ศบค.วิเคราะห์ กทม. ยังน่าเป็นห่วง แตะ700 รายแล้ว ยกเคสงานวันเกิด เตือนทำไมกลายเป็น ซูเปอร์สเปรดเดอร์ แจงเคส ผู้ประกาศ NBT ปาร์ตี้คนละงาน

พญ.อภิสมัย ศรีรังสรรค์ ผู้ช่วยโฆษกศูนย์บริหารสถานการณ์การแพร่ระบาดโรคโควิด-19 (ศบค.) แถลงสถานการณ์ “โควิด” วันนี้ ว่า สถานการณ์ กทม. จำเป็นต้องดูแลอย่างใกล้ชิด หากนับรวม 15 ธ.ค.-25 ม.ค. ตัวเลขสะสม 700 ราย วันนี้ มี 22 ราย ขอให้ดูไทม์ไลน์ ผู้ติดเชื้อ จะเห็นว่า คน 1 คน ที่ติดเชื้อ จะกลายเป็นซูเปอร์สเปรดเดอร์ไปยังรายอื่นๆ โดยพบว่า ผู้ป่วยรายหนึ่ง ไปเชียงใหม่ ติดเชื้อจากสถานบันเทิง แต่ผู้ป่วยรายนี้ไปงานเลี้ยง วันเกิด ดีเจมะตูม ที่มีคนจำนวนมากที่อยู่ในวัยทำงาน ซึ่งหลังจากทุกคนไปงานวันเกิด การพบเชื้อ แสดงอาการไม่เท่ากัน บางรายพบอาการตั้งแต่วันที่ 11 ม.ค. บางราย วันที่ 20 ม.ค. โดยพบว่า ดีเจมะตูม ก็ไม่มีอาการใดๆ ด้วยซ้ำ

ไทม์ไลน์ วันเกิดมะตูม

ซูเปอร์สเปรดเดอร์ โควิด จากกลุ่ม งานเลี้ยง วันเกิด

พญ.อภิสมัยกล่าวว่า ส่วนการเชื่อมโยงไปคลัสเตอร์ที่ 2 นั้น มาจากผู้ป่วยรายแรกจาก จ.เชียงใหม่ ติดไปยังผู้ป่วยรายหนึ่งที่เป็นร้านสูทอายุ 40 ปี ทำให้เชื่อมไปคลัสเตอร์ที่ 2 และนำไปคลัสเตอร์ที่ 3 อีกทอด ซึ่งเป็นกรณีของ ส. กรกช ซึ่งไม่ได้เกี่ยวข้องกับงานเลี้ยงวันเกิดดีเจมะตูม แต่เชื่อมโยงกันจากการกระจายเชื้อของผู้ป่วยรายแรกจาก จ.เชียงใหม่

หลังจากพบผู้ติดเชื้อมีคำถามว่าทำไมกระจายไปมากเช่นนี้ ที่ต้องเข้าใจคือ เวลาเราไปสัมผัสผู้ติดเชื้อแล้ว มีระยะฟักตัวสั้นที่สุด 2 วัน และแพร่กระจายเชื้อได้ สิ่งที่ทีมสอบสวนโรคพบการติดเชื้อจำนวนมากมีปัจจัยสำคัญคือ ถ้าสัมผัสผู้เสี่ยงสูงหรือผู้ป่วยและถูกไอจามใส่หน้า พูดคุยกันเกิน 5 นาที สถานที่อากาศไม่ถ่ายเทเกิน 15 นาที ไม่ใส่หน้ากาก มีโอกาสติดเชื้อสูงมาก

พญ.อภิสมัยกล่าวว่า นอกจากนี้ ขอให้ผู้ประกอบการ เจ้าของธุรกิจ ดูแลบุคลากรในสถานประกอบการ เพิ่มมาตรการคัดกรองเข้มข้น ลูกจ้าง พนักงานเวลาไปสถานที่ทำงาน ไม่มีโอกาสรู้ว่าเพื่อนร่วมงานไปที่ไหนมาบ้าง อยู่ในพื้นที่เสี่ยงหรือไม่ สัมผัสใกล้ชิดับใคร การป้องกันตัวสูงสุดยังเป็นส่งจำเป็น

 

ติดตามข่าวสด

ข่าวเด่นประจำวัน