กระทรวงสาธารณสุข อธิบาย สถานการณ์ โควิด ชี้ เหตุต้องงดนั่งกินในร้านอาหาร พบเขตบางพลัด แพร่ระบาด ในร้านอาหาร สถานบันเทิง

เมื่อวันที่ 1 ม.ค. ที่กระทรวงสาธารณสุข (สธ.) นพ.โอภาส การย์กวินพงศ์ อธิบดีกรมควบคุมโรค กล่าวว่า แนวโน้มการระบาดของโรค ขณะนี้พบผู้ป่วยเพิ่มขึ้นอีก 2 จังหวัด คือ ลำพูน และสระแก้ว ซึ่งสัมพันธ์กับ จ.ระยอง แต่หากพิจารณาจากกราฟ จะเห็นว่าตั้งแต่ ธ.ค.ที่ผ่านมา พบการระบาดที่ จ.สมุทรสาคร เชื่อมโยง จ.นนทบุรี และ กทม. รวมถึงการระบาดจากบ่อนหลายแห่งในระยอง ชลบุรี จันทบุรี ตราด สระแก้ว ทั้งนี้ แม้ผู้ป่วยจะเพิ่มขึ้น แต่ผู้ป่วยที่หายก็เพิ่มขึ้นเช่นกัน ภาพรวมการระบาดยังอยู่ที่สมุทรสาคร กทม. ภาคตะวันออกเป็นหลัก จังหวัดอื่นยังถือว่าควบคุมได้ดี

“สำหรับผู้ป่วยโควิดมีความสัมพันธ์กับร้านอาหาร โดยเฉพาะนั่งกินในร้านมีความเสี่ยงในการแพร่เชื้อมาก ยิ่งไม่ใส่หน้ากากอนามัยยิ่งมีความเสี่ยง ซึ่งวันนี้มีการประชุม ศปค.สธ. ซึ่งมีข้อแนะนำให้กับพื้นที่มีการระบาดโควิด-19 โดยสถานบันเทิง และร้านอาหารนั่งกินในร้านให้ปิดดำเนินการ 14 วัน แต่อนุญาตให้สามารถซื้อกลับไปรับประทานที่บ้านได้อยู่ ซึ่งจะเสนอคณะกรรมการโรคติดต่อจังหวัด/ กรุงเทพมหานคร และ ศบค.ชุดใหญ่พิจารณา ขอให้ประชาชนหลีกเลี่ยงการรับประทานในร้าน โดยเฉพาะพื้นที่เสี่ยง ทั้ง กทม. ปริมณฑล รวมถึงภาคกลาง และภาคตะวันออก”นพ.โอภาส กล่าว

สธ. ชี้ เขตบางพลัด ต้นตอโควิด ยกเคสผู้ป่วยดับรายที่ 62 ป่วยแค่ 6 วัน

ด้าน นพ.โสภณ เอี่ยมศิริถาวร ผอ.กองโรคติดต่อทั่วไป และปฏิบัติหน้าที่รองอธิบดีกรมควบคุมโรค กล่าวถึงกรณีการระบาดในสถานบันเทิงและร้านอาหารบริเวณบางพลัด กทม. ว่า ล่าสุดมีข้อมูลเพิ่มเติมโดยพบผู้ติดเชื้อเพิ่มเป็น 48 ราย จากเดิม 43 ราย เพิ่มขึ้นอีก 5 ราย หากรวมผู้ติดเชื้อรายแรกข้อมูล ณ วันที่ 15-31 ธ.ค. 63 รวมเป็น 49 ราย ซึ่งเหตุการณ์นี้เริ่มต้นตั้งแต่กลางเดือน ธ.ค. ที่พบผู้ชายป่วยและตรวจพบเชื้อ หลังจากนั้นก็พบเพื่อนร่วมงานในสถานที่ทำงานเดียวกัน คือ ร้านอาหารแซ่บอีสาน ร้านอีสานกรองแก้ว และร้านน้องใหม่พลาซ่า ซึ่งนอกจากพนักงานร้านตรวจพบโควิด ยังพบลูกค้าติด โดยพบจ.ใกล้เคียง อย่างนนทบุรี นครปฐม

ข้อมูลน่าสนใจ คือรายที่ 49 คือ คนที่เสียชีวิตเป็นชายไทยอายุ 44 ปี เสียชีวิตเมื่อวันที่ 31 ธ.ค. จากประวัติพบว่าป่วยวันที่ 26 ธ.ค.63 หลังจากรับประทานอาหารวันที่ 20 ธ.ค. และมีอาการป่วยก็ยังไม่พบแพทย์ทันที หลังจากนั้น 2 วันเริ่มเหนื่อยหอบ และเมื่อเหนื่อยมากขึ้นก็ไปตรวจคลินิกทางเดินหายใจที่รพ.เจริญกรุงประชารักษ์ โดยความอิ่มตัวของออกซิเจนในเลือดลดลงเหลือ 80 จากปกติ 90-100 โดยวันที่ 31 ธ.ค. อาการไม่ดีขึ้น ส่งต่อไปรพ.จุฬาลงกรณ์และเสียชีวิตเมื่อช่วงเวลา 15.00 น. ขณะนี้มีการติดตามผู้สัมผัสเสี่ยงสูงทั้งครอบครัวและในโรงพยาบาล กรณีนี้คือตัวอย่างของการป่วยที่นำมาซึ่งอาการรุนแรงในเวลาอันสั้น” นพ.โสภณ กล่าว

นพ.โสภณ กล่าวย้ำว่า จึงขอย้ำเตือนว่า กลุ่มที่ต้องสังเกตอาการอย่างใกล้ชิด คือ ผู้สูงอายุ เด็ก หญิงตั้งครรภ์ ผู้มีประวัติโรคประจำตัว โรคปอด โรคเบาหวาน หากมีอาการทางเดินหายใจต้องรีบมาพบแพทย์ หากมาช้าเกิน 48 ชั่วโมง มีโอกาสเสียชีวิต

ติดตามข่าวสด

ข่าวเด่นประจำวัน