คณะที่ปรึกษา รมว.สธ.เห็นพ้อง หาวัคซีนโควิดเพิ่ม 15-20 ล้านโดส ให้ได้ยอดรวม 80 ล้านโดส 40 ล้านคน ครอบคลุม 80% ที่ฉีดได้ พ่วงพื้นที่เสี่ยง จังหวัดท่องเที่ยว

วันนี้ (4 มี.ค.) นพ.โสภณ เมฆธน ผู้ช่วยรัฐมนตรีประจำกระทรวงสาธารณสุข (สธ.) กล่าวภายหลังประชุมคณะที่ปรึกษารัฐมนตรีว่าการกระทรวงสาธารณสุข ด้านโควิด 19 ว่า ที่ประชุมหารือกัน 2 เรื่อง คือ 1.ไทยต้องจัดหาวัคซีนโควิดเพิ่มเติม จากที่มีอยู่ 63 ล้านโดส ซึ่งจำนวนไม่ได้กำหนดชัด แต่คำนวณจากประชากรไทยกว่า 65 ล้านคน หักกลุ่มอายุต่ำกว่า 18 ปี จะเหลือประชาชนที่เข้าข่ายได้รับรับวัคซีนประมาณ 50 ล้านคน บวกคนต่างด้าวอีกประมาณ 5 ล้านคน คิดที่ 80% ของประชากร 55 ล้านคน ประมาณการณ์ว่ามีคนควรได้รับวัคซีนประมาณ 40 ล้าน คนละ 2 โดส จึงต้องใช้วัคซีน 80 ล้านโดส ดังนั้นเราควรหาวัคซีนเพิ่มอีก 15-20 ล้าน โดยไม่ได้จำกัดว่าเป็นวัคซีนชนิดใด ไม่ได้คุยกันเรื่องราคาว่าต้องมีกำหนดเพดานที่เท่าไร

“ตอนนี้พื้นที่เสี่ยงและจังหวัดท่องเที่ยวมีความต้องการสูง ที่ปรึกษาจึงเห็นว่าควรหาวัคซีนเพิ่มเข้ามาให้เร็วที่สุด ภายในปีนี้ ที่ปรึกษาบางท่านมีข้อเสนอถึงการให้เอกชนเข้ามาร่วมมือในการจัดหาวัคซีน ก็ต้องไปดูรายละเอียดของทางสำนักงานคณะกรรมการอาหารและยา (อย.) ว่าจะเป็นแบบใด ซึ่งหากเอาเข้ามาได้จริงๆ ก็ต้องเข้าระบบเรื่องการตรวจสอบ ติดตามอาการหลังการฉีดวัคซีนของ สธ.ที่ทำเอาไว้แล้ว เรื่องนี้ก็ต้องเสนอนายอนุทิน ชาญวีรกูล รองนายกรัฐมนตรีและ รมว.สธ. พิจารณา ” นพ.โสภณกล่าว

นพ.โสภณกล่าวว่า 2.การออกหนังสือรับรองการฉีดวัคซีน หลังฉีดครบ 2 เข็มจะออกหนังสือรับรองที่เป็นรูปเล่ม และแบบอิเล็กทรอนิกส์ ส่วนรูปแบบที่เป็นสากลยอมรับกันได้ทั่วโลกยังต้องรอองค์การอนามัยโลกพิจารณาออกหลักเกณฑ์ อย่างไรก็ตาม ช่วงบ่ายวันที้ 4 มี.ค.จะมีการหารือในรายละเอียดในที่ประชุมคณะอนุกรรมการอำนวยการบริหารจัดการการให้วัคซีนป้องกันโรคโควิด-19 ก่อนเสนอเข้าที่ประชุมคณะกรรมการโรคติดต่อแห่งชาติในวันที่ 8 มี.ค.นี้

ด้าน นพ.ไพศาล ดั่นคุ้ม เลขาธิการ อย. กล่าวว่า เราไม่ได้ปิดกั้นภาคเอกชน หากใครจัดหาวัคซีนเข้ามาได้ แต่ขอให้มาขึ้นทะเบียนเป็นผู้นำเข้าให้ถูกต้องกับ อย. ซึ่งตอนนี้ยังไม่มีใคร ไม่มีรพ.เอกชนใดมายื่นทะเบียน อย่างไรก็ตาม ในวันที่ 8 มี.ค.นี้ หลังการประชุมคณะกรรมการโรคติดต่อฯ อย.จะมีการประชุมชี้แจงทำความเข้าใจกับทางเอกชน สำหรับการขึ้นทะเบียนวัคซีนในไทยตอนนี้นอกจากซิโนแวค และแอสตราเซนเนกาแล้ว ก็มีจอห์นสัน แอนด์ จอห์นสัน และบริษัท บารัต ไบโอเทค ของอินเดียมายื่นเอกสารเพื่อขอขึ้นทะเบียน อยู่ระหว่างการพิจารณา

ติดตามข่าวสด

ข่าวเด่นประจำวัน