ศบค.สรุป 6 สาเหตุทำติดเชื้อสูง พบรอเตียงเพิ่มเป็น 2,013 ราย เผยมี 146 สายปฏิเสธรักษา วอนทุกคนเข้ามารักษาตามระบบ ส่วนยกระดับมาตรการกำลังวิเคราะห์ข้อมูลและผลกระทบ

วันที่ 24 เม.ย. 2564 นพ.ทวีศิลป์ วิษณุโยธิน โฆษกศูนย์บริหารสถานการณ์โควิด 19 (ศบค.) กล่าวว่า ศบค.ชุดเล็กได้สรุปในที่ประชุมว่า 1 สัปดาห์ที่ผ่านมา สาเหตุการติดเชื้อมี 6 ประเด็น คือ 1.ติดเชื้อในที่ทำงาน ทั้งภาครัฐ เอกชน และรัฐวิสาหกิจ 2.การพบปะ รับประทานอาหารร่วมกัน

3.การติดเชื้อภายในครอบครัว 4.การมั่วสุมรวมกลุ่ม ไม่เว้นระยะห่าง หรือทำกิจกรรมที่เสี่ยง 5.การมีกิจกรรมกิจการการรวมกลุ่มของผู้สุงอายุ ที่ทราบกัน คือ สถานดูแลผู้สูงอายุ สิ่งสำคัญที่อาจจะเป็นสาเหตุด้วย คือ อาจจะเกี่ยวข้องกับการเดินทางโดยขนส่งสาธารณะด้วยหรือไม่ ต้องไปหาสาเหตุ และ 6.ผู้ติดเชื้อให้ไทม์ไลน์หรือข้อมูลคลาดเคลื่อนขาดจุดสำคัญ ทำให้กระบวนการสอบสวนควบคุมโรคล่าช้าไปด้วย

เพราะฉะนั้นสิ่งที่ขอเน้นย้ำอย่างเข้มข้น คือ 1.มาตรการส่วนบุคคล สวมหน้ากาก ล้างมือเว้นระยะห่าง 2.ผู้ประกอบการ สถานที่ทำงาน ขนส่งสาธารณะ ขอให้ร่วมมือกัน 3.หน่วยงานภาครัฐและเอกชนยึดนโยบายทำงานที่บ้านสูงที่สุด ไม่อยากใช้มาตรการที่แรงไปกว่านี้ และการประชุมออนไลน์ที่เป็นมาตรฐานสำคัญในการประชุมต่างๆ แล้ว และ 4.ให้กระทรวงมหาดไทยและสำนักงานตำรวจแห่ชาติ (สตช.) ได้ตรวจกำกับติดตามภารกิจตามข้อกำหนดของศบค.โดยเคร่งครัด

ส่วนเรื่องจำนวนเตียงที่ว่าเตียงไอซียูจะไม่พอ วันนี้มีการนำเสนอในที่ประชุมของกระทรวงสาธารณสุข ภาพรวมเรามีเตียงทั่วประเทศทุกชนิด 40,524 เตียง ได้แก่ห้องแยกความดันลบ 704 เตียง ห้องเตียงรวมความดันลบ 1,688 เตียง ห้องแยก 9,206 ห้อง โคฮอร์ทวอร์ด หรือหอผู้ป่วยรับเฉพาะกลุ่มโควิดเดียวกัน 22,435 เตียง Hospitel 158 เตียง และโคฮอร์ทไอซียู 6,333 เตียง อัตราครองเตียงทั้งประเทศ 19,386 เตียง คิดเป็น 47.8% เตียงว่าง 21,138 เตียง จึงอยากให้เข้าใจภาพรวมทั้งประเทศยังไม่วิกฤตอย่างที่ว่า แต่ที่บอกไปเมื่อวาน คือ ภาพรวมของ กทม.

ทั้งนี กทม.และปริมณฑลมีเตียงรวม 16,422 เตียง ครองเตียง 11,075 เตียง อัตราครองเตียง 67.4% เตียงว่าง 5,347 เตียง โดยเตียงห้องแยกความดันลบจาก 69 เตียงก็เพิ่มมากเป้น 74 เตียง ห้องรวมความดันลนจาก 69 เตียง เป็น 72 เตียง มีการบริหารจัดการเตียงขึ้นมา เมื่อวานและเมื่อเช้าคุยกันว่า เตียงเหล่านี้มีการเคลื่อนไหวหมุนไปเรื่อยๆ ความสามารถการจัดการเตียง บางครั้งต้องดึงคนไข้ไม่เกี่ยวข้อง เบาหรืออาการดีขึ้นออกไป ซึ่ง สธ.ที่ดูแลภาพกว้าง พยายามให้ว่างให้ได้มาก โดยรวม กทม.มีประเด็นพอสมควร ข้อดีคือมีหลายหน่วยงาน บุคลากรทางการแพทย์กระจุกตัวสูงมาก ตอนนี้ทำงานเต็มที่เพื่อให้ผู้รอเตียงใน กทม.เข้ามารับการรักษาให้ได้มาก พยายามเบ่งเตียงของ รพ.ทุกสังกัด อย่าง รพ.สนามก็ขยายออกไปจนรองรับได้ โดยเคสโควิดส่วนใหญ่อาการดี ไม่มาก สามารถนำมาอยู่ตรงนี้

ถามว่าจากการรอเตียงแล้วไม่ได้เตียง อาการจากสีเขียว แต่รอนานจนกลายเป็นสีเหลือง แดง และเสียชีวิต นพ.ทวีศิลป์กล่าวว่า วันนี้มีผู้รอเข้ารับการรักษารอสาย กทม.และปริมณฑล 2,013 รายที่รอเตียง เพิ่มขึ้น 590 ราย เมื่อวานได้ดำเนินการจัดการคนที่รอเตียงเข้าไปรับการรักษาเพิ่มขึ้น 724 ราย สิ่งที่จะเกิดขึ้นในวันนี้จะมีการจัดการกับ 2,013 ราย โดยมีการจัดพื้นที่ รพ.สนาม และ Hospitel 4 แห่งใน กทม.และปริมณฑล โดยจะโทรศัพท์กลับไปให้ได้ใน 2-3 วันนี้ เพื่อให้เข้ามายังพื้นที่ 4 แห่งที่เตรียมไว้ ให้รอรับโทรศัพท์ หากอาการไม่รุนแรงจะให้เข้ารพ.สนาม Hospitel หากรุนแรงจะมีการซักถามประวัติ และส่งรพ.ที่รองรับคู่กันกับ รพ.สนาม หรือ Hospitel ในลำดับทีเหมาะสมต่อไป ส่วนการขนส่งจะมีสถาบันการแพทย์ฉุกเฉินแห่งชาติ (สพฉ.) เข้ามาเสริมทีม มีการใส่ชุดพีพีอีป้องกันเต็มที่

“ขอทุกคนรอรับสายและให้ความร่วมมือ แต่ที่ไม่สบายใจ เพราะรับรายงานว่า หลายสายเมื่อวานปฏิเสธการแอดมิท ติดต่อกลับไปไม่ได้ 146 สาย เป็นเรื่องที่ถูกฝากว่าขอความร่วมมือทุกท่าน ไม่สบายใจเลยที่รอที่บ้าน ขอบคุณที่อดทนรอ เราพยายามทำระบบกลไกทุกอย่าง ขอให้ร่วมมือกับเราไม่ปฏิเสธที่จะแอดมิทเพื่อที่จะได้มีโอกาสดูแลอย่างดี เหตุการณ์ไม่พึงประสงค์ก็ขออภัยที่เกิดขึ้น ก็จะเกิดได้น้อยลงด้วย” นพ.ทวีศิลป์กล่าว

ถามว่าถ้าผู้ติดเชื้อมากขึ้นอาจถึงขีดความสามารถที่จะรองรับ จะมีมาตรการอะไรเพิ่มหรือไม่ นพ.ทวีศิลป์กล่าวว่า นายกฯ บอกว่าพร้อมที่จะยกระดับในการดูแลประชาชนในภาพรวม แต่ข้อมูลต้องนำมาวิเคราะห์แยกแยะชัดเจน กลุ่มก้อนไหนที่เป็นปัญหาและจัดการเฉพาะที่ ตอนนี้ กทม.และปริมณฑลมีตัวเลขสูง และรอรับบริการ เหลือบริหารจัดการทำให้เคลียร์ ถ้าตัวเลขเราพยายามคลีนช่วยกันเต็มที่ คนที่รออยู่ที่บ้านไม่ทำให้ติดเชื้อในครอบครัว ตัวเลขที่เป็นจริงเท่าไร กิจการกิจกรรมที่เป็นปัญหา อย่างวันนี้ที่บอก 6-8 กิจกรรมถูกเพ่งเล็งและจัดการอย่างไร เป็นเรื่องที่ละอียดอ่อน ก็อยู่ในการพิจารณา การยกระดับมาตรการมีความสำคัญกระทบกับประชาชน ถ้าจะยกระดับดูพื้นที่ไม่ใช่ยกทั้งประเทศ ประชาชนอาจได้รับผลกระทบ จะเป็นพื้ที่เฉพาะ หรืออย่างไร ขอเวลา ทีมฝ่ายยุทธศาสตร์ยังคิดให้ละเอียดจะมีข้อเสนอเชิงมาตรการออกมาอีกครั้ง

ติดตามข่าวสด

ข่าวเด่นประจำวัน