นักวิจัยจีน ยอมรับ วัคซีนเชื้อตายที่ผลิตในจีน กันสายพันธุ์อินเดียได้น้อยกว่า เมื่อเทียบกับการป้องกันเชื้อโควิดสายพันธุ์อื่น

25 มิ.ย. 2564 – สำนักข่าวรอยเตอร์ รายงาน นายเฟิ่ง ซือเจี้ยน นักวิจัยประจำศูนย์เพื่อการควบคุมและป้องกันโรคจีน (ซีซีดีซี) ให้สัมภาษณ์ผ่านโทรทัศน์ซีซีทีวี ของทางการจีน วันที่ 24 มิ.ย. ที่ผ่านมา

โดยระบุว่า แอนติบอดี วัคซีนเชื้อตายที่ผลิตในจีนกระตุ้นให้เกิดขึ้นหลังได้รับวัคซีนนั้น มีประสิทธิภาพในการป้องกันเชื้อโควิด-19 สายพันธุ์เดลต้า หรือ บี.1.617.2 ได้น้อยกว่าเมื่อเทียบกับการป้องกันเชื้อโควิดสายพันธุ์อื่น แค่ช่วยให้ผู้ที่ได้รับวัคซีนไม่ป่วยหนักหากได้รับเชื้อ

ทั้งนี้ นายเฟิ่ง ไม่ได้ระบุชื่อวัคซีนออกมา แต่กล่าวว่า วัคซีนที่จีนผลิตออกมาใช้ฉีดให้กับประชาชนในประเทศ มี 5 ตัว ในจำนวนทั้งหมด 7 ตัว เป็นวัคซีนที่ใช้เชื้อโคโรนาไวรัสที่ตายแล้วเป็นตัวกระตุ้นให้เกิดภูมิคุ้มกัน ซึ่งรวมทั้งวัคซีนของของบริษัท ซิโนแวค ไบโอเทค และวัคซีนของ บริษัท ซิโนฟาร์ม ซึ่งใช้กันอยู่ในหลายประเทศ รวมทั้งประเทศไทย, บราซิล, บาห์เรน และ ชิลี

ที่ผ่านมามีการตรวจสอบพบเชื้อสายพันธุ์เดลต้า ใน 3 เมืองในมณฑลกวางตุ้ง ทางตอนใต้ของประเทศ ซึ่งพบผู้ติดเชื้อรวม 170 รายในช่วงระหว่างวันที่ 21 พ.ค. – 21 มิ.ย. โดยราว 80 เปอร์เซ็นต์ของผู้ติดเชื้อพบในนครกว่างโจว แต่ไม่เป็นที่ชัดเจนว่ามีผู้ติดเชื้อสายพันธุ์เดลต้าจำนวนกี่ราย

อย่างไรก็ตาม นายเฟิ่งยืนยันว่า ในการแพร่ระบาดที่มณฑลกวางตุ้ง ผู้ติดเชื้อที่เคยได้รับวัคซีนแล้ว ไม่ปรากฏว่ามีอาการป่วยหนัก ในขณะเดียวกัน ผู้ที่พบว่าป่วยหนักทุกราย ไม่เคยได้รับวัคซีนมาก่อน

ติดตามข่าวสด

ข่าวเด่นประจำวัน