รมช.สาธารณสุข ชงศบค. ปิดบางพื้นที่-ปิดทั้งจังหวัดเร่งด่วน คุมโควิดระบาดใหม่ เผยครั้งนี้สถานการณ์รวดเร็วและรุนแรง หากตัดสินใจช้าลำบากแน่

เกาะติดข่าว กดติดตามไลน์ ข่าวสด
เพิ่มเพื่อน

วันที่ 20 ธ.ค.63 นายสาธิต ปิตุเตชะ รมช.สาธารณสุข โพสต์ข้อความผ่านบัญชีเฟซบุ๊ก “หมอตี๋ สาธิต ปิตุเตชะ” ว่า วันนี้ได้ประชุมสถานการณ์ฉุกเฉิน กรณีพบผู้ติดเชื้อโควิด-19 จำนวนมาก ทั้งในจังหวัดสมุทรสาคร และพื้นที่ใกล้เคียง โดยกระทรวงสาธารณสุขได้วางแผนรับมือขั้นสูงสุดกับเหตุการณ์ที่เกิดขึ้น

“หมอตี๋” ระบุว่า เตรียมนำเสนอ ศบค. พิจารณา เพื่อปิดบางพื้นที่ บางจังหวัด หรือปิดทั้งจังหวัด อย่างเร่งด่วนที่สุด พร้อมระบุว่า ครั้งนี้สถานการณ์รวดเร็วและรุนแรง หากตัดสินใจช้าหรือไม่ครอบคลุม เกิดความลำบากอย่างแน่นอน

ด้านนพ.เกียรติภูมิ วงศ์รจิต ปลัดกระทรวงสาธารณสุข (สธ.) นพ.โอภาส การย์กวินพงศ์ อธิบดีกรมควบคุมโรค และนพ.กิตติ กรรภิรมย์ สาธารณสุขนิเทศก์เขตสุขภาพที่ 5 แถลงข่าวความคืบหน้าผู้ติดเชื้อโควิด 19 จ.สมุทรสาคร

นพ.เกียรติภูมิ กล่าวว่า การติดเชื้อโควิดที่สมุทรสาคร เป็นการติดเชื้อครั้งใหญ่ที่สุดที่เคยเกิดขึ้นในประเทศไทย วันเดียวพบผู้ติดเชื้อสูงถึงมากกว่า 500 ราย เริ่มต้นจากวันที่ 17 ธ.ค. เป็นผู้ป่วยหญิงไทยอายุ 67 ปี ที่ตลาดกลางกุ้ง จ.สมุทรสาคร ไม่มีประวัติไปต่างประเทศ จึงไม่ได้เป็นต้นเชื้อคนแรก สันนิษฐานว่าอาจเกี่ยวข้องกับแรงงานพม่า ซึ่งบริเวณดังกล่าวมีแรงงานพม่าจำนวนมาก เมื่อตรวจคัดกรองเชิงรุกพบมีการติดเชื้อจำนวนมาก โดยเป็นแรงงานพม่า 90% คนไทย 10% ส่วนใหญ่ 90% ไม่มีอาการ ทั้งนี้ การระบาดมีขอบเขตชัดเจน จึงปิดล็อกดาวน์พื้นที่เสี่ยงสูงเพื่อจำกัดการเคลื่อนไหวให้การแพร่ระบาดอยู่ในพื้นที่จำกัด โดยดูแลเรื่องอาหารการกิน ส่วนผู้ที่มาซื้อขายในตลาดกุ้งแล้วออกไปจังหวัดอื่นมีข้อมูลทุกรายในการติดตาม บางจังหวัดพบผู้ป่วยประมาณ 1-2 ราย แต่ควบคุมตรวจจับได้รวดเร็ว ค้นหาผู้สัมผัสเฝ้าระวังอาการได้ หากจะมีคนติดเชื้อจากกลุ่มนี้ก็น่าจะพบได้ประมาณกลุ่มละ 10-20 ราย

“จ.สมุทรสาคร ตัวเลขผู้ติดเชื้ออาจเพิ่มขึ้นเนื่องจากมีการตรวจคัดกรองเชิงรุกอย่างต่อเนื่อง ซึ่งจะทยอยรายผลงานต่อไป แต่หากภายใน 1 สัปดาห์ตัวเลขผู้ติดเชื้อเริ่มนิ่ง คาดว่าจะสามารถควบคุมได้ภายใน 2-4 สัปดาห์” นพ.เกียรติภูมิกล่าวและว่า สำหรับมาตรการด้านสาธารณสุข คือ 1. ค้นหากลุ่มเสี่ยงทั้งหมดโดยเร็ว โดยเฉพาะแรงงานต่างด้าว จ.สมุทรสาคร และชุมชนแรงงานต่างด้าวจังหวัดอื่น เพื่อไม่ให้เกิดเหตุการณ์แบบเดียวกัน ส่วนประชาชน จ.สมุทรสาคร และคนที่ออกมาจากจ.สมุทรสาครตั้งแต่วันที่ 1 ธ.ค. ให้สังเกตอาการตนเอง หากสงสัยเข้าไปรับการตรวจสถานพยาบาลใกล้บ้าน 2.เฝ้าระวังผู้ป่วยทางเดินหายใจและปอดอักเสบทุกราย 3.เตรียมวัสดุอุปกรณ์ให้พร้อมรับการระบาด ทั้งหน้ากาก เจลแอลกอฮอล์ ยา ชุด PPE ซึ่งขณะนี้มีเพียงพอ 4.จัดตั้งศูนย์ให้คำปรึกษาทุกจังหวัด 5.กำหนดผู้รับผิดชอบของทุกจังหวัด และตั้งศูนย์ปฏิบัติการฉุกเฉินด้านสาธารณสุข (EOC) เพื่อดูแลการระบาด และ 6.ตรวจสอบ ยกระดับการป้องกัน ควบคุมการติดเชื้อในสถานพยาบาลทุกแห่ง

นพ.โอภาสกล่าวว่า จุดตั้งต้นการระบาดอยู่ที่ตลาดกุ้งและมีผู้ป่วยขยายวงใน จ.สมุทรสาคร และจังหวัดอื่น คือ นครปฐม 2 ราย กทม. 2 ราย สมุทรปราการ 3 ราย สุพรรณบุรี ราชบุรี มีการตรวจแต่ยังไม่พบผู้ติดเชื้อ และอาจมีผู้ป่วยในจังหวัดอื่นๆ อีก โดยผู้ป่วยจากกรณีสมุทรสาครรวม 689 ราย จากผู้ป่วยที่มาตรวจใน รพ. 32 ราย อยู่ใน กทม. 2 ราย ซึ่งไปซื้อสินค้าที่ตลาดดังกล่าวมาจำหน่ายต่อคือกุ้งหรือซื้อมาบริโภค และค้นหาในชุมชน 657 ราย ถือว่าการระบาดยังอยู่ในวงแคบ ไม่ได้กระจายมากนัก คือ ตลาดกลางกุ้งและหอพัก ซึ่งขณะนี้ปิดกั้นไม่ให้มีการเข้าออกแล้ว

ติดตามข่าวสด

ข่าวเด่นประจำวัน