ศิริราช ห่วงเปิดประเทศเร็วเสี่ยงเจอโควิดกลายพันธุ์ ย้ำการผ่อนคลายพื้นที่ต้องจับตา พร้อมกับมาล็อกเข้มหากติดเชื้อ ส่วนเปิดภูเก็ตแซนบ็อกซ์ยังเร็วไป

วันที่ 15 มิ.ย.2564 ศ.นพ.ประสิทธิ์ วัฒนาภา คณบดีคณะแพทยศาสตร์ศิริราชพยาบาล ม.มหิดล เปิดเผยถึงความกังวล ห่วงเปิดประเทศเร็วเสี่ยงเจอโควิดกลายพันธุ์ ว่า องค์การอนามัยโลกรายงานว่า ประเทศใดได้รับการฉีดวัคซีน 25% ของประชากร จะเริ่มเห็นผลบวก ซึ่งขณะนี้ประชากรโลกกว่า 7,674 ล้านคน ได้รับวัคซีนรวมกว่า 25% ฉีดไปแล้วกว่า 2,303 ล้านโดส เฉลี่ยวันละ 35 ล้านโดส แต่ส่วนใหญ่อยู่ในกลุ่มประเทศรายได้สูง ส่วนสถานการณ์ทั่วโลกผู้ป่วยรายใหม่และการเสียชีวิตลดลงน่าจะมาจากการฉีดวัคซีน อย่างเอเชียตะวันเฉียงใต้ดูเหมือนจะดีขึ้น แต่บางพื้นที่ยังไม่ดีขึ้นนัก สหรัฐอเมริกาฉีดวัคซีนสะสม 306,509,795 โดส คิดเป็น 52% ของจำนวนประชากรได้รับวัคซีนอย่างน้อย 1 โดส ทำให้จำนวนผู้ป่วยใหม่และเสียชีวิตลดลงอย่างต่อเนื่อง ขณะที่บราซิล ยังอยู่ในช่วงอันตราย แม้ฉีดวัคซีนแล้ว 77,187,235 โดส คิดเป็น 25% ของประชากร จำนวนผู้เสียชีวิตมีแนวโน้มลดลง แต่ผู้ป่วยรายใหม่มากขึ้นกว่า 1 เท่าตัว เนื่องจากพบการกลายพันธุ์

ศ.นพ.ประสิทธิ์ กล่าวต่อว่า สายพันธุ์กลายพันธุ์ของโควิด 19 ที่น่ากังวล มี 4 สายพันธุ์ ได้แก่ 1.สายพันธุ์อัลฟา (อังกฤษ) หรือ B.1.1.7 แพร่ระบาดเร็ว ขณะนี้กระจายกว่า 50 ประเทศทั่วโลก โดยประเทศอังกฤษพบว่า สายพันธุ์จะมีการกลายพันธุ์อีกจุดหนึ่ง 2.สายพันธุ์เบตา (แอฟริกาใต้) กระจาย 20 ประเทศทั่วโลกและกลับไปที่อังกฤษด้วย และมีการกลายพันธุ์ตำแหน่งที่อาจทำให้ไวรัสตัวนี้หลุดออกไปจากระบบภูมิคุ้มกันปกติ 3.สายพันธุ์เดลตา (อินเดีย) แพร่ระบาดเร็วกว่าสายพันธุ์อัลฟา กำลังแพร่กระจายอย่างเร็วในอังกฤษ และ 4.สายพันธุ์แกมมา (บราซิล) แพร่ระบาดเร็ว พบ 10 ประเทศ รวมถึงอังกฤษ

โควิดกลายพันธุ์

” จะเห็นได้ว่าอังกฤษแทบจะมีครบทุกสายพันธุ์ สายพันธุ์ที่เกิดขึ้นในอังกฤษเอง และสายพันธุ์อื่นก็เข้าไปเพิ่ม ทั้งสายพันธุ์เบตา เดลตาและแกมมา ดังนั้น ประเทศที่เปิดประเทศตัวเองเร็ว ปล่อยให้คนเข้าเร็ว ต้องระวังเพราะบางทีการเข้ามาซึ่งไวรัสกลายพันธุ์ อาจดื้อกับวัคซีน ก็จะเป็นเรื่องใหญ่ ต้องติดตามธรรมชาติของไวรัส เพราะ บางตัวแพร่เร็ว บางตัวดื้อต่อวัคซีน และต่อไปอาจมีบางตัวอาจรุนแรงขึ้น แต่ขณะนี้ยังไม่มีหลักฐานว่าสายกลายพันธุ์ต่างๆ มีความรุนแรงของโรคที่มากขึ้น ซึ่งต้องติดตามใกล้ชิด ”

ศ.นพ.ประสิทธิ์ ระบุด้วยว่า วัคซีนที่องค์การอนามัยโลกรับรองแล้ว 8 ตัว ที่มีการใช้มากที่สุดคือ วัคซีนแอสตร้าเซนเนก้า ใน 102 ประเทศ รองมาคือไฟเซอร์ 85 ประเทศ สปุตนิก 68 ประเทศ โมเดอร์น่า 49 ประเทศ ซิโนฟาร์ม 47 ประเทศ จอห์นสันแอนด์จอห์นสัน 44 ประเทศ และซิโนแวค 26 ประเทศ ทั้งนี้ อังกฤษรายงานความปลอดภัยของแอสตร้าฯ นับจนถึงวันที่ 2 มิ.ย. ฉีดไปแล้ว 24.5 ล้านคน ไม่พบผลข้างเคียงรุนแรง ส่วนใหญ่เป็นอาการไม่พึงประสงค์ที่ไม่รุนแรงและหายภายใน 24 ชม. เช่น ปวดบริเวณที่ฉีด ปวดศีรษะ มีไข้ ครั่นเนื้อครั้นตัว ปวดกล้ามเนื้อ ปวดข้อ ซึ่งพบในวัยหนุ่มสาวมากกว่าผู้สูงอายุ แต่สามารถดีขึ้นโดยทานยาพาราเซตามอล อาการเหล่านี้พบได้ในวัคซีนอื่นเช่นกัน

ทั้งนี้ พบว่าแอสตร้าฯ ยังมีประสิทธิภาพต่อ สายพันธุ์เดลตา ประมาณ 60% มีรายงานการเกิดลิ่มเลือดร่วมกับภาวะเกล็ดเลือดต่ำ 374 คนคิดเป็น 0.0051% หรือ 15 คนต่อผู้รับวัคซีน 1 ล้านคน เสียชีวิต 66 คน หรือประมาณ 2.7 คนต่อผู้ได้รับวัคซีน 1 ล้านคน ซึ่งหน่วยงานของสหราชอาณาจักรที่ดูแลเรื่องความปลอดภัยของยา/วัคซีนเสนอให้มีการวิจัยหาสาเหตุการเกิดลิ่มเลือด และยังสรุปว่าวัคซีนนี้ปลอดภัยสูมาก เมื่อเทียบกับความเสี่ยงการติดเชื้อโควิด

ซิโนแวค ผลข้างเคียงที่พบน้อยกว่าแอสตราฯ ข้อสรุปขององค์การอนามันโลกกำหนดให้สามารถฉีดในคนสูงอายุได้โดยไม่จำกัดอายุ และมีประสิทธิภาพต่อเชื้อสายพันธุ์บราซิลประมาณ 50% ดังนั้นการฉีดวัคซีนที่ครอบคลุมประชากรจำนวนมากและเร็ว มีส่วนสำคัญในการลดการแพร่ระบาด ลดอัตราเสียชีวิต จะชัดเจนเมื่อประชากรในประเทศได้รับเกิน 50% วัคซีนต่อเชื้อโควิดมีความปลอดภัยสูง ขณะนี้ฉีดไปแล้วกว่า 2,303 ล้านโดส การกลายพันธุ์ของเชื้อบางสายพันธุ์ อาจลดประสิทธิภาพของวัคซีนลง แต่เนื่องจากสายพันธุ์ที่แพร่ระบาดในประเทศมีหลากหลาย ดังนั้นการฉีดวัคซีนยังมีประโยชน์มาก รวมถึงมาตรการส่วนบุคคล ทั้งการใส่หน้ากาก ล้างมือ รักษาระยะห่าว หลีกเลี่ยงอยู่ในที่คนหนาแน่นยังมีประโยชน์มากกับการป้องกันเชื้อในทุกสายพันธุ์

ศ.นพ.ประสิทธิ์ กล่าวอีกว่า ส่วนการผ่อนคลายมาตรการต่างๆ ในขณะนี้ว่า ต้องมองถึงจำนวนวัคซีนที่ฉีดคู่ขนานด้วย ในเชิงยุทธศาสตร์หากที่ไหนยังสามารถผ่อนคลายได้ก็ไม่ควร เช่น ที่ที่มีอัตราติดเชื้อมากไม่ควรผ่อน เพราะจะเป็นการเปิดศึกใหม่เข้ามา หากย้อนหลังไป 2-3 สัปดาห์ไม่มีการติดเชื้อใหม่เลยและพื้นที่ตรงนั้นมีมาตรการเข้มในการดูแลอยู่ก็อาจจะผ่อนคลายได้บ้าง แต่ต้องเป็นการผ่อนคลายและติดตาม หากพบติดเชื้อต้องรีบหยุดล็อกพื้นที่ตรงนั้นทันที สิ่งที่ตนห่วงมากนั้น กระบวนผ่อนคลายยังไม่น่ากลัวเท่าถ้าเรายังไม่สามารถป้องกันไม่ให้คนที่เดินทางเข้าประเทศผ่านทางเส้นทางธรรมชาติเข้ามา ซึ่งแต่ละคนที่เข้ามาบ่อยครั้งอาจเจอสายพันธุ์ที่มีการกลายพันธุ์ซึ่งน่าเป็นห่วงมาก ส่วนกระบวนการที่ผ่อนเราก็ต้องเฝ้าจับตา และพร้อมให้ข้อเสนอแนะหากเห็นว่าเร็วหรือมากเกินไป ส่วนตัวยังย้ำสุขภาพต้องมาก่อน เศรษฐกิจต้องพิจารณาแน่นอน แต่เมื่อไหร่สุขภาพเอาไม่อยู่เกิดการติดเชื้อมากมาย ก็อาจจะแย่ลง

โควิดกลายพันธุ์

เมื่อถามถึง การเปิดภูเก็ตแซนด์บอกซ์ที่ตามแผนจะเปิดวันที่ 1 ก.ค.นี้ ศ.นพ.ประสิทธิ์ กล่าวว่า โดยส่วนตัวเห็นว่ายังเร็วไป แต่คนที่มีอำนาจในการตัดสินใจก็คงพิจารณาในส่วนตรงนั้น ตอนนี้มีการเตรียมการเพื่อเปิดภูเก็ตเพื่อดึงเศรษฐกิจกลับมา โดยมีการนำวัคซีนเข้าไปฉีดให้เยอะเพื่อให้มีภูมิคุ้มกันและเปิดให้ต่างประเทศเข้ามา เพื่อฟื้นฟูเศรษฐกิจ แต่ที่ห่วงไม่ได้เฉพาะคนที่ฉีดวัคซีน แต่ความพร้อมของจังหวัดในการรองรับระบบต่างๆ โดยเฉพาะหากมีคนนอกพื้นที่เข้ามาและมีสายพันธุ์ใหม่ๆ เข้ามา ขอย้ำว่าวัคซีนไม่ได้ครอบคลุมทุกสายพันธุ์ทั้งหมด แม้ว่าส่วนใหญ่ยังครอบคลุม แต่หากสายพันธุ์แปลกใหม่เข้ามาแล้วคุมไม่ได้ กลไกการจำกัดพื้นที่หรือการควบคุมไม่ได้คู่ขนาน ทุกคนมองแค่ฉีดวัคซีนครบก็ปล่อย เป็นสิ่งที่น่ากลัว หากเกิดการระบาดใหม่ในภูเก็ตอีก จะเป็นการซ้ำเติมเศรษฐกิจในภูเก็ต เพราะขณะนี้คงเตรียมการแล้วที่จะเปิด และคงต้องมีการหาแหล่งเงินที่จะเตรียมการรองรับการเปิด หากระบาดอีกเท่ากับเงินที่ลงไปกับการหาวัตถุดิบก็จะเป็นการสูญเสีย

” ขณะนี้ก็ต้องเฝ้าดูถึงระบบความเข้มงวดในการป้องกันโดยเฉพาะคนนอกพื้นที่ที่หลุดเข้ามาทำงาน ขอให้ระวังสิ่งเหล่านี้ให้ดี จะเฝ้าติดตามดู นอกจากนี้โดยปกติการเดินทางเข้ามาประเทศไทยต้องมีการควอรันทีน 14 วัน แต่หากมองว่าต้องการให้เป็นพื้นที่กระตุ้นเศรษฐกิจ เกรงจะมีการปรับให้ไม่ต้องถึง 14 วันให้สั้นกว่านั้น หากเป็นเช่นนั้นถ้าเป็นบางสายพันธุ์ที่ 14 วันก็อาจไม่พอ อย่างจีนก็กำหนด 21 วันด้วยซ้ำ คงเป็นสิ่งหนึ่งที่ถ้าไม่ลองไม่รู้ แต่ถ้าลองแล้วเกิดบทเรียนก็ขอให้เป็นบทเรียน ”

 

ติดตามข่าวสด

ข่าวเด่นประจำวัน