ชง ศบค.ทดลองกักตัวนักท่องเที่ยวต่างชาติเหลือ 10 วัน เน้นประเทศที่มีความเสี่ยงต่ำ ยอดติดโควิด-19 น้อย ให้กรมควบคุมโรคจัดทำรายละเอียด

เมื่อวันที่ 7 ต.ค.63 ที่กระทรวงสาธารณสุข (สธ.) นพ.เกียรติภูมิ วงศ์รจิต ปลัดสธ. เปิดเผยถึงการลดระยะเวลากักตัวนักท่องเที่ยวต่างชาติที่จะเดินทางเข้าประเทศไทย ในช่วงการแพร่ระบาดของโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 หรือ โควิด-19 ว่า ขณะนี้อยู่ระหว่างให้ผู้เชี่ยวชาญพิจารณารายละเอียด เบื้องต้นพิจารณาตามความเสี่ยงของประเทศที่เข้ามา หากประเทศที่มีความเสี่ยงสูง เช่น สถานการณ์การระบาดในประเทศนั้นๆ รวมถึงค่าเฉลี่ยที่เข้ามาในประเทศไทย กักตัวแล้วมีอัตราการตรวจเจอเชื้อสูง ก็ยังให้กักตัว 14 วันเช่นเดิม

เกาะติดข่าว กดติดตามไลน์ ข่าวสด
เพิ่มเพื่อน

นพ.เกียรติภูมิ กล่าวต่อว่า ส่วนประเทศที่มีความเสี่ยงต่ำ ก็พิจารณาลดวันกักตัวลง เบื้องต้น 10 วันก่อน แล้วติดตามผลประมาณ 1 เดือน ว่าเป็นอย่างไร เพื่อนำมาสู่การออกมาตรการต่างๆ เพิ่มเติม ซึ่งมอบหมายให้กรมควบคุมโรคไปจัดทำรายละเอียด เสนอวันที่เหมาะสมในการกักตัว

โดยมีรายละเอียดครอบคลุมทั้งจำนวนวันกักตัว แต่ละระยะเวลาสามารถป้องกันได้กี่เปอร์เซ็นต์ เช่น กักตัว 14 วัน ป้องกันได้ร้อยละ 100 กักตัว 12 วัน 10 วัน หรือ 7 วัน ป้องกันได้กี่เปอร์เซ็นต์ รวมถึงวิธีตรวจขณะอยู่ในสถานที่กักกัน ซึ่งจะต้องมีเพิ่มมากขึ้น ทั้งการเก็บตัวอย่างจากการแยงจมูกตรวจหาเชื้อ และการเจาะเลือดตรวจหาภูมิคุ้มกัน

“ระยะแรกอาจจะลดวันกักตัวจาก 14 วัน เหลือ 10 วันก่อน ซึ่งคาดว่าจะเสนอศูนย์บริหารสถานการณ์การแพร่ระบาดของโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 (โควิด-19) หรือ ศบค.ในอีก 2 สัปดาห์หน้า เมื่อดำเนินการไปแล้วราว 1 เดือน ก็จะประเมิน หากยังสามารถบริหารจัดการสถานการณ์ได้ดี ก็จะพิจารณาลดจำนวนวันลงอีก เปิดรูหายใจได้เพิ่มขึ้น

อย่างไรก็ตาม จะกำหนดจำนวนวันกักตัวแตกต่างกันตามระดับความเสี่ยงของประเทศต้นทาง หากเป็นประเทศเสี่ยงสูงมาก ยังจำเป็นต้องกักตัวครบ 14 วันต่อไป ส่วนประเทศที่เสี่ยงต่ำอาจจะลดลง ซึ่งเป้าหมายต่ำที่สุดอยู่ที่ 7 วัน ซึ่งประเทศเสี่ยงสูงดูจากประวัติอัตราการตรวจพบเชื้อในผู้ที่เดินทางเข้ามาอยู่ในสถานที่กักกันที่ผ่านมา ซึ่งสะท้อนว่าประเทศนั้นยังมีการติดเชื้อในประเทศที่สูง ส่วนประเทศจีนที่ผ่านคนที่เข้ากักตัวก็ตรวจไม่เจอเชื้อ ถือว่าเสี่ยงต่ำ การติดเชื้อในประเทศไม่สูง” ปลัดสธ. กล่าว

ด้าน นพ.ธนรักษ์ ผลิพัฒน์ รองอธิบดีกรมควบคุมโรค กล่าวถึงกรณีศูนย์ควบคุมป้องกันโรคสหรัฐอเมริกา ประกาศอย่างเป็นทางการว่าโรคโควิด-19 มีการติดเชื้อทางอากาศ (Air borne) ว่า ข้อมูลที่ออกมาไม่ได้มีอะไรแตกต่างจากที่เคยระบุก่อนหน้านี้ ไม่ต้องตกใจ เนื่องจากไม่ว่าโควิด-19 จะสามารถแพร่ระบาดในรูปแบบใด แต่การปฏิบัติตัวของเรายังเหมือนเดิม คือต้องสวมหน้ากากผ้า หน้ากากอนามัยให้มากที่สุด ซึ่งจะช่วยลดโอกาสเสี่ยงในการติดเชื้อได้ ร่วมกับการเว้นระยะห่าง การล้างมือบ่อยๆ

 

ติดตามข่าวสด

ข่าวเด่นประจำวัน