เผยภูมิคุ้มกัน ซิโนแวค ลดลงครึ่งหนึ่งช่วง 3-4 เดือน แนะบูสเตอร์โดสข้ามชนิด “หมออุดม” ขออย่าดาวน์เกรดว่าวัคซีนไม่ดี ชี้กลายพันธุ์ทำให้ภูมิลด
เมื่อวันที่ 6 ก.ค.64 นพ.อุดม คชินทร ที่ปรึกษาศูนย์บริหารสถานการณ์โควิด 19 (ศบค.) แถลงข่าวการฉีดวัคซีนโควิดว่า คณะที่ปรึกษาด้านสาธารณสุขของศบค.ที่มีนพ.ปิยะสกล สกลสัตยาทร เป็นประธาน ได้ประชุมเกี่ยวกับวัคซีนโควิด เมื่อวันที่ 5 ก.ค.ที่ผ่านมา โดยมีการสรุปผลรายงานต่อนายกรัฐมนตรีแล้ว และนายกฯ อยากให้มาแถลงทำความเข้าใจให้ประชาชน
ทั้งนี้ ไวรัสมีการกลายพันธุ์เป็นเรื่องปกติ เป็นการปรับตัวเพื่ออยู่รอดเหมือนเรา ยิ่งระบาดเยอะยิ่งกลายพันธุ์ได้เยอะ ที่สำคัญคือกลายพันธุ์แล้วดื้อต่อภูมิคุ้มกันจากวัคซีน ซึ่งวัคซีนทำจากสายพันธุ์ดั้งเดิมคือ อู่ฮั่น เมื่อมีสายพันธุ์อัลฟา เดลตา ประสิทธิภาพประสิทธิผลวัคซีนจึงลดลง ไม่ใช่วัคซีนไม่ดี แต่เพราะเชื้อกลายพันธุ์ไป จึงต้องหาวัคซีนรุ่นใหม่หรือเจนใหม่ที่จะมาครอบคลุมตัวกลายพันธุ์อัลฟา เดลตา ซึ่งตอนนี้ยังไม่มี แต่วัคซีนทุกตัวกำลังพัฒนา คาดว่าเร็วสุดอาจออกมาปลายปีนี้หรือต้นปีหน้า จึงเป็นเหตุผลที่เราต้องคำนึงเวลาสั่งซื้อวัคซีนด้วย เพราะฉะนั้นระหว่างที่รอต้องหากระบวนการคือ การให้บูสเตอร์โดส เพื่อให้ภูมิเพิ่มขึ้นมากและต่อสู้กับเชื้อกลายพันธุ์
นพ.อุดมกล่าวว่า จากข้อมูลการใช้วัคซีนของอังกฤษพบว่า วัคซีนไฟเซอร์ 2 เข็ม เมื่อเจอสายพันธุ์เบตา (แอฟริกาใต้) การสร้างภูมิคุ้มกันลดลง 7.5 เท่า เจอเดลตาลดลง 2.5 เท่า วัคซีนแอสตร้าเซนเนก้า 2 เข็ม เจอเบตาภูมิลดลง 9 เท่า เจอเดลตาภูมิลดลง 4.3 เท่า สำหรับซิโนแวคมีข้อมูลของไทยฉีด 2 เข็ม เจอเดลตาภูมิลดลง 4.9 เท่า
ทั้งนี้ ยอมรับกันว่าวัคซีน mRNA กระตุ้นภูมิคุ้มกันสูงสุด ภูมิคุ้มกันขึ้นระดับพันถึงหมื่นยูนิต รองลงมาคือแอสตร้าเซนเนก้า เป็นไวรัลเวคเตอร์ภูมิขึ้นหลักพันต้นๆ และซิโนแวคเป็นชนิดเชื้อตายภูมิขึ้นประมาณหลักร้อยปลายๆ
ดังนั้น เรื่องการป้องกันโรคต่อสายพันธุ์เดลตาพบว่า ไฟเซอร์ลดลงจาก 93% เหลือ 88% , แอสตร้าเซนเนก้า ลดลงจาก 66% เหลือ 60% แต่การป้องกันการอยู่รพ. เจ็บป่วยรุนแรง ไฟเซอร์ยังอยู่ที่ 96% และแอสตร้าเซนเนก้า 92% ไม่มีความแตกต่างทางสถิติ ส่วนซิโนแวคข้อมูลมีน้อย เราไม่มีข้อมูลป้องกันได้เท่าไร แต่ถ้าเทียบจากระดับภูมิต้านทานที่ขึ้น คงป้องกันสายพันธุ์เดลตาไม่ดีแน่ๆ แต่ซิโนแวค 2 เข็ม ยังป้องกันการเจ็บป่วยรุนแรงเข้า รพ. และป้องกันการตายมากกว่า 90%
“ต้องทำความเข้าใจกันใหม่ว่า วัตถุประสงค์ของการฉีดวัคซีนไม่มีทางป้องกัน 100% อย่างสหรัฐอเมริกาที่รัฐแมสซาชูเซสต์ เก็บข้อมูล 3.7 ล้านคน ฉีดไฟเซอร์ 2 เข็ม ยังเกิดติดเชื้อโควิดใหม่ 0.1% หรืออินเดีย 10 กว่าล้านคน ฉีดแอสตร้าเซนเนก้าครบ 2 เข็ม ยังติดโควิดใหม่ 0.2% แต่วัคซีนยังป้องกันเจ็บป่วยรุนแรงเข้า รพ. และตายได้ในระดับสูงมากเกิน 90% ถือว่าสูงมาก จึงต้องไปฉีดวัคซีนป้องกันไม่ให้เจ็บป่วยรุนแรงเข้า รพ.เป็นผู้ป่วยหนัก ถือว่าคุ้มค่า ช่วยปกป้องระบบสุขภาพ กำลังคนด้านสาธารณสุข ซึ่งกำลังไม่ไหว เตียงตึงมาก ทั้งเขียวเหลืองแดง นี่คือประโยชน์ที่ได้เห็น” นพ.อุดมกล่าว
นพ.อุดมกล่าวว่า สำหรับภูมิคุ้มกันจากวัคซีนจะตกลงในช่วง 3-6 เดือน โดยแอสตร้าเซนเนก้าลดลงช่วง 6 เดือน ต้องฉีดกระตุ้น จึงไม่อยากให้รับไปจองวัคซีน mRNA เพราะดูจากช่วงเวลาแล้วจะได้วัคซีนรุ่นเก่า จึงอยากให้รอวัคซีนรุ่นใหม่ที่ครอบคลุมสายพันธุ์และปลอดภัยกว่า
“ส่วนซิโนแวคฉีด 2 เข็ม ภูมิลดลงครึ่งหนึ่งใน 3-4 เดือน ต้องการบูสเตอร์โดสแน่นอน แต่ไม่อยากเรียกว่าเป็นเข็ม 3 เพราะยังไม่มีไกด์ไลน์จากองค์การอนามัยโลกหรือประเทศใดก็ตาม มีเพียง 2 ประเทศที่มีการฉีดเข็ม 3 คือ สหรัฐอาหรับเอมิเรตส์และบาห์เรน ฉีดซิโนแวค 2 เข็ม และฉีดเข็ม 3 เป็นซิโนฟาร์ม เพราะหาวัคซีนตัวอื่นไม่ได้ สำหรับประเทศไทยกำลังศึกษาคาดว่าอีก 1 เดือนจะรู้ผล”
“การประชุมเมื่อวานมีข้อเสนอการฉีดบูสเตอร์โดสให้บุคลากรทางการแพทย์ 7 แสนกว่าคนเป็นลำดับแรก เพราะกลุ่มนี้มีจำนวนหนึ่งได้รับซิโนแวค 2 เข็มและจะครบ 3-4 เดือนแล้ว จึงต้องได้รับก่อน ต่อด้วยคนที่มีความเสี่ยง คือ กลุ่มโรคต่างๆ เบาหวาน ความดัน อ้วน มะเร็ง ได้รับยากดภูมิ คีโม เป็นต้น ส่วนคนทั่วไปขอให้ฉีดให้ครบ 2 เข็มก่อน ซึ่งองค์การอนามัยโลกยังแนะนำให้ฉีดชนิดเดียวกันใน 2 เข็มก่อน อย่าไปดาวน์เกรดซิโนแวค แม้การป้องกันจะน้อย แต่ลดเจ็บป่วยรุนแรงไม่ต่างแอสตร้าฯ หรือไฟเซอร์ และจะมีบูสเตอร์โดสตามมาอีก 3-6 เดือนข้างหน้า ให้รอคำแนะนำจากสธ. ซึ่งเราจะประชุมตลอด กำหนดตรงนี้มาให้ประชาชนได้ทราบ” นพ.อุดมกล่าว
นอกจากนี้ ยังมีการตั้งคณะทำงานผู้เชี่ยวชาญทั้งประเทศเพื่อพิจารณาวัคซีนรุ่นใหม่มีตัวไหนบ้างที่มีแนวทางที่ดีหรือได้ผลดี ครอบคลุมสายพันธุ์ใหม่หรือไม่ จะได้รีบไปจองก่อน รวมถึงการศึกษาการฉีดเข็ม 1 และ 2 สลับชนิด ให้รอข้อมูลการศึกษาทั้งในและต่างประเทศ ซึ่งจะมีการประชุมวันที่ 9 ก.ค. เวลา 09.00-12.00 น. ที่ รพ.ราชวิถี โดยมอบตนเป็นโฆษกแถลงข่าวต่อไป
เมื่อถามว่า บุคลากรทางการแพทย์ที่ฉีดซิโนแวค 2 เข็ม การบูสเตอร์ ควรจะเลือกวัคซีนตัวไหน นพ.อุดมกล่าวว่า การบูสเตอร์ต้องเป็นวัคซีนต่างชนิดกัน ซึ่งวัคซีนที่เรามีอยู่มีแน่ คือ แอสตร้าเซนเน้ก้า และไฟเซอร์ 1.5 ล้านโดสที่จะได้รับบริจาค แต่ยังไม่รู้ว่ามาเมื่อไร ถ้าไฟเซอร์มา 1.5 ล้านโดสจะให้บุคลากรก่อนเลย หากเหลือก็จะให้บุคคลความเสี่ยงที่กำหนดไว้ แต่ถ้ายังไม่มา จะฉีดแอสตร้าเซนเนก้าให้
เมื่อถามว่าอนาคตจะนำเข้าวัคซีน mRNA เป็นตัวหลักฉีดให้ประชาชนหรือไม่ นพ.อุดมกล่าวว่า ศบค.กำหนดแล้ว เราเลือกไฟเซอร์ที่เป็นราชการให้ฟรี แต่เนื่องจากสั่งแล้วไม่ได้มาทันที เพราะตอนนี้แย่งกันมาก อย่างไต้หวัน ออสเตรเลีย สิงคโปร์ ที่ใช้ไฟเซอร์เป็นตัวแรกๆ ตอนนี้ยังไม่ได้ครบ ทั้งที่ฉีดมาก่อนและคนก็น้อยกว่าเรา เพราะไม่มีวัคซีนส่งไป ฉะนั้น ไฟเซอร์จะเข้ามาเร็วที่สุด ต.ค.นี้ ซึ่งต่างชาติเขาไม่ค่อยผิดสัญญา แต่เขาบอกว่าจะส่งให้ไตรมาส 4 ซึ่งมีเวลาตั้งแต่วันที่ 1 ต.ค. – 31 ธ.ค. แต่เขาไม่เคยบอกว่าจะมาวันที่ 1 ต.ค. จึงอย่าทึกทักเอาเอง อย่างไรก็ตาม เราสั่งไฟเซอร์ 20 ล้านโดสให้ประชาชนฟรี และจะไปเร่งฉีดเข็ม 1 และ 2 ให้คนไทยได้ 70% ให้มากที่สุด
เมื่อถามว่าขณะนี้ยังมีประชาชนต่อต้าน และนักรวมกลุ่มกันทำกิจกรรมเรียกร้องด้านต่างๆ รวมถึงกิจกรรมทางการเมือง นพ.อุดม กล่าวว่า เรื่องนี้ เป็นเรื่องส่วนบุคคล แต่คิดว่าเขาน่าจะไปศึกษา ไปพิจารณาให้ดีว่าข่าวที่ออกไปนั้นมีทั้งข่าวไม่ครบ มีทั้งบวก และลบมากมาย เพราะฉะนั้นคิดว่าเราต้องมองภาพรวมของประเทศ ยิ่งตอนนี้ยิ่งระบาดเยอะเป็นหลักทางระบาดวิทยาอยู่แล้วที่เราต้องงดรวมกลุ่ม