สธ.ย้ำสถานการณ์โควิดดีขึ้นทั้ง กทม.และต่างจังหวัด แต่ยังต้องเข้มมาตรการต่อเนื่อง ให้เหลือผู้ป่วยน้อยที่สุด ส่วนผ่อนคลายมาตรการ ต้องพิจารณาเป็นพื้นที่ไป

วันนี้ (13 เม.ย.) นพ.ธนรักษ์ ผลิพัฒน์ รองอธิบดีกรมควบคุมโรค (คร.) กระทรวงสาธารณสุข (สธ.) กล่าวถึงสถานการณ์โรคโควิด-19 ว่า ทั้ง กทม.และต่างจังหวัดแนวโน้มดีขึ้นเป็นลำดับ แต่ยังมีความจำเป็นมากที่จะต้องคงมาตรการต่างๆ ไปอีกระยะหนึ่ง เพื่อให้ผู้ป่วยเหลือน้อยที่สุดเท่าที่จะเป็นไปได้ กรณีบุคลากรทางการแพทย์ติดเชื้อมี 102 ราย

ที่เพิ่มขึ้นเพราะมีการปรับนิยามเพื่อให้ตรวจจับบุคลากรที่ติดเชื้อได้เร็วขึ้น เพื่อป้องกันผลกระทบกับทั้งบุคลากรและประชาชน ทั้งนี้ จำนวนบุคลากรที่ติดเชื้อพบว่า ติดจากการดูแลรักษาผู้ป่วย 65% ติดจากชุมชนประมาณ 20% ที่เหลือไม่สามารถระบุว่า ติดเชื้อจากที่ไหน แยกเป็นพยาบาล 40% แพทย์ 10% ผู้ช่วยพยาบาล/ผู้ช่วยแพทย์ 10% ที่เหลือเป็นตำแหน่งหน้าที่อื่นๆ

“สำหรับช่วงนี้ที่มีฝนตกหลายพื้นที่ ทั้งความชื้นและอากาศที่เย็นขึ้น ทำให้เชื้อจะสามารถอยู่ในสิ่งแวดล้อมได้นานขึ้น สิ่งที่ประชาชนต้องทำยังเหมือนเดิม คือ สวมหน้ากากอนามัย ล้างมือบ่อยๆ กินร้อน ใช้ช้อนกลางส่วนตัว หลีกเลี่ยงการไปในที่ที่คนเยอะๆ

แต่ที่แนะนำเพิ่มเนื่องจากประชาชนต้องใช้หน้ากากชนิดผ้า เพราะฉะนั้นจะมีความชุ่ม จึงขอให้สำรองหน้ากากผ้าไว้วันละหลายๆ ชิ้น ถ้าโดนฝน ละอองฝนแล้วหน้ากากชื้นขอให้เปลี่ยนใหม่ อย่าใช้หน้ากากผ้าทั้งๆ ที่มีความชื้น” นพ.ธนรักษ์ กล่าว

เมื่อถามว่า ตัวเลขผู้ป่วยลดลงต่อเนื่อง เกือบเท่าสถานการณ์ก่อนปิดพื้นที่ จะมีการผ่อนคลายพื้นที่ไหนหรือไม่ นพ.ธนรักษ์ กล่าวว่า ตอนนี้สถานการณ์ผู้ป่วยในไทยดีขึ้นค่อนข้างมาก แต่ยังต้องขอความร่วมมือจากประชาชนในการปฏิบัติตามคำแนะนำของ สธ.อย่างเคร่งครัด ส่วนเรื่องการผ่อนคลายมาตรการเข้มในบางพื้นที่นั้น ตรงนี้เริ่มๆ จะผ่อนคลายไปบ้างแล้ว ดูเป็นบางพื้นที่

แต่ที่ยังต้องปิดเด็ดขาด คือ สถานที่ที่เอาคนไปรวมกลุ่มกันมาก เช่น สนามมวย สถานบันเทิง ส่วนพวกร้านค้า ร้านอาหาร หน่วยงานที่เกี่ยวข้องในพื้นที่อาจพิจารณาเปิดได้ แต่ต้องจัดการใหม่ เช่น การจัดโต๊ะต้องห่างกัน รวมถึงธนาคารซึ่งมีความสำคัญในขณะนี้ อาจจะต้องพิจารณาจัดเว้นระยะห่างของตู้เอทีเอ็มเพิ่มเติม จากที่เคยวางติดกัน ก็ต้องเพิ่มความห่าง

ผู้สื่อข่าวถามว่า ถ้าพิจารณาเป็นพื้นที่ การเดินทางข้ามจังหวัดยังต้องห้ามหรือเข้มงวดหรือไม่ นพ.ธนรักษ์ กล่าวว่า เรื่องนี้ก็ต้องพิจารณาเป็นพื้นที่เช่นกัน หากเดินทางจากพื้นที่เสี่ยงไปยังพื้นที่ที่ไม่มีการระบาด ต้องมีการกักตัวอย่างเข้มข้น 14 วัน ส่วนพื้นที่ที่ไม่มีการระบาดไปยังพื้นที่มีการระบาดก็ต้องทำเรื่องการเว้นระยะห่าง

ส่วน กทม.ที่ประกาศของผู้ว่าฯ มีผลถึงสิ้น เม.ย. คิดว่ามีความเป็นไปได้สูงที่จะไม่มีการขยายเวลาอะไรเพิ่มเพิ่ม แต่อย่างที่บอกว่าการกลับมาใช้ชีวิตก็ต้องมีระยะห่าง และที่ยังย้ำเสมอ คือ การทำงานที่บ้าน การเหลื่อมเวลาทำงาน การสวมหน้ากากอนามัย ล้างมือบ่อยๆ กินร้อน ช้อนกลางส่วนตัวต้องทำเข้มข้นเหมือนเดิม


 

ติดตามข่าวสด

ข่าวเด่นประจำวัน