000 บาท 3.ค่าทดแทนการถูกคุมขัง วันละ 500 บาท

4.ค่าขาดประโยชน์ทำมาหาได้ในระหว่างถูกดำเนินคดี นับแต่วันที่ไม่สามารถประกอบการงานได้ตามปกติ ตามค่าแรงขั้นต่ำของจังหวัดที่ประกอบการงาน 5.ค่าใช้จ่ายที่จำเป็นในการดำเนินคดี เช่น ค่าทนายความ จ่ายเท่าที่จ่ายจริงตาม แต่ละประเภทคดีที่กฎหมายกำหนด ค่าใช้จ่ายอื่นๆ ในการดำเนินคดี เท่าที่จ่ายจริง แต่ไม่เกิน 30,000 บาท

ทั้งนี้ ดีเจแมนถูกจำคุกมาแล้ว 1 ปี 7 เดือน คิดเป็น จำนวน 570 วัน หากคณะกรรมการฯ พิจารณาอนุมัติช่วยเหลือ ก็จะได้รับ (1) ค่าถูกคุมขัง 570 x 500 = 287,500 บาท (2) ค่าขาดประโยชน์ฯ ช่วงที่ 1 ตามอัตราค่าแรงขั้นต่ำ ปี 2566 จำนวน 209 วัน x 353 บาท = 73,777 บาท ช่วงที่ 2 ตามอัตราค่าแรงขั้นต่ำ ปี 2567 จำนวน 361 วัน x 363 บาท = 131,043 บาท (3) ค่าทนายความ 75,000 บาท รวมเป็นเงินทั้งสิ้น 564,820 บาท

สำหรับน.ส.สุธีวัน กุญชร หรือใบเตย ถูกจำคุกมาแล้ว 191 วัน หากคณะกรรมการพิจารณาอนุมัติช่วยเหลือก็จะได้รับ (1) ค่าถูกคุมขัง 191 x 500 = 95,500 บาท (2) ค่าขาดประโยชน์ฯ ตามอัตราค่าแรงขั้นต่ำ ปี 2566 จำนวน 191 วัน x 353 บาท = 67,423 บาท (3) ค่าทนายความ 75,000 บาท รวมเป็นเงินทั้งสิ้น 237,923 บาท

อย่างไรก็ตาม คดีนี้เป็นการตัดสินในศาลชั้นต้น โดยโจทก์มีระยะเวลา 30 วันในการยื่นอุทธรณ์ หากพ้นระยะเวลาดังกล่าวแล้ว ไม่มีฝ่ายใดยื่นอุทธรณ์จึงจะถือว่าคดีถึงที่สุด จึงจะเข้าหลักเกณฑ์ตามกฎหมาย

ติดตามข่าวสด

ข่าวเด่นประจำวัน