ทีมนักวิจัยญี่ปุ่น วิเคราะห์ข้อมูลและสถิติทางพันธุกรรม คาด หมู่เลือด อาจสัมพันธ์กับความรุนแรงป่วยโควิด รวมถึงนักวิจัยสหรัฐฯ ระบุ สอดคล้องกับงานวิจัยในแคนาดา ทั้งนี้ รายงานผลการศึกษาและวิจัย อื่น ๆ ก่อนหน้า ยังคงพบว่า ไม่มีความสัมพันธ์ระหว่างหมู่โลหิตและความเสี่ยงในการป่วยที่รุนแรงจากการติดเชื้อโควิด-19

Reuters

เมื่อวันที่ 17 พ.ค.64 เมดสเคป วารสารทางการแพทย์ ประเทศสหรัฐอเมริกา ได้ตีพิมพ์บทความวิจัย ระบุว่า ผู้ป่วยที่มีหมู่โลหิตประเภท โอ อาจมีความเสี่ยงที่สัมพันธ์กับความรุนแรงในการป่วยจากโควิด-19 ต่ำกว่าหมู่โลหิตประเภทอื่น ๆ ขณะที่การศึกษาของนักวิจัยญี่ปุ่น ได้ทำการวิเคราะห์ข้อมูลทางพันธุกรรมจำนวนมากของชาวญี่ปุ่น จนได้ข้อสรุปว่า ผู้ป่วยโควิด-19 ที่มีอายุต่ำกว่า 65 ปี ที่มีหมู่โลหิตเอบี อาจมีความเสี่ยงสูงที่จะมีอาการป่วยรุนแรง

Takanori Kanai , Professor of Keio University

โดยคณะทำงานนักวิจัยของญี่ปุ่น ประกอบด้วยผู้เชี่ยวชาญด้านโรคติดเชื้อ ผู้เชี่ยวชาญด้านข้อมูลทางพันธุกรรม และผู้เชี่ยวชาญด้านสถิติทางพันธุกรรม ทีมวิจัยนี้ ก่อตั้งขึ้น ในเดือนพฤษภาคม พ.ศ.2563 โดย นาย ทาคาโนริ คาไน ศาสตราจารย์ มหาวิทยาลัยเคโอะ และนักวิชาการคนอื่น ๆ

การศึกษาได้เปรียบเทียบหมู่โลหิตระหว่างสองกลุ่ม จากกลุ่มตัวอย่างที่มีอายุต่ำกว่า 65 ปี กลุ่มตัวอย่างแรก ประกอบด้วยผู้ป่วยโควิด-19 ที่มีอาการรุนแรง จำนวน 440 คน และกลุ่มที่สองประกอบด้วยกลุ่มตัวอย่างในช่วงอายุเดียวกัน 2,377 คน ซึ่งได้รับการเก็บตัวอย่างโลหิต ก่อนการระบาด โดยอัตราส่วนของผู้ป่วยหมู่โลหิต เอบี ที่ป่วยโควิด-19 ที่มีอาการรุนแรงนั้นสูงกว่าผู้ที่มีหมู่โลหิต เอบี ในกลุ่มที่สองถึง 1.4 เท่า ขณะที่ อัตราส่วนของผู้ป่วยโควิด-19 ที่มีอาการรุนแรงของหมู่โลหิต โอ พบสูงกว่าผู้ที่มีหมู่โลหิต โอ ในกลุ่มที่สอง 0.8 เท่า

Keio University

ผลการวิเคราะห์พบว่า ผู้ที่มีหมู่โลหิต เอบี มีความเสี่ยงสูงกว่าที่จะมีอาการร้ายแรงจากการติดเชื้อโควิด-19 มากกว่าคนที่มีหมู่โลหิต โอ ถึง 1.6 เท่า ผู้เชี่ยวชาญด้านสถิติ ระบุว่า จากผลวิจัยพบว่า กลุ่มตัวอย่างมีความแตกต่างอย่างมีนัยสำคัญเชิงสถิติ อย่างไรก็ตาม ผลการวิจัยไม่พบความแตกต่างในอัตราส่วนของผู้ที่มีหมู่โลหิต เอ และหมู่โลหิต บี ในทั้งสองกลุ่ม

Multi-omics highlights ABO plasma protein as a causal risk factor for COVID-19 / ResearchGate

ขณะเดียวกัน จิม คลิงก์ นักวิจัยจากสหรัฐฯ ได้ตีพิมพ์บทความลงใน วารสารเมดสเคป ซึ่งเป็นวารสารทางการแพทย์ของสหรัฐฯ ระบุว่า การวิเคราะห์เกี่ยวกับการแสดงออกของยีนและปริมาณโปรตีนในปอดและเนื้อเยื่อในโลหิต แสดงให้เห็นว่ายีนบางชนิด มีบทบาทสำคัญในการกำหนดหมู่โลหิต ที่อาจส่งผลต่อความอ่อนแอทางร่างกายในการต้านทานโควิด-19

Multi-omics highlights ABO plasma protein as a causal risk factor for COVID-19 / ResearchGate

โดยเชื่อมโยงกับงานวิจัยของ ดร.เฮอร์นันเดซ คอร์เดโร นักวิจัยจาก มหาวิทยาลัยบริติชโคลัมเบีย ประเทศแคนาดา ที่ทำการวิเคราะห์ข้อมูลเชิงพันธุกรรมของหมู่โลหิต เอบีโอ ซึ่งส่งผลต่อการแสดงออกของยีนและโปรตีนในปอด เลือด และพันธุกรรมที่เกี่ยวข้องกับความอ่อนแอในการต้านทานโควิด-19 โดย พบว่าหมู่โลหิต โอ มีความเสี่ยงต่ำกว่า หมู่โลหิตอื่น ๆ ซึ่งช่วยลดความเสี่ยงในการเกิดอาการรุนแรงได้

Multi-omics highlights ABO plasma protein as a causal risk factor for COVID-19 / ResearchGate

ทั้งนี้ผลการศึกษาดังกล่าวยังไม่สามารถสรุปได้ เนื่องจากชาวตะวันตกมีสัดส่วนของหมู่โลหิต เอบี ในจำนวนที่น้อยมาก รวมถึง รายงานผลการศึกษาอื่น ๆ ยังคงพบว่า ไม่มีความสัมพันธ์ระหว่างหมู่โลหิตและความเสี่ยงในการป่วยที่รุนแรงจากการติดเชื้อโควิด-19

Blood types prevalence

ติดตามข่าวสด

ข่าวเด่นประจำวัน