พบซากวัดโบราณเมืองต้าหลี่ เก่าแก่ย้อนถึงสมัยอาณาจักรน่านเจ้า

พบซากวัดโบราณเมืองต้าหลี่ ซินหัว รายงานว่า สถาบันวิจัยวัตถุทางวัฒนธรรมและโบราณคดี แห่งมณฑล อวิ๋นหนาน (ยูนนาน) ทางตะวันตกเฉียงใต้ของจีน ระบุว่าคณะนักโบราณคดีขุดพบซากวัดโบราณที่มีความเก่าแก่ย้อนไปถึงสมัยอาณาจักรน่านเจ้า (State of Nanzhao) ซึ่งเป็นสังคมทาสที่เกิดขึ้นในสมัยราชวงศ์ถัง (ปี 618-907)

จูจงหัว นักวิจัยผู้นำโครงการขุดค้นทางโบราณคดีครั้งนี้ กล่าวว่าซากวัดโบราณนี้ตั้งอยู่ที่โบราณสถานอู่จื่อซาน ในเมืองต้าหลี่ โดยนักโบราณคดีค้นพบฐานอาคาร 14 ฐาน กำแพงหิน 63 แห่ง และคูน้ำ 23 แห่ง รวมถึงกระเบื้องหนักมากกว่า 40 ตัน และวัตถุโบราณต่างๆ เช่น เครื่องปั้นดินเผาอีกมากกว่า 17,300 ชิ้น

พบซากวัดโบราณเมืองต้าหลี่

ภาพจากสถาบันวิจัยวัตถุทางวัฒนธรรมและโบราณคดีแห่งมณฑลยูนนาน : กระเบื้องที่พบในซากวัดโบราณในเมืองต้าหลี่ ทางตะวันตกเฉียงใต้ของประเทศจีน วันที่ 13 ม.ค. 2021 / Xinhua

ตั้งแต่เดือนมกราคมถึงกรกฎาคม ปี 2020 นักโบราณดีได้ดำเนินการขุดค้นบนพื้นที่ 6,000 ตารางเมตรของโบราณสถานแห่งนี้ ซึ่งตั้งอยู่ห่างออกไปทางทิศใต้ของเมืองไท่เหอเพียง 600 เมตร โดยเมืองไท่เหอที่ว่านี้คืออดีตเมืองหลวงแห่งแรกของอาณาจักรน่านเจ้า ซึ่งก่อตั้งขึ้นหลังจากหัวหน้าชนเผ่าไป๋ได้รวบรวม 6 ชนเผ่าในภูมิภาคเอ่อไห่ (Erhai Region) ให้เป็นหนึ่งเดียว

พบซากวัดโบราณเมืองต้าหลี่

ภาพจากสถาบันวิจัยวัตถุทางวัฒนธรรมและโบราณคดีแห่งมณฑลยูนนาน : วันที่ 13 ม.ค. 2021 / Xinhua

สถาบันระบุว่า นักวิจัยค้นพบกระเบื้องจารึกคำว่า “พระพุทธสรีระประดิษฐานโดยส่วนกลาง” ในซากวัดโบราณแห่งนี้ ซึ่งบ่งชี้ว่าพระบรมสารีริกธาตุของราชวงศ์น่านเจ้าอาจจะถูกประดิษฐานและเป็นที่สักการะบูชาอยู่ภายในวัด ซึ่งทำให้นักวิจัยคาดว่าวัดแห่งนี้จะอาจเป็นสถานประกอบพิธีทางศาสนาแห่งสำคัญของเมืองไท่เหอ

สำหรับึำว่า สรีระ (Sarira) เป็นคำทั่วไปที่มีหลายความหมาย แต่มักใช้เพื่ออธิบายถึงอัฐิที่เหลือจากการฌาปนกิจ โดยเชื่อกันว่าอัฐิของพระอาจารย์ในพุทธศาสนามักจะมีลูกปัดคริสตัลหรือวัตถุที่คล้ายกับไข่มุกอยู่ด้วย’

ภาพจากสถาบันวิจัยวัตถุทางวัฒนธรรมและโบราณคดีแห่งมณฑลยูนนาน /Xinhua

นักโบราณคดีพบเตาเผาอิฐและเตาเผากระเบื้อง และยังพบตะปู ปะเก็น แบบพิมพ์ และเครื่องเผาอื่นๆ อีกจำนวนมาก รวมถึงเครื่องปั้นดินเผาเคลือบที่ชำรุดจำนวนหนึ่ง ทางด้านตะวันออกของซากวัด

สถาบันระบุว่า การขุดค้นครั้งนี้ช่วยเผยให้เห็นถึงลักษณะโครงสร้างของวัดที่ถูกสร้างขึ้นในสมัยอาณาจักรน่านเจ้า ความสามารถในการผลิตของเตาเผา และธรรมเนียมประเพณีด้านพิธีศพของราชวงศ์

ทั้งนี้ น่านเจ้าเป็นอาณาจักรที่ครอบคลุมพื้นที่ซึ่งปัจจุบันคือมณฑลยูนนาน รวมถึงบางส่วนของมณฑลซื่อชวน (เสฉวน) และมณฑลกุ้ยโจว ส่วนเมืองไท่เหอคือศูนย์กลางทางการเมืองและวัฒนธรรมของอาณาจักรแห่งนี้

ติดตามข่าวสด

ข่าวเด่นประจำวัน