สันติ จิรพรพนิต เรื่อง/ภาพ

ช่วงต้นเดือนมิ.ย.ที่ผ่านมา ผมได้รับเชิญจากบริษัท ฮอนด้า ออโตโมบิล(ประเทศไทย) จำกัด เป็นหนึ่งในสื่อมวลชนจากไทยไปร่วมงาน‘ฮอนด้า มีตติ้ง 2017’ ซึ่งเชิญสื่อมวลชนจากทั่วโลกมาพบปะเพื่อให้รายละเอียดเกี่ยวกับนวัตกรรมใหม่ๆ ของฮอนด้า ที่ประเทศญี่ปุ่น รวมถึงทดสอบรถยนต์รุ่นใหม่ๆ ที่มีนวัตกรรมน่าสนใจ

รวมถึงยังบินจากญี่ปุ่นต่อไปนครเซี่ยงไฮ้ สาธารณรัฐประชาชนจีน เพื่อชมงาน‘ซีอีเอส เอเชีย 2017’(CES ASIA – Consumer Electronics Show ASIA 2017) แสดงความไฮเทคของสินค้าอีเลคทรอนิคส์ต่างๆ อาทิ เครื่องใช้ไฟฟ้า สมาร์ทโฟน เครื่องเล่นเกม คอมพิวเตอร์ ฯลฯ แน่นอนรวมถึงความก้าวหน้าของรถยนต์ ที่ฮอนด้าไปร่วมออกบูธด้วย

งาน‘ฮอนด้า มีตติ้ง 2017’ ปีนี้จัดขึ้นที่ฮอนด้า อาร์ แอนด์ ดี หรือศูนย์วิจัยและพัฒนาของฮอนด้า ที่เมืองโตชิกิ ประเทศญี่ปุ่น มี‘นายทาคาฮิโระ ฮาจิโกะ’ ประธานกรรมการบริหาร และผู้แทนกรรมการบริหาร ซีอีโอ บริษัท ฮอนด้า มอเตอร์ จำกัด และ‘นายโยชิยูกิ มัทสึโมโต้’ประธานกรรมการบริหาร ซีอีโอ และผู้แทนกรรมการบริหาร บริษัท ฮอนด้า อาร์ แอนด์ ดี จำกัด มาให้ข้อมูลและตอบคำถาม ที่นี่นอกจากการทดสอบรถยนต์ทั้งระบบอัตโนมัติ และคลาริตี้ ทั้ง 3 เครื่องยนต์แล้ว ยังได้เห็นนวัตกรรมความปลอดภัยใหม่ๆ ที่ฮอนด้า พัฒนาอย่างเอาจริงเอาจัง

ชอบเป็นพิเศษไม่พ้นแนวคิดของฮอนด้า อาร์ แอนด์ ดี ในยุคปัจจุบัน โดยสมัยก่อนฮอนด้าค่อนข้างปิดตัวเอง เน้นพัฒนาแต่รถที่มีความเชี่ยวชาญเฉพาะ แต่เมื่อโลกเปลี่ยนไปเขาก็กล้าพอจะยอมรับความเปลี่ยนแปลง ด้วยการจับมือกับค่ายรถ และบริษัทอื่นๆ ทำให้ฮอนด้าอาร์ แอนด์ ดี ในยุคนี้ ไม่ได้อนุรักษ์นิยมเหมือนสมัยก่อน ด้วยความเปิดกว้างนี้เองทำให้ฮอนด้ายิ่งพัฒนามากขึ้นเรื่อยๆ แต่ยังคงไว้ซึ่งปณิธานเรื่องรักษ์สิ่งแวดล้อม และการรักษาชีวิตของคนให้มากที่สุด

เรื่องสิ่งแวดล้อมฮอนด้าพัฒนาเครื่องยนต์พลังงานทางเลือก ลดการปล่อยมลภาวะทั้งเครื่องยนต์ไฮโดรเจน และรถพลังงานไฟฟ้า อีกสิ่งที่ผมชอบเป็นพิเศษคือการพัฒนาถุงลมนิรภัยสำหรับรถจักรยานยนต์ โดยรุ่นที่นำมาโชว์ไม่ใช่รถหรูหราหรือไฮโซอะไร แต่เป็น‘พีซีเอ็กซ์ 150’ ที่จำหน่ายในบ้านเราด้วย การทำงานหากชนกับรถคันอื่น ถุงลมจะพองออกมาในเวลาแค่เศษเสี้ยววินาทีเท่านั้น โดยความเร็วในการพอง พอๆ กับถุงลมนิรภัยของรถยนต์ แม้ตอนนี้ยังเป็นต้นแบบ แต่เห็นแล้วบอกได้เลยว่าหากติดตั้งในรถจักรยานยยนต์รุ่นใหม่ๆ จะช่วยรักษาชีวิตของคนขี่ได้ไม่น้อย

หลังเสร็จสิ้นภารกิจที่งาน‘ฮอนด้า มีตติ้ง 2017’ ก็นั่งเครื่องบินต่อไปยังนครเซี่ยงไฮ้ ชมบูธฮอนด้าในงาน‘ซีอีเอส เอเชีย 2017’ ซึ่งเป็นครั้งแรกที่ฮอนด้าเข้าร่วมงาน ออกแบบบูธภายใต้แนวคิด‘ระบบการเดินทางที่อยู่ร่วมกับผู้คน’(Cooperative Mobility Ecosystem) ฮอนด้า นำพาหนะต้นแบบ และเทคโนโลยีล้ำๆ มาโชว์ อาทิ

‘ฮอนด้า นิววี’(Honda NeuV) รถยนต์ต้นแบบที่ขับเคลื่อนด้วยพลังงานไฟฟ้า ที่มาพร้อมกับเทคโนโลยี‘AI’หรือปัญญาประดิษฐ์ และฟังก์ชั่นการขับเคลื่อนอัตโนมัติ สามารถตรวจจับสภาวะทางอารมณ์ของผู้ขับได้ โดยประมวลผลจากการแสดงออกทางสีหน้า และหรือน้ำเสียง แล้วจึงเลือกฟังก์ชั่นที่ช่วยให้ผู้ขับสามารถขับขี่ได้อย่างปลอดภัย ยิ่งไปกว่านั้นในกรณีที่เจ้าของรถไม่ได้ใช้รถ และเจ้าของรถอนุญาต นิว วี ยังสามารถขับเคลื่อนแบบอัตโนมัติ เพื่อพาผู้อื่นไปส่งตามที่ต่างๆ ได้อีกด้วย

อีกรถต้นแบบที่นำมาอวดโฉมคือรถจักรยานยนต์ที่มีระบบช่วยการทรงตัว (Honda Riding Assist) พัฒนามาจากเทคโนโลยีควบคุมการทรงตัวของหุ่นยนต์‘อาซิโม’ รถจักรยานยนต์คันนี้สามารถตั้งได้เอง แม้มีคนขับหรือไม่มีคนขับก็ตาม ในกรณีที่ผู้ขับขี่สูญเสียการทรงตัวไปแล้วในระดับหนึ่ง รถจักรยานยนต์จะกลับมาทรงตัวได้เอง ช่วยลดความเสี่ยงที่อาจทำให้รถจักรยานยนต์ล้มลง

‘ยูนิ คัพ’(UNI-CUB)พาหนะส่วนบุคคลแนวคิด‘การกลมกลืนร่วมกับผู้คน’ พัฒนามาจากเทคโนโลยีควบคุมการทรงตัวของฮอนด้า จึงสามารถเคลื่อนที่ได้อย่างอิสระในทิศทางด้านหน้า ด้านหลัง ด้านข้าง และในแนวทแยงมุม เพียงแค่โน้มตัวไปในทิศทางที่ต้องการ มาพร้อมระบบปฏิบัติการหุ่นยนต์ (ROS – Robot Operating System) ที่สามารถใช้ได้กับโปรแกรมการเชื่อมต่อการใช้งานแอพพลิเคชั่น (API – Application Program Interface) จึงสามารถควบคุมพาหนะส่วนบุคคลเครื่องนี้ได้จากระยะไกล สามารถใช้งานได้หลายแบบ อาทิ การบริการจัดส่งของ หรือการนำทางแขกไปยังที่นั่งด้วยการตั้งโปรแกรมเส้นทางไว้ล่วงหน้า

ผมมีโอกาสได้ลองนั่งบังคับเจ้า‘ยูนิ คับ’ กับเพื่อนสื่อมวลชนจากเมืองไทย รูปลักษณ์ของ‘ยูนิ คับ’คล้ายๆ กับเก้าอี้ไม่มีพนัก การบังคับเพียงโยกตัวไปด้านหน้า-หลัง-ข้าง รถก็จะเคลื่อนตัวไปตามน้ำหนักที่เอนไป ยิ่งเอนตัวมากเท่าไหร่ความเร็วก็มากขึ้นเท่านั้น เวลาจะหยุดก็ให้นั่งตัวตรงๆ หรือถ้าจะให้เบรกแบบหยุดกึกก็โน้มตัวไปฝั่งตรงข้ามกับทิศทางที่‘ยูนิ คับ’ กำลังเคลื่อนไป ช่วงเดินหน้า-ถอยหลังนี่ไม่ยาก แต่ลำบากตอนที่ต้องบังคับเลี้ยวซิกแซก แต่หากใครได้เป็นเจ้าของและใช้บ่อยๆ น่าจะชอบ

ฮอนด้า ยังโชว์เทคโนโลยี‘Safe Swarm’ ที่อยู่ระหว่างการพัฒนา โดยรถแต่ละคันสามารถสื่อสารกันได้เหมือนฝูงปลา การสื่อสารระหว่างรถยนต์แต่ละคันผ่านอินเตอร์เน็ต (Internet-connected and vehicle-to-vehicle communication automotive technologies) จุดหมายที่คิดค้นเพื่อสร้างสังคมแห่งการเดินทาง ที่ทำให้ภาพรวมการจราจรทั้งหมดปลอดภัยและคล่องตัว ไม่เพียงแต่รถคันใดคันหนึ่งเท่านั้นแต่หมายถึงรถทั้งหมดบนถนน

การสื่อสารระหว่างรถยนต์เพื่อแบ่งปันข้อมูลเกี่ยวกับสภาพถนนและสิ่งกีดขวาง ช่วยลดการจราจรติดขัดด้วยการช่วยผู้ขับเปลี่ยนเลน และเมื่อถึงทางแยกที่มีการรวมเลน ระบบจะวิเคราะห์ความเร็วของรถ และลดความเร็วในระยะเวลาที่เหมาะสม

‘LiB-AID E500’แบตเตอรี่แปลงพลังงานไฟฟ้าขนาดพกพา ที่ให้พลังงานไฟฟ้าคุณภาพสูง เทียบเท่ากับแหล่งพลังงานจากภายในบ้าน เพิ่มงสะดวกสบายในการใช้ชีวิตประจำวัน หรือทำกิจกรรมนอกบ้าน เป็นแหล่งพลังงานที่ไม่ปล่อยค่าไอเสีย

คุ้มค่ามากกับทริปนี้ที่‘ฮอนด้า’จัดให้ เพราะรับรู้ถึงนวัตกรรมใหม่ๆ ที่น่าทึ่ง และที่สำคัญยังใส่ใจกับการพัฒนาความปลอดภัยให้คนขับรถในอนาคตอย่างมาก

ติดตามข่าวสด

ข่าวเด่นประจำวัน