สมัยนี้ คำพูดที่ว่า “จีนไทยใช่อื่นไกล พี่น้องกัน” หรือ “จงไท่อี้เจียชิน” ในภาษาจีน เป็นสำนวนพูดกันติดปาก บ่งบอกถึงมิตรภาพที่ใกล้ชิดกันระหว่างสองชนชาติ

แต่ในประวัติศาสตร์ที่ผ่านมา ความสัมพันธ์ไทย-จีนไม่ได้ราบรื่นเช่นนั้นมาตลอด บางครั้งก็มีการกระทบกระทั่ง บางครั้งคนไทยก็เหยียดแรงงานจีนว่าเป็น “ยิวบูรพาทิศ” บ้าง กล่าวหาว่าเป็นอั้งยี่บ้าง

และในสงครามเย็น ก็ถึงขั้นตัดสัมพันธ์กับจีนเมื่อ พ.ศ. 2492 พร้อมทั้งห้ามคนไทยเดินทางไปจีนเลยทีเดียว ด้วยความกลัวว่า ลัทธิคอมมิวนิสต์ของจีนจะเผยแพร่มาถึงที่ไทย

เมื่อวันที่ 22 พ.ย. ที่ผ่านมา มีการจัดงานเสวนาที่โรงแรมใบหยกสกาย (ตึกใบหยก 2) เพื่อเล่าถึงยุคสมัยความหวาดระแวงระหว่างจีนกับไทย และย้อนรอยถึงความพยายามระหว่างประชาชนทั้งสองประเทศ เพื่อฟื้นฟูความสัมพันธ์ให้กลับมาดังเดิม โดยผู้เข้าร่วมเสวนาล้วนแต่เป็นบุคคลที่มีส่วนร่วมในเหตุการณ์ประวัติศาสตร์ครั้งนั้น

ในงานเดียวกัน ยังมีการเปิดงานนิทรรศการพุทธศิลป์ไทย-จีนโบราณ ซึ่งประชาชนสามารถเข้าชมได้ถึงวันที่ 22 ธ.ค. ศกนี้ เพื่อศึกษาประวัติศาสตร์ความสัมพันธ์สองประเทศผ่านศิลปะและศรัทธาในพุทธศาสนา

ชีวิตใต้ดาวแดง

ในวงเสวนาวันนั้น ผู้ที่โดดเด่นที่สุดเห็นจะเป็น คุณวรรณไว พัธโนทัย ผู้ที่เคยถูกส่งไปเป็นลูกเลี้ยงของนายกรัฐมนตรีจีน โจว เอินไหล เมื่อปี พ.ศ. 2499 ขณะมีอายุได้เพียง 12 ปีเท่านั้น เพื่อแสดงถึงความจริงใจของไทยที่จะฟื้นมิตรภาพกับรัฐบาลจีน

คุณวรรณไวเล่าย้อนถึงวินาทีที่ทราบชะตาตัวเองว่า ตอนแรกครอบครัวบอกว่าจะส่งไปเรียนเมืองนอก จนกระทั่งบิดาของตน คุณสังข์ พัธโนทัย ซึ่งเป็นที่ปรึกษาของนายกฯจอมพล ป. พิบูลสงครามขณะนั้น บอกก่อนวันเดินทางไม่กี่วันว่า จริงๆ แล้วจะส่งไปจีนแดง

“พ่อบอกผมว่า พ่อกำลังทำเรื่องสำคัญ ลูกจะไม่ไปธรรมดานะ พ่อจะให้ไปอยู่กับนายกฯจีน” วรรณไวเล่า “ผมต้องยกย่องคุณแม่ของผม ถ้าวันนั้นคุณแม่ไม่ให้ไป ถ้าคุณแม่บอกคุณพ่อว่า หย่ากับฉันเลย แล้วไปมีลูกใหม่ไว้ส่งไปเป็นตัวประกันเองเถอะ ภารกิจนี้คงไม่สำเร็จ”

ผู้ร่วมเข้าเสวนาเล่าย้อนความหลัง ในรูปบน เป็นภาพเจ้าหน้าที่จีนยกเหล้าขาวต้อนรับคณะเดินทางไทย

วรรณไวย้ำว่า ถึงแม้จะมีคนระดับรัฐบุรุษ โจว เอินไหล เป็นผู้อุปถัมภ์ แต่สถานะจริงๆ ของเขา ก็คือไม่ต่างจากเครื่องประกันว่า ไทยจะไม่ลอบแทงจีนข้างหลังขณะที่เปิดการเจรจากับจีน เหมือนตัวประกันระหว่างอาณาจักรสมัยก่อน

“แต่ที่แปลกคือ สมัยก่อนเขาจะต้องเลือกลูกเจ้านายเป็นตัวประกัน ต้องเป็นคนระดับเดียวกัน แต่ผมไม่ได้เป็นลูกนายกฯ ไม่ได้เป็นลูกข้าราชการด้วยซ้ำไป เป็นแค่ลูกคนธรรมดา แต่เขาให้ผมเป็นตัวประกัน น่าจะเป็นครั้งแรกในประวัติศาสตร์เลย” วรรณไวกล่าว

ที่สำคัญ การเดินทางดังกล่าว ต้องปิดเป็นภารกิจลับด้วย เนื่องจากขณะนั้นไทยกับจีนตัดความสัมพันธ์กันเด็ดขาด มีกฎหมายต่อต้านคอมมิวนิสต์ที่ห้ามคนไทยเดินทางไปจีนโดยไม่ได้รับอนุญาต อีกทั้งยังต้องระวังไม่ให้สหรัฐอเมริกา ซึ่งเป็น “มหามิตร” ร่วมปราบคอมมิวนิสต์กับไทย ทราบเรื่องเด็ดขาด มิฉะนั้นอเมริกาอาจจะเดือดดาลที่ไทยลอบเปิดสัมพันธ์กับชาติศัตรูอย่างลับๆ

วรรณไวเปิดเผยว่า จริงๆ แล้วตอนแรกคุณสังข์ ผู้เป็นบิดา ก็มีทัศนคติต่อต้านจีน เหมือนกับจอมพล ป. ผู้เป็นเจ้านาย แต่คุณสังข์ค่อยๆเปลี่ยนความคิดหลังจากอ่านหนังสือประวัติศาสตร์ไทย-จีน และเล็งเห็นว่า ไทยพึ่งสหรัฐแต่เพียงผู้เดียวไม่ได้

“คุณพ่อคิดว่า ไม่ได้แล้ว จะคบแต่กับสหรัฐไม่ได้ จีนก็จะเป็นมหาอำนาจใกล้บ้านเรา จะเอาน้ำที่ไกลมาดับไฟที่ใกล้ไม่ได้” วรรณไวกล่าว “คุณพ่อเลยเปลี่ยนจากเกลียดจีน มาเป็นอยากเป็นมิตรกับจีน”

แหวกม่านไม้ไผ่

ปรากฏว่า วรรณไวกับน้องสาว คุณสิรินทร์ พัธโนทัย (ตอนนั้นอายุ 8 ขวบ) เดินทางไปจีนได้เพียงปีเดียว ก็เกิดเหตุจอมพลสฤษดิ์ ธนะรัชต์ ยึดอำนาจล้มรัฐบาลของจอมพล ป. ก่อนจะ “ปฏิวัติซ้ำ” ในปีพ.ศ. 2501 สถาปนาระบอบเผด็จการทหารโดยสมบูรณ์ และกวาดล้างผู้ต้องสงสัยว่าเป็นคอมมิวนิสต์

หลายคนถูกขังลืม บ้างก็ถูกยิงเป้าโดยไม่มีการไต่สวน หนังสือพิมพ์ถูกปิด มีการโฆษณาชวนเชื่อให้คนหวาดกลัวลัทธิคอมมิวนิสต์ ด้วยความช่วยเหลือของอเมริกา

แม้แต่คุณสังข์เอง ก็ติดร่างแหไปด้วย โดยถูกจับจำคุกพร้อมปัญญาชนอื่นๆ โทษฐานต้องสงสัยว่าฝักใฝ่คอมมิวนิสต์ วรรณไวและสิรินทร์จึงต้องใช้ชีวิตอยู่ในจีนต่อไปโดยปริยาย เพราะเกรงว่าหากกลับไทย อาจจะถูกหมายหัวตามไปด้วย รวมเวลาอยู่ที่ประเทศจีนทั้งหมด 13 ปี ก่อนจะเดินทางกลับแผ่นดินได้

แม้ว่ารัฐบาลไทยจะปิดประตูตัดการติดต่อกับจีน แต่ก็มีความพยายามฟื้นสัมพันธ์ระหว่างสองประเทศเกิดขึ้นอย่างไม่เป็นทางการ ผ่านวงการกีฬา

[gallery td_select_gallery_slide="slide" size="medium" td_gallery_title_input="ผู้บุกเบิกฟื้นสัมพันธ์ไทย-จีน" ids="1899172,1899153,1899155,1899156,1899154"]

สมัยนั้น จีนขึ้นชื่อเรื่องกีฬาปิงปองและแบดมินตันมาก จึงมีความคิดที่จะเชิญนักกีฬาแบดมินตันไทยไปแข่งที่จีน เพื่อเชื่อมมิตรภาพกัน

วีระพจน์ ภูมมะภูติ หนึ่งในทีมนักกีฬาชุดแรกที่เดินทางไปจีน เล่าความรู้สึกตอนนั้นว่า รู้สึกหวาดระแวงมากเมื่อทราบว่าจะต้องไปปักกิ่ง

“ตอนนั้นกลัวมาก เพราะเห็นโปสเตอร์ตามถนนราชดำเนิน บอกว่าจีนโหดร้ายเหมือนปีศาจ” คุณวีระพจน์เล่าความทรงจำ “ในรูปเป็นค้อนเคียวเปื้อนเลือด คนจีนตัดหัวคน”

แต่ทว่า รัฐบาลไทยปฏิเสธที่จะออกค่าเดินทางให้ ด้วยเหตุผลทางการเมืองในขณะนั้น ร้อนถึงนักธุรกิจชาวไทย-จีน “เล็งเลิศ ใบหยก” ผู้ก่อตั้งเครือโรงแรมใบหยก ต้องเรี่ยไรเงินกับเพื่อนนักธุรกิจ ซื้อตั๋วเครื่องบินให้ทีมนักกีฬาไทยไปแข่งที่จีนได้สำเร็จ

วีระพจน์เล่าว่า กว่าจะได้ไป ก็ลำบากยากเย็น เพราะตอนนั้นไม่มีสถานทูตจีนในประเทศไทย ต้องบินไปขอวีซ่าที่ฮ่องกง แล้วบินกลับมาไทย และบินไปฮ่องกงอีกรอบ เพื่อต่อเครื่องของสายการบินจีนไปปักกิ่ง

“เครื่องของจีนเป็นเครื่องเล็กๆ ครับ เวลาขึ้นบินแล้วมันสั่นไปทั้งลำ เสียงดังด้วย ทำผมใจหายใจคว่ำตลอดทาง” วีระพจน์เรียกเสียงหัวเราะจากผู้ฟัง

โปสเตอร์ต้านคอมมิวนิสต์สมัยสงครามเย็น

หลังจากเหตุการณ์นักศึกษาและประชาชนลุกฮือล้มระบอบเผด็จการที่จอมพลสฤษดิ์สร้างไว้ เมื่อวันที่ 14 ต.ค. 2516 รัฐบาลพลเรือนของไทยจึงเริ่มพยายามฟื้นฟูความสัมพันธ์ระหว่างสองประเทศอีกครั้ง

ประกอบกับบรรยากาศการเมืองโลกที่ผ่อนคลายขึ้น โดยเฉพาะการเดินทางเยือนจีนของประธานาธิบดีสหรัฐ ริชาร์ด นิกสัน ที่สร้างความตื่นตะลึงให้คนทั้งโลก เมื่อได้เห็นสองมหาอำนาจที่เคยเป็นศัตรูทางอุดมการณ์ หันมาจับมือกัน

รัฐบาลไทยได้มอบหมายให้ อานันท์ ปันยารชุน ทูตไทยประจำสหประชาชาติ (ยูเอ็น) เปิดการพูดคุยผ่านทูตจีนประจำยูเอ็น ณ นครนิวยอร์ก ขณะที่ ดอน ปรมัตถ์วินัย ซึ่งในเวลานั้นเป็นเจ้าหน้าที่หน้าใหม่ของกระทรวงการต่างประเทศ ได้รับภารกิจให้บินไปปักกิ่งพร้อมกับคณะเดินทางล่วงหน้า (advanced party) เพื่อกรุยทางสำหรับการเปิดสัมพันธ์อย่างเป็นทางการ

ในที่สุด นาทีประวัติศาสตร์ก็มาถึงในวันที่ 1 ก.ค. 2518 เมื่อนายกรัฐมนตรีคึกฤทธิ์ ปราโมช เข้าพบประธานเหมา เจ๋อตุง ผู้นำสูงสุดของรัฐบาลจีน และลงนามเปิดความสัมพันธ์กับประเทศจีนอีกครั้ง หลังจากห่างเหินกันไปนานเกือบ 20 ปี

มิตรหรือบริวาร?

ในปัจจุบัน เรียกได้ว่าความสัมพันธ์ระหว่างไทย-จีน แนบแน่นกันมากกว่าทุกช่วงสมัยที่ผ่านมา
เห็นได้จากความร่วมมือและปฏิสัมพันธ์ต่างๆ

ไม่ว่าจะเป็น โครงการรถไฟความเร็วสูงที่วิศวกรจีนจะเป็นผู้ลงมือสร้าง มูลค่าการค้าจำนวนมหาศาลระหว่างสองชาติ และกระแสความนิยมมาเที่ยวเมืองไทยในหมู่นักท่องเที่ยวจีน ซึ่งทางการไทยคาดว่า จะมีมากถึง 10 ล้านคนภายในสิ้นปีนี้

ในช่วงเวลา 40 ปีตั้งแต่การเปิดสัมพันธ์อีกครั้งกับไทย จีนยังได้พลิกโฉมหน้าประเทศตนเองครั้งใหญ่ จากประเทศยากจน ที่ประชาชนแทบไม่มีอะไรกิน กลายเป็นมหาอำนาจสำคัญทางเศรษฐกิจ การทหาร และเทคโนโลยีในภูมิภาคเอเชีย

[gallery td_select_gallery_slide="slide" size="medium" td_gallery_title_input="สานสัมพันธ์ไทย-จีน" ids="1899245,1899242,1899243,1899244,1899246,1899247"]

นักวิเคราะห์หลายคนหวาดระแวงว่า การแผ่อิทธิพลจากจีนอาจทำให้ไทยกลายเป็น “รัฐบริวาร” ของจีน แต่อดีตทูตจีนประจำประเทศไทย กล่าวในวงเสวนาว่า รัฐบาลจีนมีเจตนาที่ดี และเคารพความแตกต่างระหว่างไทยกับจีน

“จีนเชื่อตามหลักเล่าจื้อครับว่า โลกต้องมีความแตกต่าง ขนาดพระจันทร์ แต่ละคืนยังแตกต่างกันเลย ถ้าทั้งโลกนี้เป็นอันเดียวกันเหมือนกันหมด อยู่กันไม่ได้” คุณก่วน มู่ กล่าวด้วยภาษาไทยชัดแจ๋ว “ต้องแตกต่าง จึงจะอยู่กันได้”

อดีตทูตยอมรับว่า ความสัมพันธ์ระหว่างไทยกับจีนไม่ได้ราบรื่นตลอด แต่เน้นย้ำว่า เป็นเรื่องปกติระหว่างประเทศ

“ประเทศที่แข็งแกร่งกว่าเรา เคยกดหัวเราไม่ให้ทำอะไรด้วยกัน แต่ถึงจะเป็นอย่างนั้น ใจเราก็ยังเชื่อมต่อกันในยามที่คับขัน” คุณก่วนสรุป “ไม่ใช่ว่าจะไม่มีอุปสรรคเลย ขนาดพี่น้องในครอบครัวเดียวกัน ยังทะเลาะหรือขัดแย้งกันเลย จะนับประสาอะไรกับประเทศ ความขัดแย้งเป็นเรื่องปกติครับ”

เขียนโดย ธีรนัย จารุวัสตร์

นิทรรศการพุทธศิลป์ไทยจีนโบราณ จัดแสดงที่ชั้น 77 ของโรงแรมใบหยกสกาย (ใบหยก 2) เปิดทุกวันตั้งแต่เวลา 10.00 – 22.00 ถึงวันที่ 22 ธ.ค. 2561 ค่าเข้าชมราคา 400 บาท โดยราคานี้รวมบัตรขึ้นดาดฟ้าจุดชมวิวที่ชั้นบนสุดของโรงแรมด้วย

ติดตามข่าวสด

ข่าวเด่นประจำวัน