กทม.เจอ 25 คลัสเตอร์ระบาดไม่จบ ติดเชื้อเกิน 28 วัน กระจาย 8 แคมป์ 6 ตลาด 2 โรงงาน 9 ชุมชน สะท้อนปิดซีลไม่สนิท ยังมีลักลอบออกไปแพร่เชื้อ

วันที่ 25 มิ.ย.64 พญ.อภิสมัย ศรีรังสรรค์ ผู้ช่วยโฆษกศูนย์บริหารสถานการณ์โควิด-19 (ศบค.) กล่าวว่า คลัสเตอร์ใน กทม.นั้น ที่ยังมีการระบาดมากกว่า 28 วัน มีจำนวน 25 คลัสเตอร์ เป็นแคมป์ก่อสร้าง 8 แห่ง ตลาด 6 แห่ง สถานประกอบการ 2 แห่ง และชุมชนและอื่นๆ 9 แห่ง ทำให้เห็นว่าการจัดการ Bubble and Seal ปิดพื้นที่แพร่ระบาดและเฝ้าระวังจัดการให้เบ็ดเสร็จในพื้นที่นั้น มีความแตกต่างกับกรณีสมุทรสาครที่ศึกษามาในปีที่แล้ว

สมุทรสาครพอปิดให้อยู่ในโรงงาน พบว่า 28 วันการแพร่ระบาดยุติ ให้คนกลุ่มนี้กลับบ้านมาใช้ชีวิตปกติ แต่ในกทม.บริบทแคมป์ โรงงานแตกต่างอย่างสิ้นเชิง การที่ยังไม่สามารถจบคลัสเตอร์เป็นเรื่องของความร่วมมือ เพราะเมื่อปิดแล้วยังเล็ดลอดออกไปตลาดและชุมชน แพร่กระจายเชื้อ ปิดแคมป์ที่ 1 ก็เดินทางไปแคมป์ที่ 2 ที่ 3 เป็นต้น ทำให้การระบาดใน กทม.เจอคลัสเตอร์เพิ่มขึ้นต่อเนื่อง ส่วนที่ระบาดในช่วง 14-27 วัน จำนวนยังสูงถึง 13 คลัสเตอร์

“ถ้าแยกตามประเภทสถานที่ติดเชื้อ แม้จะกระจายทุกกลุ่มเขตและหลายเขต แต่มีลักษณะเป็นกลุ่มก้อนคือ แคมป์คนงาน โรงงาน สถานประกอบการ ตลาดและชุมชน ข้อเสนอในสัปดาห์นี้เรื่องของการปิดล็อกดาวน์ ซึ่งกระทรวงสาธารณสุขก็เป็นห่วงการแพร่ระบาดที่จะขยายวงกว้าง ทำให้ระบบเตียงและบุคลากรสาธารณสุขที่ทำงานอย่างหนักอาจะรองรับไม่ไหว เป็นต้น ที่ประชุมหารืออย่างกว้างขวาง ศบค.เน้นย้ำว่ารับฟังทุกฝ่าย เรื่องเตียงก็เป็นห่วง พยายามขยายศักยภาพ ผอ.ศบค.เน้นย้ำตลอด และขอให้ทุกหน่วยงานที่เกี่ยวข้องพยายามแก้ปัญหาอย่างเร็วที่สุด” พญ.อภิสมัย กล่าว

พญ.อภิสมัย กล่าวต่อว่า ช่วงสัปดาห์นี้จะเห็นผู้ประกอบการต่างๆ ยื่นเรื่องขอเสนอให้ทบทวนการปิด หรือล็อกดาวน์ ผู้ประกอบการเสนอเข้ามาก็เห็นภาพ ถ้าร้านอาหารหนึ่งปิด ผักสดผลไม้ อาหารแห้ง แปรรูป เนื้อสัตว์มีสังคมที่เกี่ยวข้องกัน เช่น แม่ค้าขายอาหารอื่นๆ บริเวณหน้าร้านอาหาร เรารับฟังทุกฝ่าย เห็นใจลูกจ้างทำงานประจำในร้านที่ถูกปิด หรือพนักงานเสิร์ฟ

ที่ประชุมเสนอทางเลือกที่หลากหลาย กรมควบคุมโรคเสนอการล็อกเป็นจุดๆ คือ ปิดในพื้นที่เสี่ยงสูง ปิดเฉพาะพื้นที่นั้น ส่วนคนกลุ่มเสี่ยงโดยเฉพาะที่มีแรงงานต่างด้าว ก็ปิดเฉพาะคนกลุ่มเสี่ยง หรือปิดในกิจกรรมกิจการเสี่ยง มากกว่าจะปิดทั้ง กทม.หรือทั้งจังหวัด ต่างจังหวัดอาจจะหารือตรงไหนเสี่ยง ตลาด แรงงานต่างด้าวข้ามพื้นที่ ก็ล็อกเฉพาะตรงนั้น

“การล็อกอาจไม่ได้แก้ปัญหา แต่จุดชนวนมากขึ้นหรือไม่ อย่าง โรงเรียนมัรกัสปิดก็แพร่กระจายไปจังหวัดอื่น 11 จังหวัด พอล็อกปิดกิจการกิจกรรมทำให้เดินทางกลับบ้านและแพร่กระจายเชื้อหรือไม่ เราหารือทุกแง่มุม อย่างกรณีศึกษาตลาดสี่มุมเมืองค้าส่งพื้นที่ 350 ไร่ มีการค้าขายข้ามจังหวัดทั่วประเทศ เป็นแหล่งเกษตรกรผู้ผลิตรายย่อยรายใหญ่

พบว่า ตลาดมีการรายงานว่าลูกค้าหมุนเวียนรวม 3 หมื่นคนต่อวัน มีแรงงานขนสินค้ามีต่างด้าวด้วยประมาณ 500 คน พ่อค้าแม่ค้าแรงงานรวมกันวันละ 2 หมื่น คนเข้าออกอีก 2 หมื่นคน มีแผงการค้าจดทะเบียนถูกกฎหมาย 4 พันแผง ทางจังหวัดพยายามควบคุมโรคให้เข้มงวด ประคับประคองการเดินหน้าตลาดยังขับเคลื่อนอยู่ได้” พญ.อภิสมัย กล่าว

พญ.อภิสมัย กล่าวอีกว่า ผู้เกี่ยวข้องตลาดไม่ใช่แค่เกษตรกรผู้ผลิต มีทั้งฟาร์มหมู รถพุ่มพวงขายตามหมู่บ้านจัดสรร ร้านขายผลไม้เล็กๆ ร้านอาหารตามสั่งข้างทางข้างถนน มีการหล่อเลี้ยงองค์ประกอบสังคมเชื่อมกันอยู่ จึงมีการตั้งวอร์รูมที่ตลาด ผู้ว่าฯ ให้อำนาจบริหารจัดการแพร่ระบาด มีการจัดระบบทำงานที่มีประสิทธิภาพ ตัดสินใจแก้ปัญหาได้ทันท่วงที

มีความร่วมมือ 3 ฝ่าย คือ หน่วยราชการ ผู้ประกอบการแม่ค้า และความร่วมมือประชาชน ทั้งผู้ซื้อ แรงงาน กำหนดมาตรการควบคุมโรคเข้มงวด กำกับมาตรการเข้มงวด กรณีพบผู้ติดเชื้อ จัดตั้งรถตรวจแล็ปผลเลือดที่ตลาด จัดการเบ็ดเสร็จในตลาด เมื่อผู้ค้าร่วมมือคณะกรรมการโรคติดต่อปรับตัวกำหนดเวลาทำงานให้สอดคล้องบุคคลในตลาด ทำงาน 8 โมงเช้าถึงตี 3 พบผู้ติดเชื้อแยกรักษา รพ.สนามบริเวณพื้นที่ตลาดเก่า

“จังหวัดพยายามเสนอมาตรการควบคุมโรค ไม่ใช่ไม่เจอติดเชื้อ แต่อยู่ในวงที่ควบคุมจำกัดได้ เศรษฐกิจเดินได้สอดคล้องกันไป การปิดจึงอาจไม่ใช่คำตอบทั้งหมด ต้องหารือให้รอบด้าน สาธารณสุข เศรษฐกิจด้วย บ่ายสองโมงจะหารือมาตรการล็อกดาวน์ ทั้ง ศบค. คณะที่ปรึกษา ตัวแทนสาธารณสุข แรงงาน มหาดไทย ขอให้ติดตามผลการประชุมต่อไป”พญ.อภิสมัย กล่าว

 

ติดตามข่าวสด

ข่าวเด่นประจำวัน