โควิด / ลุ้นเคาะคลายล็อก ผ่อนมาตรการ-เปิดเรียน จังหวัดไม่พบผู้ติดเชื้อ หลังประกาศสิ้นสุด 1 ก.พ. จะพิจารณาอีกครั้ง หากสถานการณ์ดีอาจผ่อนคลายเพิ่ม

วันที่ 24 ม.ค. นพ.โอภาส การย์กวินพงศ์ อธิบดีกรมควบคุมโรค (คร.) กระทรวงสาธารณสุข (สธ.) แถลงข่าวสถานการณ์โรคโควิด 19 ว่า

ขณะนี้ทั่วโลกติดเชื้อ 99.3 ล้านราย เสียชีวิตสะสม 2.13 ล้านราย ภาพรวมยังมีผู้ป่วยเพิ่มขึ้นระดับคงตัววันละ 5-6 แสนคน ประเทศเพื่อนบ้านยังมีการติดเชื้อจำนวนมาก จึงยังต้องเฝ้าระวังการข้ามพรมแดนผิดกฎหมาย ขอให้ประชาชนช่วยเป็นหูเป็นตาช่วยตรวจจับไม่ให้เกิดการแพร่ระบาด สำหรับประเทศไทยมีผู้ติดเชื้อรายใหม่ 198 ราย เสียชีวิต 1 ราย การระบาดระลอกใหม่มีผู้ติดเชื้อสะสม 9,263 ราย เสียชีวิตสะสม 13 ราย

นพ.โอภาสกล่าวว่า ผู้เสียชีวิตรายใหม่เป็นหญิงอายุ 73 ปี จ.สมุทรสาคร มีโรคประจำตัวเรื้อรัง ซึ่งกลุ่มนี้ไม่ได้ติดเชื้อจากการไปสถานที่เสี่ยง แต่ติดเชื้อจากญาติที่มาเยี่ยม รายนี้ก็ติดเชื้อจากญาติที่เป็นโควิดไม่มีอาการมาเยี่ยม ซึ่งการมีโรคประจำตัวทำให้อาการรุนแรงกว่าคนหนุ่มสาว จึงมีอาการปอดอักเสบรุนแรง ต้องใช้เครื่องช่วยหายใจ

ส่วนใหญ่พบว่าโรคโควิด 19 ในปอดดีขึ้นจนถอดเครื่องช่วยหายใจได้ แต่เกิดภาวะแทรกซ้อนในปอด จากการอยู่รพ.นาน ประกอบการโรคประจำตัวเรื้อรังทำให้เสียชีวิต เพราะฉะนั้น ผู้ที่ไปเที่ยวผับบาร์ บ่อน งานปาร์ตี้ ถือว่ามีความเสี่ยง หลายครั้งที่ติดเชื้อไม่มีอาการ คิดว่าตัวเองไม่เป็นอะไร กลับมาบ้านไม่ป้องกันตัว ทำให้เกิดการติดเชื้อ ดังนั้นขอให้หลีกเลี่ยงการใกล้ชิดญาติผู้ใหญ่มีโรคประจำตัว หรือใส่หน้ากาก ล้างมือ เว้นระยะห่าง จะลดความเสี่ยงได้

นพ.โอภาสกล่าวว่า สำหรับภาพรวมของโควิดของไทย แนวโน้มค่อนข้างลดลงและทรงตัว แต่ช่วงหลังเริ่มสูงขึ้น แต่ทั้งหมดเป็นผู้ป่วยในพื้นภาคกลาง กทม. และปริมณฑล ซึ่งวันแรกของสัปดาห์นี้พบการติดเชื้อใน 7 จังหวัด โดยจ.สมุทรสาครยังมีผู้ป่วยมากที่สุด ประมาณ 70-90 % ถ้าควบคุมโรค จ.สมุทรสาครได้เร็ว ก็จะทำให้สถานการณ์ของไทยดีขึ้น

โดยสัปดาห์นี้จะเร่งระดมกำลังปูพรมตรวจเชิงรุกคนในสมุทรสาครจำนวนมาก โรงงานต่างๆ ที่มีเป็นหมื่นแห่ง สัปดาห์ต่อไปอาจมีผู้ติดเชื้อเพิ่มขึ้น แต่เราไม่ได้กังวลเรื่องจำนวน การพบจะทำให้เราควบคุมสถานการณ์ไม่ให้ติดเชื้อกระจายออกไป

สำหรับจังหวัดต่างๆ ที่ไม่พบผู้ติดเชื้อถือว่ายังควบคุมสถานการณ์ได้ดี อาจผ่อนมาตรการทางสังคมลงได้ กิจกรรมต่างๆ การเปิดโรงเรียน เป็นต้น แต่มาตรการด้านการแพทย์และสาธารณสุขยังต้องเคร่งครัดต่อเนื่อง ในการเฝ้าระวังสอบสวนควบคุมโรค ค้นหาผู้ป่วยเข้าพื้นที่อย่างรวดเร็ว ลดเสี่ยงกิจกรรมต่างๆ ให้มากที่สุด และปฏิบัติตามมาตรการป้องกันโรคอย่างเคร่งครัด

ส่วนมาตรการที่ ศบค.ประกาศกิจการควบคุมและห้ามการเคลื่อนย้าย จะสิ้นสุดวันที่ 1 ก.พ. จะมีการพิจารณาอีกครั้ง หากสถานการณ์ดีอาจผ่อนคลายเพิ่ม หรือหากตัวเลขยังมีมาก อาจมีมาตรการเพิ่มเข้าไป

ติดตามข่าวสด

ข่าวเด่นประจำวัน