สธ.เปิดแผนกระจายวัคซีน มีในมือ 3.54 ล้านโดส พร้อมฉีด 7 มิ.ย. จองซื้อไฟเซอร์ 20 ล้านโดส จอห์นสันฯ คิวต่อไปอีก 5 ล้านโดส จุดฉีดตจว.มี 993 จุด กทม. 25 จุด

เมื่อวันที่ 4 มิ.ย.64 นพ.โอภาส การย์กวินพงศ์ อธิบดีกรมควบคุมโรค (คร.) กระทรวงสาธารณสุข (สธ.) กล่าวถึงแผนกระจายวัคซีนโควิด-19 ว่า เป้าหมายการฉีดวัคซีนของนายกรัฐมนตรี คือ คนในแผ่นดินไทยทุกคน ทั้งคนไทยและต่างชาติที่สมัครใจรับการฉีดวัคซีนโดยไม่คิดมูลค่า โดยการสร้างภูมิคุ้มกันเพื่อให้ขับเคลื่อนเศรษฐกิจและสังคมต่อไปได้ ต้องฉีดอย่างน้อย 50 ล้านคน

โดยต้องสร้างสมดุลทั้งการจัดหา ความต้องการฉีดวัคซีน และการกระจายวัคซีน โดยจุดฉีดวัคซีนตอนนี้มีทั่วประเทศ ซึ่งมีศักยภาพสูง บางจุดฉีดได้เกิน 1 หมื่นรายต่อวัน แผนหลักการฉีดวัคซีนคือ มิ.ย. ซึ่งวันที่ 7 มิ.ย.เป็นหมุดหมายสำคัญในการฉีดวัคซีนพร้อมกันจำนวนมาก แต่เพื่อรองรับสถานการณ์ระบาดก่อนหน้านี้ มีการนำวัคซีนซิโนแวคมาฉีดตั้งแต่วันที่ 28 ก.พ. จนถึงสิ้นพ.ค.ฉีดแล้ว 3,644,859 โดส แต่หากนับถึงปัจจุบันเชื่อว่าเกิน 4 ล้านโดสแล้ว ความต้องการฉีดวัคซีนมีมาก โดยเฉพาะพื้นที่ระบาดมาก คือ กทม.ฉีดแล้ว 1 ล้านโดส ทำให้ยับยั้งชะลอการระบาดได้ส่วนหนึ่ง

“ส่วนการจัดหาวัคซีนในปี 2564 เป้าหมายคือ 100 ล้านโดส และปี 2565 เพิ่มอีก 50 ล้านโดส รวมเป็น 150 ล้านโดส เพราะอาจต้องฉีดกระตุ้นอีกเข็มหนึ่ง รวมถึงถ้ามีเชื้อกลายพันธุ์ก็ต้องหาวัคซีนรุ่นถัดไป ดังนั้น ไม่ว่างบประมาณปี 2565 จะเป็นอย่างไร รัฐบาลมีแนวทางจัดหางบประมาณให้ กระทรวงสาธารณสุขแน่นอน ทั้งงบเงินกู้ หรืองบกลางต่างๆ” นพ.โอภาสกล่าว

นพ.โอภาส กล่าวต่อว่า การจัดหาวัคซีน 100 ล้านโดสในปีนี้ มีการจัดหาของซิโนแวคแล้ว 6 ล้านโดส แอสตร้าเซนเนก้า ลงในนามสัญญา 61 ล้านโดส เบื้องต้นส่งมา 2.04 ล้านโดส คือ ล็อตก่อนหน้า 2.4 แสนโดสกระจายไปแล้ว และวันนี้ 1.8 ล้านโดสซึ่งผลิตในไทยที่ผ่านการรับรองคุณภาพมาตรฐานสากล เพราะฉะนั้นตอนนี้เรามี 67 ล้านโดส ยังขาดอยู่ 33 ล้านโดส นายกฯ ให้นโยบายจัดหาเพิ่มเติม โดยอยู่ในขั้นตอนลงนามสัญญาคำสั่งจองวัคซีนกับบริษัทไฟเซอร์ ซึ่งเป็นไปได้ด้วยดี

สัปดาห์หน้าคงมีความก้าวหน้า น่าจะลงนามในสัญญาจองวัคซีน และวัคซีนของจอห์นสันแอนด์จอห์นสัน อยู่ในขั้นตอนการเตรียมทำสัญญาและร่างลงนามในการจองวัคซีน ทั้ง 2 วัคซีนคาดว่าจะได้รวม 25 ล้านโดส และมีแผนจัดซื้อซิโนแวคอีก 8 ล้านโดสเป็นอย่างน้อย ก็จะได้ครบ 100 ล้านโดส เชื่อว่าเดือนนี้น่าจะมีข่าวดีให้ทราบ

“อีกหนึ่งข่าวดีคือ วัคซีนที่เราใช้ในประเทศไทย ทั้งซิโนแวคและแอสตร้าเซนเนก้า ได้ผ่านการรับรองจากสำนักงานคณะกรรมการอาหารและยา (อย.) และองค์การอนามัยโลก ว่าเป็นวัคซีนที่ใช้ได้ในภาวะฉุกเฉินเหมือนกันทั่วโลก รวมทั้งคณะกรรมการผู้เชี่ยวชาญด้านวิชาการได้ทบทวนความรู้และระบุว่า วัคซีนทั้ง 2 ชนิดนี้สามารถให้ได้ในคนอายุ 18 ปีขึ้นไป ไม่จำกัดอายุแล้ว ไม่มีความแตกต่างอย่างมีนัยยะสำคัญ ทำให้บริหารจัดการเรื่องวัคซีนได้ง่ายขึ้น ส่วนการฉีดวัคซีนชนิดไหนให้ขึ้นกับการพิจารณาของแพทย์ ซึ่งเป็นไปตามข้อบ่งชี้ทางการแพทย์” นพ.โอภาสกล่าว

นพ.โอภาส กล่าวว่า ส่วนการกระจายวัคซีน เนื่องจากเป็นการใช้ในภาวะฉุกเฉินทั่วโลก จึงไม่รอให้มีวัคซีนจำนวนมากแล้วไปซื้อ เมื่อผลิตจะมีการส่งมอบ รับ และกระจายทันที แผนจึงมีการเคลื่อนไปเรื่อยๆ ทุกสัปดาห์ ดังนั้น แผนในเดือนมิ.ย.ที่วางไว้ นายอนุทิน ชาญวีรกูล รองนายกรัฐมนตรีและรมว.สาธารณสุข จึงให้แนวไว้ว่าจะกระจายอย่างต่อเนื่องทุกสัปดาห์ เมื่อไรที่มีวัคซีนผลิตในประเทศของแอสตร้าเซนเนก้า มาได้ทุกสัปดาห์ให้มีการทบทวนดูว่าผลิตได้เท่าไร และกระจายอย่างต่อเนื่อง เพื่อฉีดอย่างต่อเนื่อง (โรลลิ่ง)

โดย 2 สัปดาห์แรกของเดือนมิ.ย. เรามีวัคซีนแอสตร้าเซนเนก้า 2.04 ล้านโดส วัคซีนซิโนแวค 1.5 ล้านโดส ถือว่าเรามีในมือที่จะฉีดวันที่ 7 มิ.ย.เป็นต้นไป 3.54 ล้านโดส จะกระจายไปจังหวัดต่างๆ และสัปดาห์ที่ 3 ของมิ.ย.จะมีอีก 8.4 แสนโดส และสัปดาห์ที่ 4 อีก 2.58 ล้านโดส เป็นตัวเลขจากการตกลงกับบริษัทไปเบื้องต้น อาจมีการเพิ่มหรือลดแล้วแต่กำลังการผลิตตอนนั้นและการจัดหามาได้ ภาพรวมในเดือนมิ.ย. จะมีวัคซีนมากกว่า 6 ล้านโดส เป็นไปตามแผนที่ ศบค.และกระทรวงสาธารณสุขวางไว้

“จะเห็นว่ามีวัคซีน 6 ล้านโดสในเดือนมิถุนายน และที่ฉีดก่อนมิถุนายน 4 ล้านโดส คาดว่าจะฉีดปลายเดือนนี้ได้ รวมเป็น 10 ล้านโดส ถือว่าเป็นตัวเลขที่ดีพอสมควร ทำให้สามารถควบคุมสถานการณ์ระบาดขณะนี้ไม่มากก็น้อย” นพ.โอภาสกล่าว

อธิบดีกรมควบคุมโรค กล่าวว่า ส่วน 6 ล้านโดสจะกระจายไปจังหวัดต่างๆ อย่างไร นายกฯ ศบค.และ กระทรวงสาธารณสุขตกลงหลักการไว้ คือ

1.ทุกจังหวัดจะมีวัคซีนทั้งแอสตร้าเซนเนก้าและซิโนแวคเพื่อบริการประชาชน เฉลี่ยเป็นพื้นฐานตามจำนวนประชากรในจังหวัดนั้นๆ รวมประชากรแฝงด้วย หรือเรียกง่ายๆ ว่าหารเฉลี่ยตามจำนวนประชากรไปเป็นพื้นฐานก่อน

2.จังหวัดที่มีการระบาดมากหรือรุนแรง เช่น กทม. นนทบุรี ปทุมธานี สมุทรปราการ และเพชรบุรี จะมีการจัดวัคซีนเสริมเติมเข้าไป อย่าง กทม.ฉีดแล้ว 1 ล้านโดส และมิ.ย.จะฉีดให้ได้ 2.5 ล้านโดส แต่สถานการณ์การระบาดของโรคค่อนข้างรวดเร็ว แผนที่วางไว้สัปดาห์นี้ พอสัปดาห์หน้าจังหวัดที่มีการระบาดเพิ่มเติมขึ้นไป ก็ต้องจัดหาวัคซีนเพื่อไปควบคุมการระบาด รวมทั้งบางกลุ่มเป้าหมายที่มีการระบาด เช่น เรือนจำ ต้องหาไปเสริมเพื่อควบคุมโรค

3.จังหวัดกลุ่มเป้าหมายพิเศษ เช่น พื้นที่ท่องเที่ยวอย่าง จ.ภูเก็ต ก็ส่งไปฉีดเยอะ หากเทียบอัตราประชากร ภูเก็ตฉีดมากที่สุดในประเทศไทย ตอนนี้มากกว่า 50% เพื่อให้รองรับการเปิดจังหวัดรองรับนักท่องเที่ยวชาวไทยและต่างชาติ หรือกลุ่มแรงงานที่จะขับเคลื่อนเศรษฐกิจประเทศ เพราะมีการระบาดในโรงงานหลายแห่ง หรือชายแดนเศรษฐกิจจะใส่วัคซีนเสริมเติมเข้าไป เช่น ชลบุรี ระยอง ตาก เป็นต้น

และเพื่อให้การขับเคลื่อนเศรษฐกิจ โดยเฉพาะกลุ่มแรงงานผู้ประกันตนสามารถประกอบกิจกรรมขับเคลื่อนเศรษฐกิจ มอบสำนักงานประกันสังคม (สปส.) จัดสรรวัคซีนในเดือนมิ.ย. 1 ล้านโดสไปฉีดผู้ประกันตน เป็นต้น รวมถึงคนที่จองฉีดผ่าน หมอพร้อม โดยเฉพาะวันที่ 7-9 มิ.ย.ได้ฉีดแน่นอนไม่มีการเลื่อน ให้ไปติดต่อโรงพยาบาลใกล้บ้านที่จองไว้

นพ.โอภาส กล่าวอีกว่า ส่วน กทม.มียอดจัดสรรวัคซีนประมาณ 1 ล้านโดส แต่จัดสรรกลุ่มต่างๆ เพิ่มเติม เช่น ประกันสังคมได้ 1 ล้านโดส ก็จะไปฉีดในกทม.ก่อนรวมเป็น 2 ล้านโดส และกลุ่มมหาวิทยาลัยต่างๆ เช่น จุฬาฯ ธรรมศาสตร์ เป็นต้น รวม 11 มหาวิทยาลัย ก็มีการจัดสรรไป 5 แสนโดส เพราะฉะนั้นเมื่อรวม 3 ยอดนี้ ก็จะเป็น 2.5 ล้านโดส เพื่อให้แน่ใจว่า กทม.ที่มีการระบาดมากๆ จะได้รับการจัดสรรวัคซีนที่เพียงพอในการควบคุมการระบาด ซึ่งมีการกระจายไปตั้งแต่วันที่ 2 มิ.ย.

“จุดฉีดวัคซีนทั้งภายในและนอกโรงพยาบาลจะต้องอยู่ภายใต้การกำกับของแพทย์และสถานพยาบาล ภายใต้มาตรการที่กำหนด ทั้งการคัดกรองประวัติ การลงนามยินยอม การฉีดซีน การสังเกตอาการ 30 นาที และติดตามภายหลังฉีด 30 วัน ตามมาตรฐานที่กรมควบคุมโรคกำหนด ตอนนี้ต่างจังหวัดมี 993 จุดพร้อมให้บริการวันที่ 7 มิ.ย. ส่วน กทม.แจ้งจุดมาอย่างน้อย 25 จุด และสำนักงานประกันสังคมแจ้งอย่างน้อย 25 จุดเช่นกัน

มหาวิทยาลัยต่างๆ 11 แห่ง อาจมีจุดฉีดมากกว่านี้ นอกจากนี้ยังมีจุดฉีดกลาง 10 แห่ง เช่น สถานีกลางบางซื่อ สถาบันราชานุกูล รพ.ศรีธัญญา ศูนย์การแพทย์บางรัก เป็นต้น แต่ละจุดฉีดปรับเปลี่ยนได้ตามความเหมาะสม บางจังหวัดฉีดได้มากอาจเพิ่มจุด หรือฉีดเพียงพอก็ลดจุดฉีดลง ขอให้ติดตามในจังหวัดนั้นๆ” นพ.โอภาสกล่าว

นพ.โอภาส กล่าวว่า แผนกระจายและแผนฉีด จุดฉีดจะสอดคล้อง ส่วนกลางกระทรวงสาธารณสุขและ ศบค.จะติดตามผลการฉีดรายวัน และปรับเปลี่ยนตามสถานการณ์ ตัวเลข ยอด จุดฉีดให้สอดคล้องความต้องการประชาชน ทุกอย่างยังเป็นไปตามแผนที่ ศบค. และกระทรวงสาธารณสุขกำหนด แต่ละจังหวัดมียอดเป้าหมายการฉีด การบริหารจัดการอยู่ที่ผู้ว่าราชการจังหวัด ในฐานะประธานคณะกรรมการโรคติดต่อจังหวัด นำแผนนโยบายไปสู่การปฏิบัติให้สอดคล้องกับพื้นที่ เพื่อให้มั่นใจว่าประชาชนจะได้รับการฉีดวัคซีนโควิด เป็นไปตามเป้าหมายที่กำหนด วันที่ 7 มิ.ย.วัคซีนมีพร้อม จุดฉีดมีพร้อม ขอให้ไปรับวัคซีนตามที่กำหนด

ติดตามข่าวสด

ข่าวเด่นประจำวัน