ผู้ช่วยรัฐมนตรี กระทรวงการคลัง เผยยอดผู้ขอยกเลิกลงทะเบียน เราไม่ทิ้งกัน พุ่งกว่า 6.1 แสนคน หลังเอาจริง แจ้งจับมือโพสต์เท็จ-ตัดสิทธิ์ ริบคืน, โพสต์ป่วนโดนคดี

วันที่ 11 เม.ย. นายชาญกฤช เดชวิทักษ์ ผู้ช่วยรัฐมนตรีประจำนายกรัฐมนตรี (ปฏิบัติงานกระทรวงการคลัง) กล่าวว่า ภายหลังจากที่กระทรวงการคลังปรับแก้ไขระบบเว็ปไซด์ www.เราไม่ทิ้งกัน.com เพิ่มปุ่มยกเลิกลงทะเบียน เพื่อให้โอกาสกับประชาชนที่อาจจะไม่ได้ตั้งใจกรอกข้อมูลอันเป็นเท็จให้สามารถไปยกเลิกการลงทะเบียนได้

นายชาญกฤช กล่าวต่อว่า โดยปุ่มยกเลิกลงทะเบียนเริ่มให้บริการตั้งแต่วันที่ 4 เม.ย.ที่ผ่านมา จนถึงขณะนี้วันที่ 11 เม.ย. รวมเวลา 8 วัน มียอดผู้ขอลงทะเบียนยกเลิกเข้าร่วมมาตรการรับเงินเยียวยาผู้ที่ได้รับผลกระทบจากการระบาดของไวรัสโควิด-19 แล้ว จำนวนกว่า 610,000 คน หรือคิดเป็นอัตราเฉลี่ยมีประชาชนเข้าใช้บริการปุ่มยกเลิกกว่า 76,000 คนต่อวัน ซึ่งถือว่าเป็นจำนวนที่ค่อนข้างสูง

นายชาญกฤช กล่าวอีกว่า ส่วนหนึ่งอาจจะเป็นเพราะกระทรวงการคลังได้ดำเนินการทางกฎหมายกับผู้กระทำผิดอย่างจริงจัง โดยสั่งการทีมกฎหมายของสำนักงานเศรษฐกิจการคลัง (สศค.) ตรวจสอบอย่างเร่งด่วน และล่าสุดเมื่อวันที่ 10 เม.ย. กระทรวงการคลังได้ยื่นเอกสารหลักฐานประสานความร่วมมือไปยังศูนย์ปราบปรามอาชญกรรมทางเทคโนโลยีสารสนเทศ สำนักงานตำรวจแห่งชาติ (ตร.)

ยอดยกเลิก เราไม่ทิ้งกัน พุ่งกว่า 6.1 แสนคน

ยอดยกเลิก เราไม่ทิ้งกัน พุ่งกว่า 6.1 แสนคน

นายชาญกฤช กล่าวว่า เพื่อร้องทุกข์กล่าวโทษให้ดำเนินการเอาผิดกับผู้โพสต์ข้อความลงสื่อสังคมออนไลน์เกี่ยวกับเงินเยียวยาโควิด-19 จำนวน 5,000 บาท ทั้งหมด 5 ราย ซึ่งยิ่งทำให้ตัวเลขขอยกเลิกการลงทะเบียนพุ่งสูงถึง 5,000 ราย ภายในเวลาเพียง 2 ชั่วโมง ตั้งแต่เวลา 20.00-22.00 น.ของวันที่ 10 เม.ย.ที่ผ่านมา

นายชาญกฤช กล่าวด้วยว่า กระทรวงการคลังได้ตั้งทีมกฎหมายเพื่อติดตามการเผยแพร่ข้อมูลของบุคลลต่าง ๆ ในโลกออนไลน์ที่เกี่ยวข้องกับการแจกเงิน 5,000 บาทในทางที่ไม่สมควร โดยแบ่งเป็น 2 กรณี คือ กรณีที่ 1 คนที่ได้รับเงิน 5,000 บาทจริง และมีการไปโพสต์ผ่านสื่อสังคมออนไลน์ต่าง ๆ ว่า ได้เงินมาอย่างที่ไม่ควรได้

ซึ่งทางกระทรวงการคลังจะทำการตรวจสอบข้อมูลย้อนกลับ หากพบว่าผู้นั้นขาดคุณสมบัติจริงก็จะทำการระงับการจ่ายเงินในเดือนต่อไป และให้ส่งเงินที่ได้รับ 5,000 แรกคืนให้กับรัฐบาล โดยที่รัฐบาลจะไม่ดำเนินคดี

ส่วนกรณีที่ 2 ผู้โพสต์ข้อความในสื่อสังคมออนไลน์ว่าได้รับเงิน 5,000 บาท แต่ไม่ได้รับจริง ถือเป็นการสร้างความปั่นป่วนกับสังคม กระทรวงการคลังจะดำเนินคดีทางกฎหมายเอาผิดต่อไป การนำเข้าข้อมูลเป็นเท็จเข้าสู่ระบบคอมพิวเตอร์

________________________________________________

อ่านข่าวที่เกี่ยวข้อง

เกาะติดข่าวโควิด กดติดตามไลน์ข่าวสด official account ได้ที่นี่
เพิ่มเพื่อน

ติดตามข่าวสด

ข่าวเด่นประจำวัน