หมอแจง เร่งสอบชายพนักงานรถเอกซเรย์ ฉีดวัคซีน 2 วันดับ ขออย่ายึดติดตัวเลขประสิทธิภาพ วัคซีน ยันทุกตัวป้องกันป่วยหนัก-เสียชีวิตเกือบ 100% ส่วนวัคซีนตัวอื่นๆกำลังเรียงคิวเข้ามา

วันที่ 6 พ.ค.2564 นพ.ทวี โชติพิทยสุนนท์ ผู้ทรงคุณวุฒิในคณะกรรมการโรคติดต่อแห่งชาติ กล่าวถึงกรณีชาย อายุ 51 ปี พนักงานขับรถเอกซเรย์ ชาวจ.นนทบุรี เสียชีวิตหลังรับการฉีดวัคซีนโควิดได้เพียง 2 วัน แพทย์ระบุสาเหตุ เกิดจากสภาวะกล้ามเนื้อหัวใจวายเฉียบพลัน แต่ครอบครัวสงสัยว่าเกิดจากการวัคหรือไม่ ว่า รายนี้คณะกรรมการพิจารณาเหตุการณ์ไม่พึงประสงค์จากวัคซีนกำลังดำเนินการสอบสวน เมื่อมีผู้เสียชีวิตก็ต้องพิจารณาและดูข้อมูลอย่างละเอียด

รายนี้มีรายงานว่า เกิดจากโรคกล้ามเนื้อหัวใจตายเฉียบพลัน เท่าที่อ่านข้อมูลเบื้องต้นก็ถือว่ามีอาการเข้าได้กับโรคกล้ามเนื้อหัวใจตายชัดเจน เนื่องจากมีอาการเจ็บหน้าอก แต่หลักฐานข้อบ่งชี้ที่ชัดเจนที่สุดว่าเป็นโรคนี้หรือไม่ คือ กราฟการเต้นของหัวใจ คาดว่าจะใช้เวลาไม่นาน จะได้ข้อสรุปออกมาเร็วๆนี้ หากมีหลักฐานชัดเจนก้สามารถฟันธงได้ว่า สำหรับโรคกล้ามเนื้อหัวใจตายเฉียบพลันมักพบในคนที่เป็นโรคความดันโลหิตสูง โรคหัวใจ และเบาหวาน ”

นพ.ทวี ระบุด้วยว่า วัคซีนถือเป็นอาวุธสำคัญในการสู้กับโรคหรือทำให้บรรเทาลง สิ่งที่อยากเห็นจากวัคซีน คือ ไม่ให้มีการติดเชื้อ หรือติดเชื้อแต่ไม่ป่วยหนัก หรือไม่แพร่ไปในครอบครัวและสังคม และอาจสู้กับการกลายพันธุ์ได้ แต่วัคซีนโควิด 19 เพิ่งวิจัยหลังจากมีโรคนี้ 10 เดือน ต้องเข้าใจก่อนว่า ยังไม่มีอะไรที่สมบูรณ์แบบ จึงต้องชั่งน้ำหนักเทียบประโยชน์และโทษอันไหนมากกว่ากัน ซึ่งทุกประเทศเห็นพ้องว่า มีประโยชน์มากกว่าโทษ

 หมอแจงฉีดวัคซีน

“ที่ผ่านมามักมีการออกมาพูดถึงตัวเลขประสิทธิภาพของวัคซีนโควิด 19 ของยี่ห้อต่างๆ อย่างไฟเซอร์ 95% โมเดอร์นา 94% สปุตนิก วี 92% นาโนแวค 89% แอสตร้าเซนเนก้า 67% และจอห์นสันแอนด์จอห์นสัน 66% หลายคนมักยึดติดตัวเลขเหล่านี้ จึงไม่อยากให้เอาตัวเลขเหล่านี้มาเป็นข้อกังวล เพราะตัวเลขพวกนี้มาจากการวิจัยที่หลากหลายและไม่เหมือนกัน ทั้งสถานที่ เวลา เผ่าพันธุ์ และการแพร่กระจายแต่ละแห่งซึ่งบางแห่งมีเชื้อกลายพันธุ์ ซึ่งการวิจัยต้องมีการวิจัยที่แตกต่างกันออกไป ดังนั้น จึงเอามาเทียบกันไม่ได้ สิ่งที่ทางการแพทย์อยากเห็นคือการป้องกันการป่วยหนัก ซึ่งวัคซีนทุกตัวมีข้อมูลชัดเจนว่า ป้องกันการเสียชีวิตและป้องกันป่วยหนักนอนไอซียูเกือบ 100% ”

นพ.ทวี กล่าวอีกว่า วัคซีนซิโนแวคก็ป้องกันอาการโรครุนแรง 100% เหมือนตัวอื่นๆ ป้องกันโรคอาการปานกลางที่ต้องนอนรพ. แต่ไม่ถึงขั้นต้องเจาะคอใส่ท่อช่วยหายใจได้ถึง 83% ป้องกันกลุ่มที่ไม่ค่อยมีอาการได้ 50.7% อย่างการใช้ที่บราซิลฉีดเข็มแรกไป 2 สัปดาห์ผู้ป่วยลดลง ฉีดเข็มสองคนไข้ก็ยิ่งลด ส่วนวัคซีนแอสตร้าเซนเนก้า เข็มเดียวน่าจะป้องกันได้อย่างน้อย 3 เดือน และเข็มสองประสิทธิภาพอยู่ที่ 62-81.5% ซึ่งมาจากการศึกษาในหลายพื้นที่และศึกษาตอนช่วงที่มีโรคระบาด แต่ของไฟเซอร์หรือโมเดอร์นาศึกษาตอนโรคยังไม่ระบาดมาก

“อย่างบราซิลมีการศึกษาในบุคลากรทางการแพทย์ ซึ่งกำลังมีการติดเชื้ออย่างมาก และส่วนหนึ่งมีเชื้อกลายพันธุ์ การศึกษาวัคซีนแอสตร้าเซนเนก้า ก็พบว่ามีผลต่อเชื้อกลายพันธุ์ค่อนข้างดี โดยเฉพาะสายพันธุ์อังกฤษได้ผลเกือบ 70% สายพันธุ์ดั้งเดิมป้องกันได้ประมาณ 81% ขึ้นไป แต่สายพันธุ์แอฟริกาใต้ยังไม่ค่อยดี ส่วนข้อมูลของไฟเซอร์และโมเดอร์นากำลังศึกษาป้องกันการกลายพันธุ์”

 หมอแจงฉีดวัคซีน

นพ.ทวี ระบุต่อว่า ขณะที่สกอตแลนด์มีการศึกษาถึงวัคซีนของแอสตร้าเซนเนก้ากับไฟเซอร์ ปรากฏว่าไม่ได้ด้อยกว่ากัน แต่แอสตร้าเซนเนก้ามีแนวโน้มดีกว่าโดยเฉพาะการตอบสนองต่อภูมิคุ้มกัน ซึ่งเป็นผลศึกษาวิจัยในการฉีดเข็มแรกตั้งแต่สัปดาห์ที่ 3 เป็นต้นไป ส่วนกรณีการเกิดลิ่มเลือดอุดตันทั้งในแอสตร้าเซนเนก้าและจอห์นสันแอนด์จอห์นสัน พบเกิดขึ้น 4 ใน 1 ล้านเข็ม เสียชีวิต 1 ในล้านราย แต่คนป่วยโควิดมีโอกาสเกิดลิ่มเลือด 1 ใน 8 อัตราเสียชีวิต 2 ใน 100 และลิ่มเลือดอุดตันเกิดในคนสูบบุหรี่จัดพบ 1.7 พันกว่าคนต่อล้านประชากรที่สูบ แต่ตรงนี้ไม่ได้เป็นโรคที่พบในคนเอเชีย แต่ตอนนี้เรายังใช้วัคซีนน้อยก็ต้องเฝ้าระวัง

“นอกจากนี้ วัคซีนของไฟเซอร์และแอสตร้าเซนเนก้า มีการศึกษาและเพิ่งตีพิมพ์ไปเมื่อสัปดาห์ที่แล้วว่า ทั้งคู่ฉีดแล้วป้องกันแพร่เชื้อในครอบครัวได้ถึงครึ่งหนึ่ง ไฟเซอร์ได้ 60% แอสตร้าเศนเนก้า 50% โดยศึกษาคนที่ฉีดวัคซีนแล้วป่วยโควิด เมื่อไปดูคนในบ้านพบว่าติดเชื้อน้อยลงเมื่อเทียบกับคนไม่ได้ฉีด ดังนั้น วัคซีนเป็นสิ่งจำเป็นในการควบคุมโรค เพราะฉะนั้นต้องดูจากข้อมูลและพิจารณาเอาเอง อย่างไรก็ตาม การฉีดวัคซีนชั่งน้ำหนักแล้วมีประโยชน์มากกว่าโทษ

ส่วนวัคซีนตัวอื่นจะเข้ามาในไทยหรือไม่ เช่น ไฟเซอร์ โมเดอร์นา หรือตัวอื่นๆ กำลังเรียงคิวเข้ามา แต่ต้องยื่นเอกสารให้ อย.ตรวจสอบเพื่อขึ้นทะเบียน อนาคตอาจมีตัวอื่นๆ เข้ามาด้วย แต่ยังตอบไม่ได้ตัวไหนจะมาก่อนมาหลัง” นพ.ทวี กล่าว

ติดตามข่าวสด

ข่าวเด่นประจำวัน