กลุ่มแรงงาน ผู้ประกันตน ม.33 มีลุ้น! รมว.สุชาติ เผย กระทรวงแรงงาน จ่อถก กระทรวงการคลัง-สภาพัฒน์ฯ ตั้งงบจ่ายเยียวยา ต่อลมหายใจช่วง ‘โควิด’

เมื่อเวลา 09.30 น. วันที่ 28 มกราคม 2564 นายสุชาติ ชมกลิ่น รมว.แรงงาน ให้สัมภาษณ์กรณีมีการเรียกร้องให้เยียวยา กลุ่มแรงงานในระบบประกันสังคม มาตรา 33 ที่ได้รับผลกระทบจากโควิด-19 ว่า ผู้ประกันตนมาตราดังกล่าวมีประมาณ 11 ล้านคน ขณะนี้เรากำลังดูว่ารูปแบบที่กระทรวงการคลังจ่ายเยียวยามีเงื่อนไขอย่างไรบ้าง

ส่วนรายละเอียดขอให้รอผลสรุปก่อน เนื่องจากต้องหารือกับทางสภาพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติมา (สศช.) ถึงรูปแบบ วิธีการ และต้องหารือกับ รมว.คลัง เนื่องจากงบประมาณที่จะใช้ดำเนินงานเป็นของกระทรวงการคลัง แต่ขณะนี้มีแนวโน้มสัญญาณที่ดี โดยพล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี และรมว.กลาโหม ก็เป็นห่วง ให้ไปหาวิธีการช่วยเหลือ

“มีนักการเมืองที่อาจจะไม่เข้าใจระบบประกันสังคม ไม่เข้าใจรัฐบาลแล้วบอกว่ารัฐบาลไม่เคยช่วยเหลือผู้ใช้แรงงาน ทั้งที่รัฐบาลอุดหนุนเงินกองทุนประกันสังคมปีละกว่า 4 หมื่นล้านบาท โดยไปอยู่ในกองทุนว่างงาน และกองทุนชราภาพ ซึ่งกลับไปให้ผู้ใช้แรงงาน ในอดีตกองทุนประกันสังคมได้รับเงินอุดหนุนจากรัฐบาล 2.75% แต่รัฐบาลที่ผ่านมาติดค้างยาวนานมูลค่าเป็นแสนล้านบาท แต่รัฐบาลนี้อุดหนุนและใช้หนี้เก่าให้กองทุนมีสภาพคล่องมากขึ้น เพื่อช่วยเหลือผู้ใช้แรงงาน” นายสุชาติ กล่าว

นายสุชาติ กล่าวว่า ในการระบาดของโควิดรอบแรก ใช้เงินประกันสังคม 62% ช่วยเหลือแรงงานกว่า 9 แสนคน ครั้งนี้รัฐบาลก็พยายามช่วยเหลือเยียวยา ล่าสุดรัฐบาลจ่ายไปอีก 3 หมื่นกว่าล้านบาท ให้ผู้ได้รับผลกระทบและปิดกิจการ โดยคำสั่งของคณะกรรมการควบคุมโรคจังหวัด ดังนั้น ผู้ประกันตนในระบบไม่ต้องเป็นห่วง เรามีวินัยทางการเงินการคลังอย่างดี และจะพยุงช่วยเหลือทุกคนตามสิทธิที่ประโยชน์ที่ควรได้

ผู้สื่อข่าวรายงานว่า แนวทางการเยียวยาผู้ประกันตน มาตรา 33 ทางกระทรวงแรงงาน จะหารือกับกระทรวงการคลังเพื่อพิจารณารูปแบบการเยียวยา เบื้องต้นคาดว่าจะจ่ายเป็นเงินให้กับผู้ประกันตน โดยมีเงื่อนไขต้องเป็นผู้มีสัญชาติไทย และมีเงินฝากในบัญชีไม่เกิน 5 แสนบาท ซึ่งสอดคล้องกับเงื่อนไขที่กระทรวงการคลังจ่ายเยียวยา 7,000 บาท สำหรับกรอบวงเงินที่จะเยียวยาจะต้องหารือถึงให้ได้ข้อสรุปที่ชัดเจน

ติดตามข่าวสด

ข่าวเด่นประจำวัน