จีนจับมือ 5 ประเทศพื้นที่ ลุ่มน้ำโขง สร้างโมเดลลดปัญหาความยากจน ให้คนที่อาศัยอยู่ในพื้นที่ป่า ด้าน กรมป่าไม้ เสนอผลงานรัฐบาลไทยการหยุดยั้งการตัดไม้ทำลายป่า ระบุสามารถรักษาพื้นที่ป่าไม้ให้คงที่ ปราบปรามการตัดไม้ทำลายป่า

เมื่อวันที่ 4 ธ.ค. นายอรรถพล เจริญชันษา อธิบดีกรมป่าไม้ กระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม (ทส.) เปิดเผยว่า จากการประชุมประเทศในพื้นที่ลุ่มน้ำโขง 6 ประเทศ ได้แก่ กัมพูชา จีน ลาว เมียนมา ไทย และเวียดนาม ซึ่งการสัมมนาครั้งนี้มีการนำเสนอข้อมูลภาพรวมของแต่ละประเทศ พร้อมทั้งแลกเปลี่ยนข้อมูลและความเห็นในประเด็นการลดปัญหาความยากจนให้ประชาชนในพื้นที่ป่าไม้

นายอรรถพล กล่าวต่อว่า สำหรับประเทศไทย กรมป่าไม้ได้นำเสนอผลการดำเนินงานของรัฐบาลไทยในการหยุดยั้งการตัดไม้ทำลายป่า โดยการจัดตั้งคณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการตัดไม้ทำลายป่าแห่งชาติ (คปป.) และศูนย์ปฏิบัติการพิทักษ์ป่า กระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม (ศปก.พป.)

“ทำให้เราสามารถรักษาพื้นที่ป่าไม้ให้คงที่ ปราบปรามการตัดไม้ทำลายป่าไปพร้อมๆ กับการพัฒนาคุณภาพชีวิตให้ประชาชนที่อาศัยอยู่ในป่า โดยนำเสนอโครงการที่สำคัญในการบริหารจัดการทรัพยากรป่าไม้ของประเทศไทย จำนวน 3 โครงการ ได้แก่ 1.โครงการจัดที่ดินทำกินให้ชุมชน 2.โครงการจัดการป่าชุมชน” อธิบดีกรมป่าไม้ กล่าว

นายอรรถพล กล่าวอีกว่า โครงการที่ 1 โครงการจัดที่ดินทำกินให้ชุมชน การจัดที่ดินในลักษณะแปลงรวมเพื่อให้ชุมชนที่อาศัยอยู่ในพื้นที่ป่าหรือพื้นที่ของรัฐอื่นๆ ได้อาศัยอยู่อย่างถูกกฎหมายภายใต้เงื่อนไขของแต่ละบุคคลและพื้นที่ โดยที่ดินยังเป็นของรัฐ มีการกำหนดพื้นที่อยู่อาศัยและทำกินที่ชัดเจนในลักษณะแปลงรวม

ทั้งนี้ ผู้ที่มีคุณสมบัติในการเข้าร่วมโครงการไม่รวมถึงผู้ที่เป็นนายทุนและผู้ที่เข้ามาบุกรุกป่าใหม่ โครงการดังกล่าวเป็นเครื่องมือในการช่วยพัฒนาคุณภาพชีวิตของชุมชนที่อาศัยอยู่ในเขตป่าให้ดีขึ้น ไม่ไปบุกรุกพื้นที่ป่าเพิ่มเติม ซึ่งมีคณะอนุกรรการที่รับผิดชอบใน 3 ด้าน ได้แก่ การจัดหาที่ดิน การจัดที่ดิน และการพัฒนาอาชีพ

นายอรรถพล กล่าวว่า ส่วนโครงการจัดการป่าชุมชน จะช่วยให้ประชาชนในท้องถิ่นได้มีส่วนร่วมจัดการทรัพยากรป่าไม้ที่อยู่ใกล้กับหมู่บ้านของตน โดยมีหลักการที่ว่าให้คนที่ดูแลป่าได้ประโยชน์จากการดูแลป่า โครงการจัดการป่าชุมชนช่วยลดปัญหาของการตัดไม้ทำลายป่า และช่วยในการลดรายจ่ายเพิ่มรายได้ให้คนในหมู่บ้าน

“โดยผลการศึกษาพบว่า ป่าชุมชนในประเทศไทย 1 แห่ง สร้างมูลค่าทางเศรษฐศาสตร์ให้คนในหมู่บ้าน เฉลี่ยประมาณ 1 ล้านบาทต่อปี นอกจากนี้ ป่าชุมชนยังมีส่วนช่วยในการกักเก็บคาร์บอน กักเก็บน้ำในดิน ปัจจุบันประเทศไทยอยู่ระหว่างการจัดทำ พรบ.ป่าชุมชน พ.ศ. … เพื่อให้เกิดประโยชน์สูงสุดในการบริหารจัดการป่าชุมชน โดยประชาชนที่อาศัยอยู่รอบป่าชุมชน ตลอดจนประชาชนทั่วประเทศมีส่วนร่วม” นายอรรถพล กล่าว

อธิบดีกรมป่าไม้ กล่าวต่อว่า สุดท้ายโครงการที่ 3 ส่งเสริมการปลูกไม้เศรษฐกิจเพื่อให้เป็นไปตามนโยบายป่าไม้แห่งชาติ ซึ่งกำหนดให้มีพื้นที่ป่าเศรษฐกิจร้อยละ 15 ของพื้นที่ประเทศ และยุทธศาสตร์ชาติ ในยุทธศาสตร์ที่ 5 การสร้างการเติบโตบนคุณภาพชีวิตที่เป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อม ซึ่งกำหนดให้มีพื้นที่สีเขียวไม่น้อยกว่าร้อยละ 55 ของพื้นที่ประเทศ

ไม่พลาดข่าวสำคัญ แค่กดเป็นเพื่อนกับ ไลน์@ข่าวสด ที่นี่เพิ่มเพื่อน

นายอรรถพล กล่าวอีกว่า ประเทศไทยจึงสนับสนุนให้มีการปลูกไม้มีค่าทางเศรษกิจเพื่อพัฒนาคุณภาพชีวิตของเกษตรกรสวนป่า อีกทั้งเป็นการเพิ่มพื้นที่ป่าและแก้ปัญหาการตัดไม้ในพื้นที่ป่า โดยปัจจุบันรัฐบาลมีนโยบายในการปรับปรุงกฎหมายกฎหมายป่าไม้ และจัดทำระบบการรับรองไม้ หรือ อี-ทรี (e-Tree) เพื่อเป็นการลดขั้นตอนและอำนวยความสะดวกกับเกษตรกรสวนป่า นอกจากนี้ กรมป่าไม้ยังสนับสนุนกล้าไม้ให้กับผู้ที่สนใจปลูกต้นไม้ปีละไม่ต่ำกว่า 50 ล้านกล้า

“ที่ประชุมให้ความสนใจในการจัดการทรัพยากรป่าไม้ของไทยเกี่ยวกับประเด็นของการนำระบบอี-ทรีมาใช้ในกระบวนการรับรองไม้ผ่านระบบออนไลน์ เพื่อเป็นการส่งเสริมการปลูกไม้เศรษฐกิจและอำนวยความสะดวกให้กับเกษตรสวนป่า ตลอดจนประเด็นด้านความสำเร็จที่เป็นรูปธรรมของประเทศไทย จากการดำเนินโครงการความร่วมมือต่างๆ กับหน่วยงานภายนอกด้วย” อธิบดีกรมป่าไม้ กล่าวทิ้งท้าย

ติดตามข่าวสด

ข่าวเด่นประจำวัน