แพทย์จุฬาฯ เผยข่าวดี ผลทดลอง วัคซีนโควิด ในลิงได้ผล เตรียมทดลองในคนภายในปี 2563 คาดเปิดรับอาสาสมัครเดือน ก.ย.นี้

วันที่ 12 ก.ค. ที่อาคารภูมิสิริมังคลานุสรณ์ โรงพยาบาลจุฬาลงกรณ์ สภากาชาดไทย ศ.นพ.สุทธิพงศ์ วัชรสินธุ คณบดีคณะแพทย์ศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย และผอ.รพ.จุฬาลงกรณ์ สภากาชาดไทย พร้อมด้วย ศ.นพ.เกียรติ รักษ์รุ่งธรรม ผอ.บริหารโครงการพัฒนาวัคซีนโควิด-19 ศูนย์วิจัยวัคซีน คณะแพทยศาสตร์ จุฬา ร่วมแถลงข่าวจุฬาฯ พัฒนาวัคซีนโควิด-19 หลังพบในลิงได้ผลดี เดินหน้าทดสอบในมนุษย์ (จิตอาสา)

เกาะติดข่าว กดติดตามไลน์ ข่าวสด
เพิ่มเพื่อน

ศ.นพ.สุทธิพงศ์ กล่าวว่า ล่าสุดศูนย์วิจัยวัคซีนฯ ร่วมมือกับมหาวิทยาลัยเพนซิลเวเนีย พัฒนาวัคซีนป้องกันโรคโควิด-19 ชนิด mRNA ที่มีชื่อว่า CU-Cov19 ซึ่งเป็นข่าวดีในการทดสอบวัคซีนโควิด-19 ในลิงเข็มที่ 2 พบว่าลิงสร้างภูมิคุ้มกันได้ในระดับสูง มีสุขภาพดี เดินหน้าทดสอบในมนุษย์ตามแผน เพื่อให้ผลออกมาเป็นรูปธรรมและสามารถช่วยเหลือประชาชนได้

ด้าน ศ.นพ.เกียรติ กล่าวว่า วัคซีน CU-Cov19 เป็นวัคซีนชนิด mRNA ที่ผลิตจากสารพันธุกรรมของเชื้อไวรัสโคโรนาสายพันธุ์ใหม่บางส่วน ซึ่งเมื่อชิ้นส่วนของสารพันธุกรรมนี้ถูกฉีดเข้าไปในร่างกาย จะถูกเปลี่ยนเป็นโปรตีนเพื่อกระตุ้นให้เกิดการสร้างภูมิคุ้มกันชนิดแอนติบอดีที่ช่วยต่อสู้กับไวรัสได้ โดยในครั้งแรกเราทดลองในหนูซึ่งผลออกมาดี มีระดับภูมิคุ้มกันเฉลี่ยอยูในระดับ 40,000 ไตเติล แต่หนูเป็นสัตว์ที่เล็กและมีภูมิคุ้มกันที่ดี

แพทย์จุฬาฯ เผยข่าวดี ผลทดลอง วัคซีนโควิด ในลิงได้ผล เตรียมทดลองในคนภายในปี 2563

แพทย์จุฬาฯ เผยข่าวดี ผลทดลอง วัคซีนโควิด ในลิงได้ผล เตรียมทดลองในคนภายในปี 2563

ศ.นพ.เกียรติ กล่าวต่อว่า เมื่อเป็นลิงระบบคุ้มกันจะน้อยกว่าหนูไปประมาณ 10-20 เท่า โดยฉีดวัคซีนให้กับลิงทดลองเข็มที่ 2 ไปเมื่อวันที่ 23 มิ.ย.ถึงวันนี้เกิน 14 วัน โดยผลอย่างเป็นทางการจะออกวันที่ 13 ก.ค.นี้ ทั้งนี้ เบื้องต้นมีค่าระดับภูมิคุ้มกันเฉลี่ยที่ 5,000 ไตเติล ถือว่าดีเกินคาด แต่เมื่อฉีดให้คนอาจทำให้ระบบคุ้มกันต่ำกว่าลิงไปอีก

ศ.นพ.เกียรติ กล่าวอีกว่า ภายในสัปดาห์หน้าเราจะส่งวัคซีนที่เลือกไว้ 2 ตัว เพื่อเริ่มผลิตใน 2 โรงงานในต่างประเทศ โดยตัวแรกจะผลิตในอเมริกาเป็นการผลิตชิ้นเนื้อวัคซีน คาดว่าเสร็จประมาณ ต.ค.63 และผสมต่อในส่วนไขมันเคลือบวัคซีนในโรงงานที่ 2 คาดใช้เวลาอีกประมาณ 2 เดือน หรืออย่างเร็วในช่วงเดือน พ.ย.63

ศ.นพ.เกียรติ กล่าวว่า จากนั้น จะเดินหน้าทดลองฉีดในคนเป็น 3 เฟส เฟสแรกเราคาดการณ์ว่าจะฉีดในมนุษย์เร็วสุดในช่วงเดือนต.ค. ซึ่งจะต้องอยู่ภายในปีนี้ โดยแบ่งเป็น 2 กลุ่ม กลุ่มแรกอายุ 18-60 ปี จำนวน 75 คน แบ่งการฉีดวัคซีนในโดสที่ต่ำก่อน คือ 10, 30 และ 100 ไมโครกรัมตามลำดับ หากได้ผลดีปลอดภัยจะฉีดเข็มที่ 2 ในปริมาณเท่าเข็มแรก

ศ.นพ.เกียรติ กล่าวต่อว่า และมีอีก 2 กลุ่มที่ให้วัคซีนเข็มแรก 30 ไมโครกรัม เข็มสองลดลงเหลือ 10 ไมโครกรัม และอีก 15 คนให้เข็มแรก 100 ไมโครกรัม และเข็มสอง 10 ไมโครกรัม ถ้ามีความปลอดภัยจึงจะทดลองในกลุ่มอายุที่มากขึ้น 61-80 ปี จำนวน 75 คนต่อไป คาดว่าใช้ระยะเวลาในเฟสแรกประมาณ 2 เดือน และเริ่มทดลองเฟส 2 ในต้นปีหน้า โดยใช้อาสาสมัคร 500-1,000 คน

ทั้งนี้ คาดว่าจะรู้ผลในกลางปี 2564 ซึ่งในระยะสองเฟสแรกเราจะเน้นความปลอดภัยเป็นหลัก ดูระดับภูมิคุ้มกันว่ามากขึ้นเพียงใด ส่วนเฟส 3 ต้องทดลองในพื้นที่ที่มีผู้ติดเชื้อจริง ดังนั้นอาจทดลองในไทยไม่ได้ เพราะขณะนี้ไทยไม่มีผู้ติดเชื้อ จึงอาจประสานกับประเทศที่ยังมีการระบาดอยู่

“แต่ขณะนี้เรายังไม่สามารถรับอาสาสมัครได้ เนื่องจากวัคซีนที่ผลิตออกมาต้องได้รับการรับรองของสำนักงานคณะกรรมการอาหารและยา (อย.) และคณะกรรมการจริยธรรมการวิจัยในมนุษย์อนุญาตก่อน จึงจะประกาศรับอาสาสมัครได้ คาดว่าในช่วงก.ย.63 ปัจจุบันในโลกมีผู้พัฒนาวัคซีน mRNA ประมาณ 18-20 ตัว แต่มี 4 ตัวที่ก้าวหน้ากว่าไทยอยู่ 6 เดือน ทางยุโรปมีการคาดการณ์ว่าอาจมี 1 ตัวสำเร็จในต้นปีหน้า และเมื่อผ่านการพิจารณาจากทุกฝ่ายที่ยอมรับ ซึ่งไทยเองก็พยายามพัฒนาวัคซีนควบคู่กับต่างประเทศ หากประเทศไหนเข้าวินก่อนก็เป็นเรื่องที่ดี ไทยจะได้ใช้เงินน้อยลงรวมทั้งการลดระยะเวลาในเฟส 3 ได้ถึง 9-12 เดือนด้วย” ศ.นพ.เกียรติ กล่าว

ติดตามข่าวสด

ข่าวเด่นประจำวัน