ศบค.เตรียมเยียวยาผู้ได้รับผลกระทบ มาตรการปิดกิจการ 6 จังหวัด กว่า 6.9 แสนคน อยูในระบบประกันสังคมได้เยียวยาทันที หากเป็นคนไทยได้เพิ่มอีก 2 พันบาท ชี้ถือเป็นค่าจ้างให้อยู่เฉยๆ ไม่เคลื่อนย้าย ส่วนร้านอาหารรับผลกระทบ ให้สมาคมก่อสร้างหารือภัตตาคาร จ้างทำอาหารส่งกลุ่มถูกบับเบิลแอนด์ซีล ช่วยเหลือทั้งสองทาง

วันที่ 28 มิ.ย.2564 นพ.ทวีศิลป์ วิษณุโยธิน โฆษกศูนย์บริหารสถานการณ์โควิด 19 (ศบค.) กล่าวว่า จากการออกข้อกำหนดตามความในมาตรา 9 ใน พ.ร.ก.ฉุกเฉิน ฉบับที่ 25 ซึ่งมีผลบังคับใช้วันที่ 28 มิ.ย. ข้อกำหนดที่ออกมานั้นเน้นย้ำตามสาเหตุ ซึ่งใหญ่ๆ อยู่ที่ กทม. ปริมณฑล (นนทบุรี ปทุมธานี สมุทรปราการ สมุทรสาคร นครปฐม) และ 4 จังหวัดภาคใต้ (นราธิวาส ปัตตานี ยะลา และสงขลา) ซึ่งแบ่งเป็น 2 พื้นที่ มีกิจการกิจกรรมแตกต่างกัน

ทั้งนี้ พื้นที่ กทม.และปริมณฑล มีเรื่องของกลุ่มผู้ประกอบอาชีพแรงงานก่อสร้างทั้งหมด เพื่อให้อยู่กับที่ ไม่ให้ออกไปไหน ให้นายจ้างดูแล เราทำเฉพาะจุดตรงนี้ ส่วนโรงงานไม่ได้ปิด ให้ทำงานต่อได้แบบ Bubble and Seal ไม่ให้มีการออกนอกพื้นที่ เป็นการล็อกแบบจุดๆ เรื่องการรับประทานอาหารให้ซื้อกลับบ้าน ห้างสรรพสินค้าเปิดได้ แต่ปิดเวลา 21.00 น. โรงแรมลดการจัดสัมมนา จัดเลี้ยง กิจกรรมห้ามจัดมากกว่า 20 คน ยกเว้นได้รับการอนุญาต

ข้อกำหนดได้ให้อำนาจเจ้าหน้าที่ในการเข้าไปตรวจตรา ตลาด ชุมชน สถานที่ประเมินแล้วมีความเสี่ยง ให้คณะกรรมการโรคติดต่อจังหวัดมีอำนาจสั่งปิดได้ และให้พนักงานเจ้าหน้าที่เข้าไปดูแลผู้ด้อยโอกาส ผู้สูงอายุคนที่ควรได้รับการช่วยเหลือตามความเหมาะสม ให้อำนาจเจ้าหน้าที่ดูแลการตั้งจุดตรวจ ด่านตรวจ จุดสกัดคัดกรองการเดินทาง

โดย 4 จังหวัดชายแดนใต้จะมีความเข้มข้นในการแสดงบัตรประชาชน มีใบอนุญาตในการเดินทาง ส่วนของ กทม.และปริมณฑลมีการตั้งจุดตรวจ เส้นทางจังหวัดอื่นๆ ให้มีการดำเนินการก็อาจจะไม่สะดวกบ้างในการเดินทาง เราไม่อยากล็อกดาวน์ทั้งประเทศหรือเคอร์ฟิว เพราะการดำเนินชีวิตยุ่งยาก เพื่อเตือนลดการเดินทาง

ส่วนการไปฉีดวัคซีนเกินกว่า 20 คนก็สามารถทำได้ ขอความร่วมมือปฏิบัติตามข้อกำหนด ทราบว่ากระทบหลายคน แต่ตัวเลขที่เกิดขึ้นก็ต้องช่วยกันในการลดการระบาด โดยขอให้ร่วมกันทำงานที่บ้านเพื่อลดการเดินทาง และงดจัดกิจกรรมทางสังคม การจัดงานสังสรรค์ จัดเลี้ยง รื่นเริงอย่างน้อย 30 วัน จะช่วยลดการแพร่กระจาย ผลกระทบที่เกิดขึ้นจะมีการเยียวยา

ที่พูดคุยคือผู้ประกอบการที่ต้องปิดกิจการใน 6 จังหวัด จำนวน 697,315 คน ตามที่ขึ้นทะเบียนกับกระทรวงการคลัง โดยที่อยู่ในระบบประกันสังคมจะได้รับการเยียวยาทันที เพราะลงทะเบียนไว้แล้ว เช่น ได้ 50% ของรายได้ อยู่ในแคมป์ก็ให้ 50% จ้างอยู่เฉยๆ ตรงนั้น สูงสุดไม่เกิน 7,500 บาท ถ้าเป็นประกันสังคมมีคนไทยสัญชาติไทย รัฐบาลเพิ่มให้อีก 2 พันบาท ถ้าไม่อยู่ในประกันสังคมให้ไปลงทะเบียนภายใน 1 เดือนก็จะได้ ถ้าไม่ได้ขึ้นทะเบียน ไม่มีลูกจ้าง หาบเร่แผงลอย ให้ไปขึ้นทะเบียนแอพพลิเคชันถุงเงิน ผ่านโครงการคนละครึ่งก็จะได้ด้วย ซึ่งมีรายละเอียดอีกมาก

กรณีร้านอาหาร ที่เตรียมอาหารแล้วมาปิดในวันจันทร์ จริงๆ ไม่ได้ปิด สั่งกลับบ้านได้ ถ้ามีประเด็นปัญหาก็คุยกันอยู่ คนที่อยู่ในแคมป์ก็ต้องการได้อาหาร ขอให้สมาคมอุตสาหกรรมก่อสร้าง และสมาคมภัตตาคารและอาหาร ขอความร่วมมือผู้ประกอบการใช้บริการของภัตตาคาร ร้านอาหารรายย่อย แม่ค้าแผงลอย จัดอาหารให้แรงงานก่อสร้าง เพื่ออยู่เฉยๆ รอรับเงิน กระทรวงแรงงานจ่ายเป็นช่วงๆ และใช้วัตถุดิบที่เตรียมไว้เป็นประโยชน์

เมื่อถามว่าการควบคุมแรงงานก่อสร้างรวมอะไรบ้าง รวมการรีโนเวทต้องหยุดด้วยหรือไม่ เพราะไม่อยู่ในแคมป์ นพ.ทวีศิลป์ กล่าวว่า ดูจากกฎหมายคงไม่สามารถแจกแจงได้ว่ากลุ่มไหนเป็นกลุ่มไหน เพราะแรงงานล้วนมีความเสี่ยง อาจจะทำงานที่หนึ่งพักที่หนึ่ง มีการเคลื่อนย้ายเรื่อยๆ ถ้ามีการทำงานอยู่ อาจเป็นแหล่งการแพร่กระจายโรค คณะที่ปรึกษา ศบค.เน้นว่าเป็นกลุ่มเดียวกันทั้งหมด ไปมาหาสู่กัน ตรงนี้สื่อความหมายว่าเป็นทุกส่วนทั้งสัญชาติไทย แรงงานต่างด้าว ขอให้พักสักระยะอย่างน้อย 30 วันตามเจตนารมณ์ของกฎหมาย

ถามอีกว่า ตัวเลขการฉีดวัคซีนค่อนข้างน้อย 2-3 วันที่ผ่านมา จะเป็นไปตามเป้าหมายหรือไม่ นพ.ทวีศิลป์ กล่าวว่า วัคซีนไม่ได้มาล็อตใหญ่ๆ ทีเดียว แต่ทยอยมา บางครั้งมามาก บางที่ศักยภาพฉีดหมดใน 1 วัน บางที่ก็กระจายการฉีดออกไปให้ลดหลั่น แต่ล็อตล่าสุดวันที่ 25-26 มิ.ย.ที่มา ท่านที่มีนัดก็จะได้รับการเรียกตัวไปฉีดวัคซีน ขอให้ไปรับวัคซีนตามนัดหมาย

ตัวเลขติดเชื้อสูงจะมีการรองรับอย่างไร ใช้มาตรการ Home Isplation หรือไม่ นพ.ทวีศิลป์ กล่าวว่า มีการพูดคุยที่ สธ.ถึงประเด็นนี้ อธิบดีกรมการแพทย์รายงานว่าการรักษาตัวในบ้านมีการเตรียมการอยู่แล้ว เหลือลงรายละเอียดและมีข้อกำหนดให้ชัดเจน เพราะหากการรักษาใน รพ.หรือฮอสปิเทล เดิม 14 วัน ถ้า 10 วันอาการดีแล้วนำออกไปอยู่บ้าน 4 วันดูแล ช่วยได้ 1 ใน 3 ทำให้เตียงว่างขึ้นเป็นกลุ่มสีเขียว จะมีมาตรการโดยเร็วออกมา และต้องมีมาตรการระบบติดตามหากมีการป่วยไข้จะได้ให้ความมั่นใจได้ ส่วนกลุ่มสีเหลืองและสีแดง สธ.ร่วมกับ กทม.เปิดพื้นที่ไอซียูสนามนอกสถานที่ในสถานที่โดยเร็ว หาทุกหนทางช่วย

ติดตามข่าวสด

ข่าวเด่นประจำวัน