เขียนโดย ธีรนัย จารุวัสตร์

ตั้งแต่ประธานาธิบดีจีน “สี จิ้นผิง” ประกาศโครงการ “หนึ่งแถบหนึ่งเส้นทาง” หรือ “一带一路” ในภาษาจีน ซึ่งเป็นความฝันที่จะเชื่อมจีนและภูมิภาคเอเชียด้วยระบบคมนาคมอย่างสมบูรณ์เมื่อปี 2556 นั้น โครงการนี้ได้รับความสนใจตามหน้าสื่อมาตลอด

ในช่วง 6 ปีที่ผ่านมา จีนเดินหน้าร่วมมือกับหลายประเทศในการพัฒนาโครงข่ายคมนาคมอย่างต่อเนื่อง ไม่ว่าจะเป็นการร่วมมือทางวิทยาการ การกู้ยืมเงิน และความช่วยเหลือด้านทุนทรัพย์ต่างๆ จนปัจจุบันมีผลงานให้เห็นเป็นรูปธรรมบ้างแล้ว อย่างโครงการรถไฟความเร็วสูงระหว่างกรุงจาการ์ต้า – นครบันดุง ณ ประเทศอินโดนีเซีย ที่คืบหน้าไปมาก

อย่างไรก็ตาม มีคำถามและความกังวลเกี่ยวกับ “หนึ่งแถบหนึ่งเส้นทาง” จากคนไทยจำนวนมากเช่นกัน โดยเฉพาะประเด็นว่า จีนมีแผนที่จะ “ยึด” ประเทศไทยผ่านโครงการนี้หรือไม่

แผนผังแสดงเส้นทางทางรถไฟความเร็วสูงที่จะเชื่อมไทยกับจีน

และไทยจะตกอยู่ใน “กับดับหนี้” (debt trap) ของจีนตามที่สื่อตะวันตกประโคมข่าวเช้าเย็นหรือไม่?

ผมแบกข้อสงสัยจากผู้อ่านชาวไทยเหล่านี้ไปยังประเทศจีนเมื่อต้นเดือนที่ผ่านมา เพื่อเข้าร่วมการศึกษาดูงานเกี่ยวกับโครงการหนึ่งแถบหนึ่งเส้นทาง ณ กรุงปักกิ่ง และได้มีโอกาสเข้าประชุมร่วมกับเจ้าหน้าที่ระดับสูงของกระทรวงต่างประเทศจีนโดยตรง

คุณ Wang Tianxiang ที่ปรึกษาอาวุโสของคณะทำงานภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ สรุปอย่างไม่อ้อมค้อมเลยว่า ความกลัวและกังวลเกี่ยวกับเจตนาที่ดีของจีนหลายครั้งมาจากอคติที่สื่อบางแขนงปลุกปั่นขึ้นมา

“ปัจจุบันโรคกลัวจีน (Chinaphobia) กำลังแพร่กระจายในหลายที่ ไม่ใช่แค่เฉพาะเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ แต่ในอีกหลายประเทศด้วย” คุณ Wang กล่าวกับคณะผู้สื่อข่าว “แต่ถ้าหากผู้คนลองถอดแว่นตาที่เคลือบสีออก พวกเขาก็จะเห็นความคืบหน้าและการพัฒนาต่างๆ ที่เราได้ทำไว้”

เจ้าหน้าที่ท่านนี้กล่าวเพิ่มเติมว่า ทั้งกัมพูชาและลาวต่างได้ประโยชน์จากการลงทุนเชื่อมรถไฟในประเทศทั้งสองกับจีน เพื่อเพิ่มประสิทธิภาพในการขนส่งทั้งคนและสินค้า ขณะที่นโยบายความร่วมมือระหว่างจีนกับไทยก็ยังเดินหน้าต่อ

“บางคนยังเอาเรื่อง ‘กับดับหนี้’ ขึ้นมาพูดเรื่อยๆ” คุณ Wang กล่าว “รัฐบาลของเราได้ชี้แจงไปหลายรอบแล้ว เรื่องนี้เป็นการกล่าวหากันอย่างเลื่อนลอย”

กับดักหนี้ จริงหรือมั่วนิ่ม?

สำหรับใครที่ติดตามอ่านข่าวเกี่ยวกับโครงการหนึ่งแถบหนึ่งเส้นทาง คงจะพอคุ้นกับการถกเถียงเรื่อง “กับดักหนี้” อยู่บ้าง โดยทฤษฎีนี้ระบุว่า จีนกำลังปล่อยกู้ให้ประเทศอื่นๆ เพื่อนำไปลงทุนด้านคมนาคม แต่เมื่อเกิดปัญหาขึ้นมา จีนก็จะเข้ายึดกิจการเป็นของตน

แต่คุณ Wang ระบุว่า สถิติและตัวเลขไม่ได้สนับสนุนข้อกล่าวหานี้เลย ยกตัวอย่างฟิลิปปินส์ ที่สื่อตะวันตกเตือนบ่อยครั้งว่าจะตกเป็นบริวารจีน มีหนี้เพียงร้อยละ 1 ที่มาจากจีน ขณะที่มีญี่ปุ่นเป็นเจ้าหนี้ถึงร้อยละ 9!

ก่อนหน้านี้ โฆษกสถานทูตจีนประจำประเทศไทย ก็เขียนบทความชี้แจงกับ “ข่าวสด” มาแล้วว่า สัดส่วนหนี้ของประเทศจีนในบรรดาชาติที่จีนลงทุนด้วย ถือว่าน้อยมากเมื่อเทียบกับหนี้จากประเทศหรืออื่นๆ

เช่น ศรีลังกามีหนี้รวมทั้งหมดกว่า 6.5 หมื่นล้านดอลลาร์สหรัฐ ในจำนวนนี้มีหนี้จากจีนเพียง 8.5 พันล้านดอลลาร์เท่านั้น หรือคิดเป็นนเพียงร้อยละ 10 ของหนี้ที่กู้จากต่างชาติทั้งหมดของศรีลังกา

บรรยากาศการประชุมร่วมกันระหว่างคณะผู้สื่อข่าวกับเจ้าหน้าที่กระทรวงต่างประเทศจีน

ส่วนกรณีท่าเรือ Hambantota ในศรีลังกาที่สื่อตะวันตกบอกว่า “กู้จนโดนจีนยึด” ที่จริงแล้วสร้างหลายปีก่อนมีโครงการหนึ่งแถบหนึ่งเส้นทางด้วยซ้ำ และกลายเป็นขาดทุนเพราะความไม่สงบในประเทศ จนกระทั่งรัฐบาลศรีลังกาขอให้รัฐบาลจีนช่วยเข้าซื้อ เพื่อผ่อนภาระทางการเงิน ไม่ใช่ “โดนยึด” แต่อย่างใด

ขณะที่ปากีสถาน อีกหนึ่งประเทศในโครงการหนึ่งแถบหนึ่งเส้นทาง มีหนี้จากจีนเพียงร้อยละ 10

แม้แต่โครงการรถไฟความเร็วสูงในมาเลเซีย จีนก็ยอมลดราคาค่าก่อสร้างและยกเลิกสถานีบางแห่งเพราะทางการมาเลเซียมองว่าไม่คุ้มค่า แสดงถึงความจริงใจในการเจรจาและรอมชอมของจีน ไม่ใช่ว่าจะตะบันสร้างอยู่ท่าเดียว

“การปลุกกระแสข้อกล่าวหาเท็จเหล่านี้คือสิ่งที่จีนต้องประสบเจอ เมื่อประเทศจีนแข็งแกร่งขึ้นเรื่อยๆ” คุณ Wang กล่าวด้วยน้ำเสียงน้อยใจ

เมื่อถามว่า จีนจะทราบได้อย่างไรว่าประเทศใดสามารถจ่ายหนี้คืนให้จีนได้ และโครงการใดจะมีผลสัมฤทธิ์ไม่กลายเป็นหนี้เน่าจริง เจ้าหน้าที่ท่านนี้ตอบว่า รัฐบาลจีนให้ความสำคัญแก่หนึ่งแถบหนึ่งเส้นทางอย่างมาก ดังนั้น ก่อนจะปล่อยกู้หรือริเริ่มโครงการใดๆ จีนต้องทำการศึกษาความเป็นไปได้ว่าคุ้มค่าหรือไม่ (feasibility study) และตรวจสอบว่าตรงกับความต้องการของทั้งประชาชนและประเทศชาติหรือไม่

“โครงการทุกอย่างต้องผ่านการประเมินอย่างเป็นวิทยาศาสตร์” คุณ Wang กล่าว

ความคืบหน้าการขุดอุโมงค์สร้างทางรถไฟจีน-ลาวที่ประเทศลาว (ภาพจาก ABC Laos News)

หลังจากผมกลับจากประเทศจีนแล้ว บังเอิญบริษัทวิเคราะห์เศรษฐศาสตร์ Fitch Solutions เผยแพร่รายงานพอดีว่า ประเทศที่ลงทุนในด้านสาธารณูปโภคในภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้เป็นอันดับหนึ่ง ไม่ใช่จีน แต่คือญี่ปุ่นต่างหาก

โดยยอดเม็ดเงินทั้งหมดในกลุ่มประเทศเอเชียอาคเนย์นั้น ญี่ปุ่นอยู่ที่ 3.67 แสนล้าน ขณะที่จีนมีเพียง 2.55 แสนล้าน ญี่ปุ่นมีโครงการร่วมลงทุนทั้งหมด 240 โครงการ ส่วนจีนมี 210 โครงการ ซึ่งในจำนวนนี้ ญี่ปุ่นมี 15 โครงการในประเทศไทย เทียบกับ 9 โครงการของจีน หรือน้อยกว่าเกือบเท่าตัว

ทำให้น่าสนใจว่า ความเข้าใจกับความเป็นจริง ตรงกันมากน้อยเพียงใด?

‘เราได้กำไร คุณได้ของไว้ใช้’

อย่างไรก็ตาม ยังมีความกังวลเกี่ยวกับอิทธิพลของจีนต่อประเทศเพื่อนบ้าน เพราะเมื่อจีนใกล้ชิดกับเพื่อนบ้านมากขึ้น ก็คงมีการปะทะกันระหว่างความแตกต่างตามมาด้วย

คนที่กังวลเรื่องนี้มากที่สุดเห็นจะเป็นเพื่อนนักข่าวจากกัมพูชา 2 ท่านในคณะสื่อ ที่ถามเจ้าหน้าที่ฝ่ายจีนว่า จีนจะรับผิดชอบและควบคุมผลกระทบของธุรกิจจีนในประเทศพวกเขาได้อย่างไร

นักข่าวกัมพูชาอธิบายว่า ปัจจุบันที่เมืองสีหนุวิลล์ มีปัญหาความกระทบกระทั่งกันระหว่างชาวจีนที่เดินทางเข้ามาเป็นจำนวนมากเพื่อทำธุรกิจ ลงทุน หรือทำงานก่อสร้างตามโครงการของจีนในพื้นที่

อ่านข่าวเพิ่มเติม: คลิปตี๋กร่างถิ่นกัมพูชา แพร่สะพัด ตะโกนยึดเมืองสีหนุวิลล์ใน 3 ปี

บางครั้งชาวจีนขับขี่รถไม่เคารพกฎจราจร บ้างก็ตั้งกลุ่มอาชญากรออกปล้นจี้ ขณะที่นักลงทุนจีนกว้านซื้อโรงแรมหรือธุรกิจต่างๆในเมืองจนชาวกัมพูชาไม่เหลือทรัพย์สินในมือ ฯลฯ

กาสิโนของชาวจีนในสีหนุวิลล์ (ภาพจาก Phnom Penh Post)

เรื่องนี้คุณ Wang มองว่าเกิดจากพฤติกรรมของปัจเจกบุคคล จะเหมารวมว่าคนจีนทุกคนเป็นแบบนั้นไม่ได้ พร้อมกล่าวว่า ปัญหาอาชญากรรมหรือความไม่เท่าเทียมต่างๆ ควรจะแก้ไขด้วยความร่วมมือระหว่างรัฐบาลจีนและกัมพูชา

“ถ้าหากทั้งสองฝ่ายร่วมมือกัน ปัญหาต่างๆก็สามารถแก้ไขได้ ปัจจุบันนี้คนจีนปรับปรุงตัวอยู่เสมอ” คุณ Wang เสนอ “[การละเมิดกฎหมาย] ไม่ใช่นิสัยของคนจีน นักท่องเที่ยวญี่ปุ่น 30-40 ปีก่อน ก็ถูกมองในแง่ลบแบบนี้เหมือนกัน แต่ต่อมาพวกเขาก็ปรับปรุงตัวเอง”

ที่ปรึกษาระดับสูงท่านนี้กล่าวด้วยว่า ความกังวลว่าจีนหลอกใช้หรือหวังจะครอบงำชาติเอเชียนั้นไม่จริงเลย เพราะระบบสาธารณูปโภคและคมนาคมต่างๆ เมื่อสร้างเสร็จแล้ว ก็ตกเป็นของชาตินั้นๆเพื่อให้ได้ไปอีก 50-100 ปี นับว่าเป็นความร่วมมือแบบ “วิน-วิน”

“บริษัทจีนได้กำไร ซึ่งเป็นเรื่องธรรมชาติอยู่แล้ว ส่วนประเทศพวกคุณก็ได้ของไว้ใช้” คุณ Wang สรุป

 

ปล. สำหรับบทความตอนต่อไป จะขอนำเสนอ “เส้นทางสายไหมยุคใหม่” ซึ่งเป็นการฟื้นเส้นทางสายไหมในประวัติศาสตร์มาเป็นทางรถไฟขนสินค้าที่เชื่อมจีนกับเมืองต่างๆในยุโรปด้วยเวลาเดินทางเพียง 2 สัปดาห์

ติดตามข่าวสด

ข่าวเด่นประจำวัน