‘แอสตราเซเนกา’ ยื่นขึ้นทะเบียน วัคซีน โควิด 19 กับ อย.แล้ว เบื้องต้นมีคุณภาพและปลอดภัย คาดพิจารณาได้ใน 1 สัปดาห์ ส่งผลวัคซีนล็อตผลิตในไทย 26 ล้านโดส

วันนี้ (19 ม.ค.) นพ.โอภาส การย์กวินพงศ์ อธิบดีกรมควบคุมโรค (คร.) กล่าวถึงความคืบหน้าการจัดหาวัคซีน โควิด 19 ว่า ขณะนี้ผู้ที่ฉีดวัคซีน ไม่ว่าของบริษัทใดก็ตามมีตัวเลขเพิ่มขึ้นหลักหลายสิบล้านคน บางประเทศมีข่าวผลข้างเคียง บางรายถึงกับเสียชีวิต แต่นโยบายของนายกรัฐมนตรีชัดเจนว่า วัคซีนที่มาฉีดให้กับคนไทย จะต้องปลอดภัย มีประสิทธิภาพเป็นที่ยอมรับ ขณะนี้มีบริษัทวัคซีน 1 แห่งยื่นเอกสารให้กับสำนักงานคณะกรรมการอาหารและยา (อย.) เพื่อตรวจสอบประสิทธิภาพและความปลอดภัย เบื้องต้นคาดว่าจะได้รับการอนุญาตให้นำวัคซีนมาใช้แบบฉุกเฉินในไทยไม่เกินสัปดาห์นี้

นพ.โอภาส กล่าวว่า หลังจาก อย.พิจารณาเอกสารแล้ว ซึ่งมีเยอะมาก แต่เท่าที่ดูเชื่อว่ามีความปลอดภัยและมีประสิทธิภาพในระดับที่ยอมรับได้ กระบวนเป็นไปตามแผนว่าจะมีวัคซีนมาฉีดให้คนไทยตั้งแต่ ก.พ.เป็นต้นไป และในคณะกรรมการชุดต่างๆ ที่แต่งตั้งมา ขณะนี้เร่งดำเนินการแล้ว ส่วนในเรื่องความปลอดภัยของวัคซีนนั้น เมื่อฉีดไปจำนวนมากจะมีระบบติดตามหลังฉีดวัคซีน เพื่อดูอาการอย่างน้อย 4 สัปดาห์ ดูว่ามีความผิดปกติหรือไม่

เช่น การแพ้ยา อาการไม่พึงประสงค์ หากมีผู้ที่ได้รับบาดเจ็บหรือเสียชีวิต ก็จะมีคณะกรรมการสอบสวนให้ละเอียด นำประวัติรักษาหรือรายที่เสียชีวิตจะต้องมีการชันสูตร เพื่อหาว่าเกี่ยวข้องหรือไม่เกี่ยวข้องกับวัคซีน โดยมีหลักการพิจารณาว่าหากปลอดภัยและให้ฉีดต่อ หรือว่าให้หยุดฉีด ทั้งนี้ คณะกรรมการมีความเป็นกลางไม่มีใครแทรกแซง โดยหลักการแล้วการฉีดวัคซีนแบบสมัครใจดีกว่าบังคับ เนื่องจากต้องฉีด 2 เข็ม การบังคับมาฉีดก็เป็นเรื่องยาก ต้องชั่งใจเพราะทุกเรื่องมีข้อดีข้อเสีย

เมื่อถามว่าขณะนี้มีการสำรวจก่อนเปิดลงทะเบียนฉีดหรือไม่ นพ.โอภาส กล่าวว่า ในสัปดาห์นี้จะมีการประชุมคณะกรรมการ คงมีมาตรการออกมา อย่างไรก็ตามมีการทำโพลสำรวจ ผ่านแอปพลิเคชันหรือเจ้าหน้าที่เป็นผู้สำรวจ แต่จะต้องให้คณะกรรมการเคาะอีกที

ถามต่อว่าเทคโนโลยีเชื้อตายมีความปลอดภัยอย่างไร นพ.โอภาส กล่าวว่า ข้อมูลขณะนี้ทุกเทคโลโนยีมีความปลอดภัย ที่รายงานออกไปยังไม่มีข้อมูลชัดๆ ที่รายงานเป็นทางการ ส่วนกรณีที่ฉีดแล้วเสียชีวิต ก็ยังไม่ได้โทษที่วัคซีน แต่วัคซีนเชื้อตาย มีการใช้มานาน ค่อนข้างมั่นใจ แต่หากมีผู้ที่ฉีดเยอะ ก็ทำให้เรามีข้อมูลมากขึ้น หรือเรียกว่า ช้าๆ ได้พร้าเล่มงาม

เมื่อถามว่าในขณะนี้ประเทศไทยมีความจำเป็นต้องฉีดวัคซีนหรือไม่ นพ.โอภาส กล่าวว่า วงจรการระบาด เราสามารถป้องกันได้ด้วยการสวมหน้ากากอนามัย เว้นระยะห่างและล้างมือ ซึ่งบางคนบอกว่าป้องกันได้ดีกว่าวัคซีนด้วย แต่มีวัคซีนก็เป็นสิ่งจำเป็น เพื่อลดอัตรการป่วยตายในกลุ่มเสี่ยง เช่น ผู้สูงอายุ ผู้มีโรคประจำตัว อย่างไรก็ตามยังต้องควบคู่กับการป้องกันส่วนบุคคลเพื่อให้การป้องกันสมบูรณ์

“ในระยะ 2 เดือนมานี้ ประเทศที่ฉีดกันก็ยังมีไม่ถึงสิบล้านคน ในสหรัฐอเมริกาเอง ก็ฉีดในกลุ่มบุคลากรทางการแพทย์ และในส่วนที่มีการฉีดแล้วเสียชีวิตนั้น ก็จะต้องระวังมากในเรื่องของผลข้างเคียง” นพ.โอภาส กล่าว

นพ.สุรโชค ต่างวิวัฒน์ รองเลขาธิการ อย. กล่าวว่า การยื่นขึ้นทะเบียนวัคซีนโควิด 19ของ แอสตราเซนเนกา ในไทยนั้น เป็นการยื่นขอขึ้นทะเบียนในล็อตการผลิตในต่างประเทศ ซึ่งขณะนี้ได้ยื่นเอกสารต่างๆ ค่อนข้างครบถ้วนแล้ว อย่างไรก็ตาม อย.ได้ขอให้บริษัทส่งเอกสารข้อมูลเพิ่มเติมในส่วนของคุณภาพมาตรฐานการผลิตของโรงงานในต่างประเทศ ก่อนที่ผู้เชี่ยวชาญจะพิจารณาว่า อนุมัติการขึ้นทะเบียนหรือไม่ ซึ่งหากเอกสารครบจะสามารถพิจารณาได้ภายใน 1 สัปดาห์

ซึ่งหากวัคซีนตัวนี้ที่เป็นล็อตการผลิตในต่างประเทศได้รับการขึ้นทะเบียน จะส่งผลต่อประเทศไทย คือ วัคซีนชนิดนี้ตัวนี้ที่บริษัท สยามไบโอไซเอนฯ จะรับถ่ายทอดเทคโนโลยี มาผลิตในประเทศไทย 26 ล้านโดส เมื่อผลิตในประเทศแล้วเสร็จ ก็จะทำให้ขึ้นทะเบียนวัคซีนชนิดเดียวกันแต่ต่างสถานที่ผลิตได้เร็วขึ้น เพราะมีหลักฐานการผลิตเหมือนกับล็อตที่ผลิตในต่างประเทศและที่ได้รับการขึ้นทะเบียนจากอย.แล้ว อย่างไรก็ตาม ภาคเอกชนจะไม่สามารถนำเข้าวัคซีนตัวนี้ได้ เพราะในการยื่นขึ้นทะเบียนของบริษัทแอสตราเซนเนการะบุว่าจะขายให้รัฐบาลไทย เพราะเป็นการอนุมัติการขึ้นทะเบียนในภาวะฉุกเฉิน

ติดตามข่าวสด

ข่าวเด่นประจำวัน