หมอประสิทธิ์ คณบดีศิริราช วิเคราะห์สถานการณ์โควิด ไทย-โลก เตือนคนไทยอย่ากลัวระบาดระลอก 2 อย่างไรเสียก็มา แต่ต้องยึดวิธีการป้องกันให้ได้

ศ.ดร.นพ.ประสิทธิ์ วัฒนาภา คณบดีคณะแพทยศาสตร์ศิริราชพยาบาล มหาวิทยาลัยมหิดล แถลงสถานการณ์โควิดทั่วโลกและประเทศไทย พร้อมวิเคราะห์แนวทางดำเนินการกับการระบาดระลอก 2 ผ่านเฟซบุ๊ก Siriraj Channel ว่า องค์การอนามัยโลก แจ้งเมื่อวันที่ 19 ก.ค. ว่าโลกกำลังเข้สู่ช่วงเวลาใหม่และอันตรายของเชื้อโควิด-19 หลังผู้ป่วยใหม่ของทั่วโลกเพิ่มขึ้นต่อเนื่อง

จากการวิเคราะห์ตัวเลขย้อนหลังตั้งแต่วันที่ 5-16 ก.ค. 2563 จากผู้ป่วยหลัก 11 ล้านคน เพิ่มเป็น 12 ล้านคน อย่างรวดเร็ว ขณะที่เมื่อ 1-2 เดือนกว่าจะผ่านหลักแต่ละล้านใช้เวลา 10 วัน แต่ปัจจุบันรวดเร็วขึ้น แสดงว่า เวลานี้ประมาณ 4-5 วันจะมีผู้ติดเชื้อเพิ่มขึ้น 1 ล้านคน ส่วนผู้เสียชีวิตต่อวัน ขณะนี้เกือบๆ 4-5 พันคน ซึ่งตรงนี้น่าจะมาจากการปรับตัวของหลายประเทศทำให้ห่างไกลโควิด ซึ่งจะพบว่าแม้ผู้ป่วยเพิ่มขึ้น แต่อัตราเสียชีวิตน้อยลง

สำหรับสถานการณ์ของแต่ละประเทศ เริ่มจากสหรัฐอเมริกา เรียกว่า ทำลายสถิติแทบทุกสัปดาห์ อัตราเสียชีวิตหากมองย้อนหลัง 12 วันบางช่วงลดลง แต่ตอนนี้กำลังเพิ่ม โดยจากการติดตามบางรัฐของสหรัฐ เริ่มประกาศภาวะฉุกเฉิน เพราะจำนวนผู้ป่วยหนักที่ต้องอยู่ไอซียู เริ่มมีจำนวนเตียงไม่เพียงพอ จึงเป็นสิ่งที่ต้องระวัง

ส่วนบราซิล ทั่วโลกกำลังมองว่าเข้าสู่วิกฤตจริงๆ ตัวเลข 12 วัน วิ่งขึ้นต่อเนื่อง จนถึง ณ ตอนนี้ติดเชื้อวันละ 4-5 หมื่นรายต่อวัน จะเห็นว่าบราซิลระบบสุขภาพอาจไม่ดีเท่าหลายประเทศ เมื่อติดเชื้อจะเยอะมากขึ้น อย่างไรก็ตาม มีผู้วิเคราะห์สถานการณ์ของบลาซิล ยังไม่ถึงจุดสูงสุด อาจถึงตอนปลายเดือน ก.ค. หรือส.ค. ขณะที่อังกฤษดูเหมือนสถานการณ์กำลังไปในทางที่ดีขึ้น คู่ขนานกับอัตราการเสียชีวิตก็ค่อยๆ ลดลง

โดยอังกฤษมีการปรับวิธีการปรับตัว การปรับยุทธศาสตร์ดีขึ้น ส่วนประเทศเยอรมนี ก็ดีขึ้น แต่ก็กลับขึ้นมา เรียกว่าเวฟที่ 1 ผ่านไปแล้ว และกำลังกลับมาอีก ซึ่งในเยอรมันติดเชื้อจากโรงงานแห่งหนึ่ง พบว่า มีคนงานจากการเดินทางเข้าประเทศมาทางชายแดน และโรงงานนี้ไม่มีการทำมาตรการควบคุมโรค และเมื่อเจ้าหน้าที่ไปติดตามแรงงานที่ทำงาน เบื้องต้นบริษัทไม่ให้ความร่วมมือ จะเห็นว่า ตอนนี้ตัวเลขเพิ่มขึ้นแล้ว

ศ.นพ.ประสิทธิ์ กล่าวอีกว่า สิ่งที่อยากย้ำว่า อย่างเยอรมนีมีตัวเลขผู้ป่วยหลัก 100 คนต่อวัน แต่ควบคุมอัตราการเสียชีวิต จึงกลับมาที่ไทยว่าเราต้องทำอย่างไรหากมีผู้ป่วยเพิ่ม แต่ต้องควบคุมไม่ให้มีอัตราการเสียชีวิตเพิ่ม อย่างไรก็ตาม ประเทศอิหร่านนั้น มีการเสียชีวิตหลักร้อยขึ้นไป ขณะที่ญี่ปุ่นกำลังเข้าสู่ระลอก 2 และเริ่มเอาไม่อยู่ แต่ที่ญี่ปุ่นทำได้ดีคือ ผู้ป่วยเพิ่มขึ้น แต่อัตราการเสียชีวิตน้อยมาก

ส่วนเกาหลีใต้ก็เป็นอีกประเทศหนึ่งที่ผ่านเหตุการณ์ซูเปอร์สเปรดเดอร์ แต่ก็เริ่มควบคุมได้ ปรากฏว่าก็เกิดการติดเชื้ออีก โดยเกาหลีใต้พยายามให้เปิดเรียน แต่เปิดทีไหร่ก็เกิดการติดเชื้อจนต้องปิดอีก โดยอัตราการเสียชีวิตของเกาหลีใต้เป็นอีกประเทศที่ตัวเลขต่ำมาก สำหรับสิงคโปร์ ตอนนี้มีคนติดเชื้อ 4.7 หมื่นคน ผู้ป่วยเพิ่มหลักรร้อย แต่อัตราเสียชีวิตแทบไม่มี ขณะที่ออสเตรเลีย เมื่อเดือนที่ผ่านมาเป็นประเทศที่ได้รับการชื่นชมว่าควบคุมได้ดี แต่สุดท้ายเกิดเวฟที่ 2 อย่างเมลเบิร์น ถูกสั่งให้ปิดให้คนอยู่บ้าน ซึ่งรัฐบาลให้ความสำคัญมาก หากไม่ดำเนินการตอนต้นจะคุมไม่อยู่ โดยอัตราการเสียชีวิตน้อยมากเช่นกัน ทั้งหมดเป็นตัวอย่างให้เห็น เพื่อให้ไทยนำมาเป็นบทเรียนจากประเทศเหล่านี้

“สำหรับประเทศไทย ควบคุมได้ดี อัตราการเสียชีวิตน้อย แต่การจัดการการระบาดของไวรัส หากพลาดนิดเดียวก็มีโอกาสกลับมาได้เช่นกัน ผมขอยกตัวอย่าง ไทยเหมือนวงกลมในกล่องสี่เหลี่ยม และกล่องสีเหลี่ยมมีหน้าต่างมีประตู ตอนนี้เรามีกลไกในการควบคุมภายในของเราเอง ทั้งใส่หน้ากากอนามัย ล้างมือให้สะอาด เว้นระยะห่าง

แต่นอกกล่อง ก็เปรียบเหมือนทั่วโลกเปรียบเหมือนไฟ ย่อมมีโอกาสผ่านเข้ามาทางหน้าต่างและเข้าบ้านเราได้ ที่สำคัญต้องอย่าเปิดหน้าต่าง แต่ก็อาจมีการหลุดรั่วได้ ดังนั้น คนไทยต้องช่วยกันสอดส่องต้องมีมาตรการควบคุมอย่างเข้มงวด เราจะได้มีโอกาสให้บ้านเรามีสีเขียว จนกระทั่งมีสิ่งที่มาดับไฟ ที่เรียกว่า วัคซีน ดังนั้นต้องระวังหมด แม้แต่การเดินเท้าเข้ามายังชายแดน” ศ.นพ.ประสิทธิ์ กล่าว

ศ.นพ.ประสิทธิ์ กล่าวอีกว่า อย่าไปกลัวการระบาดระลอก 2 อย่างไรเสียก็มา แต่จะมารูปแบบไหน เพราะถ้ามาแล้วไม่รุนแรงก็ไม่มีประเด็น เหมือนตัวอย่างประเทศทั้งหลายก็ควบคุมการระบาดระลอก 2 ได้ดี สิ่งที่อยากให้เป็นในการวิเคราะห์รูปแบบการระบาดรอบใหม่ โดยต้องใช้วิธีทุบด้วยค้อนให้คนติดเชื้อน้อยลง เมื่อติดเชื้อน้อยลงสิ่งที่แลกมาก็เศรษฐกิจ เจอกันทั่วโลกจึงต้องเข้าสู่ ผ่อนให้ฟ้อนรำ แต่ก็จะมีความเสี่ยงในการแพร่ระบาดอีก แต่หากเราออกไป และรักษาระยะห่าง ล้างมือบ่อยๆ สวมหน้ากากอนามัย และที่สำคัญ ณ ตอนนี้คือ ไปไหนขอให้มีการเช็กอินเช็กเอ้าท์ ด้วยการใช้แอปพลิเคชัน “ไทยชนะ”

ทั้งหมดจะเรียกว่า Slow burn จะทำให้ธุรกิจส่วนใหญ่ ยังดำเนินการได้ ผลดีต่อเศรษฐกิจ ควบคุมเข้มธุรกิจหรือการประกอบการที่มีอุบัติการณ์การแพร่ระบาด ประชาชนมีกิจกรรมนอกบ้านได้มาก ภายใต้การใช้ชีวิตที่ลดความเสี่ยงการกระจายเชื้อ อัตราการเสียชีวิตต่ำ(ยุทธศาสตร์เฝ้าระวังกลุ่มเสี่ยงเสียชีวิต) และระบบการดูแลสุขภาพดำเนินการได้ดี โดยมีงบประมาณค่าใช้จ่ายที่เหมาะสม ส่วนที่ไม่อยากให้เกิด คือการระบาดรูปแบบที่ติดเชื้อเร็ว และไม่สามารถควบคุมได้ทัน ทำให้การฟื้นตัวของเศรษฐกิจช้า

“ขณะนี้คนไทยมีภูมิต้านทานเชื้อน้อยมาก สิ่งสำคัญคือ อย่าปล่อยให้เชื้อเข้ามา ไม่ใช่ว่าให้รอแต่วัคซีน แต่เราต้องดูแลและป้องกันตัวเองด้วย และแม้จะบอกว่าเรามียา แต่เราก็ยังนำเข้าจากต่างประเทศ ดังนั้น ต้องไม่ให้เกิดการติดเชื้อจำนวนมาก เพราะหากยายังน้อยก็จะน่ากลัวมาก และในเรื่องการกลายพันธุ์นั้น ยังไม่มีหลักฐานว่า จะมีผลต่อวัคซีนที่พัฒนาขึ้นมา” ศ.นพ.ประสิทธิ์ กล่าว

ติดตามข่าวสด

ข่าวเด่นประจำวัน