ป่วย ‘โควิด’ รายใหม่ ดับเพิ่มอีก 1 ภาพรวมการติดเชื้อยังมาจากสมุทรสาคร-ปทุมธานี ย้ำคนมีประวัติเสี่ยงต้องรีบแจ้งเมื่อไปรพ.-คลินิก ช่วยปกป้องบุคลากรแพทย์

เกาะติดข่าว กดติดตามไลน์ ข่าวสด
เพิ่มเพื่อน

เมื่อวันที่ 19 ก.พ.64 พญ.อภิสมัย ศรีรังสรรค์ ผู้ช่วยโฆษกศูนย์บริหารสถานการณ์โควิด 19 (ศบค.) แถลงสถานการณ์โรคโควิด 19 ประจำวันว่า สถานการณ์ทั่วโลกมีผู้ติดเชื้อสะสม 110.82 ล้านราย เป็นรายใหม่ 3.97 แสนราย ผู้เสียชีวิตรายใหม่ 11,491 ราย สะสม 2.45 ล้านราย อัตราเสียชีวิต 2.2% หลายประเทศมีแนวโน้มผู้ติดเชื้อลดลง นอกจากการกระจายวัคซีน ยังมีมาตรการออกมาอย่างเข้มข้นและบังคับใช้กันทั่วโลก

ซึ่งขณะนี้ฉีดแล้ว 186 ล้านโดส การจะบอกว่าตัวเลขลดลงเป็นผลจากวัคซีนอาจเร็วเกินไปที่จะสรุปเช่นนั้น ผู้เชี่ยวชาญบอกว่าต้องรอให้ฉีดครนบ 2 โดสและมากเพียงพอ ซึ่งสหรัฐฯ ฉีดครบ 2 ครั้งอยู่ที่ 16 ล้านคน

พญ.อภิสมัย กล่าวว่า สำหรับประเทศไทยมีผู้ติดเชื้อรายใหม่ 130 ราย เป็นการติดเชื้อในประเทศ 116 ราย และเดินทางมาจากต่างประเทศ 14 ราย หายป่วย 124 ราย เสียชีวิตเพิ่ม 1 ราย คือนพ.ปัญญา หาญพาณิชย์พันธุ์ ซึ่งเป็นบุคลากรการแพทย์ ส่งผลให้มีผู้ป่วยรวมสะสม 25,241 ราย รักษาหายแล้ว 24,070 ราย เหลือรักษาอยู่ 1,088 ราย และผู้เสียชีวิตสะสม 83 ราย

ส่วนระลอกใหม่ผู้ติดเชื้อสะสม 21,004 ราย หายสะสม 19,893 ราย เสียชีวิตสะสม 23 ราย อัตราเสียชีวิต 0.11% โดยผู้เสียชีวิต คือ นพ.ปัญญา หาญพาณิชย์พันธุ์ อดีตแพทย์เกษียณ รพ.มหาสารคาม มีโรคมะเร็งต่อมลูกหมาก แม้เกษียณก็ยังเปิดคลินิกดูแลผู้ป่วย ถือเป็นความสูญเสียบุคลากรทางการแพทย์ที่ดูแลประชาชน

ซึ่งท่านติดเชื้อสืบเนื่องจากการดูแลผู้ติดเชื้อรายที่ 2, 9, 11 ของมหาสารคามจากคลัสเตอร์โต๊ะแชร์ วันที่ 13-28 ม.ค. หลังจากนั้นวันที่ 29 ม.ค.ได้รับข่าวว่าผู้ป่วยติดเชื้อ จึงไปตรวจครั้งแรกยังไม่พบเชื้อ วันที่ 31 ม.ค.เริ่มมีอาการปวดกล้ามเนื้อ ครั่นเนื้อครั่นตัว คล้ายมีไข้ วันถัดมามีไข้ วันที่ 2 ก.พ.ตรวจครั้งที่ 2 ผลเป็นบวก รับการรักษา รพ.มหาสารคาม วันที่ 7 ก.พ. มีอาการปอดอักเสบ ต้องใส่ท่อช่วยหายใจ อาการทรุดลงอย่างรวดเร็วและเสียชีวิตวันที่ 18 ก.พ.

“กรณีนพ.ปัญญา ไม่ใช่บุคลากรสาธารณสุขรายแรกที่ติดเชื้อ ซึ่งตั้งแต่ 15 ธ.ค. 2563 – 18 ก.พ. 2564 มีการติดเชื้อ 36 ราย แต่นพ.ปัญญาเป็นรายแรกที่เสียชีวิต ทั้งหมด 36 ราย ติดเชื้อจากการปฏิบัติงาน 6 ราย ซึ่งไม่เฉพาะแพทย์ พยาบาล ทันตแพทย์ ผู้ช่วยพยาบาล ทุกวิชาชีพ กระจายทั่วทุกภาค และบุคลากรเป็นผู้สัมผัสเสี่ยงสูงเสี่ยงต่ำจำนวนมาก ทำให้ต้องกักตัวสูญเสียคนทำงาน โยกบุคลากรมาทำงาน เรามีแพทย์ 3.5 หมื่นราย ต้องดูแลประชากรไทย 1,800 กว่าคน บางพื้นที่ต้องดูแลมากถึง 4-8 พันคน

หากท่านสัมผัสใกล้ชิดผู้ติดเชื้อ ไปพื้นที่เสี่ยง อาศัยในชุมชนที่ประกาศการติดเชื้อ แต่ไป รพ. คลินิก ต้องแจ้งให้ทราบเพื่อให้เกิดการระมัดระวัง เพื่อไม่ให้เกิดการสูญเสียบุคลากร นำมาสู่ข้อเสนอคณะกรรมการเฉพาะกิจ หนึ่งในมาตรการที่นำเสนอ ศบค.ชุดใหญ่คือการกระจายวัคซีน สิ่งสำคัญ คือต้องกระจายวัคซีนเพื่อปกป้องระบบสาธารณสุขของประเทศ วัคซีนล็อตแรกๆ ต้องแจกจ่ายบุคลากรสาธารณสุข เพื่อดูแลรักษาให้มีชีวิตช่วยประชากรไทยต่อเนื่องได้” พญ.อภิสมัย กล่าว

ทั้งนี้ ผู้ป่วยรายใหม่มาจาก 1.สมุทรสาคร 71 ราย คิดเป็น 61.21% สะสม 15,825 ราย คิดเป็น 78.74% 2.กทม. 7 ราย คิดเป็น 6.03% สะสม 941 ราย คิดเป็น 4.68% และ 3.จังหวัดอื่นๆ 38 ราย คิดเป็น 32.76% สะสม 3,333 ราย คิดเป็น 16.58% เมื่อแยกตามประเภทผู้ป่วย พบว่า 1.มาจากระบบเฝ้าระวังฯ 61 ราย ได้แก่ สมุทรสาคร 35 ราย ปทุมธานี 10 ราย กทม. 7 ราย นครปฐม 3 ราย พระนครศรีอยุธยา 4 ราย และนนทบุรี 2 ราย

2.คัดกรองเชิงรุกในชุมชน 55 ราย ได้แก่ นครปฐม 7 ราย ปทุมธานี 12 ราย และ สมุทรสาคร 36 ราย และ 3.ต่างประเทศ 14 ราย ได้แก่ สหรัฐอาหรับเอมิเรตส์และเดนมาร์ก ประเทศละ 3 ราย เยอรมนี พม่า ประเทศ 2 ราย สหรัฐอเมริกา อิตาลี คูเวต และแคเมอรูน ประเทศละ 1 ราย หลายรายพบการติดเชื้อวันที่ 10-13 ของการกักตัวจึงต้องใช้ 4 วันในการกักตัว

ติดตามข่าวสด

ข่าวเด่นประจำวัน