กพท.ประกาศห้ามบิน 3 ทุ่มถึงตี 4 จัดที่นั่งเว้นระยะ กรณียกเลิกเที่ยวบินให้แจ้งและดูแลผู้โดยสารอย่างเหมาะสม ติดโควิด-กลุ่มเสี่ยงสูงห้ามขึ้น ฝ่าฝืนมีโทษ

เมื่อวันที่ 9 ก.ค. 2564 สำนักงานการบินพลเรือนแห่งประเทศไทย (กพท.) ออกประกาศเรื่อง แนวปฏิบัติสำหรับผู้ประกอบการสนามบินและผู้ดำเนินการเดินอากาศในเส้นทางการบินภายในประเทศ ในระหว่างสถานการณ์การระบาดของโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 (COVID-19) (ฉบับที่ 2)

ความว่า ตามที่ได้มีประกาศสถานการณ์ฉุกเฉินในทุกเขตท้องที่ทั่วราชอาณาจักร ตั้งแต่วันที่ 26 มีนาคม พ.ศ. 2563 และต่อมาได้ขยายระยะเวลาการบังคับใช้ประกาศสถานการณ์ฉุกเฉินดังกล่าวออกไปเป็นระยะอย่างต่อเนื่อง จนถึงวันที่ 30 กันยายน พ.ศ. 2564 และต่อมาศูนย์บริหารสถานการณ์การแพร่ระบาดของโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 (COVID-19) (ศบค.) ได้ประกาศมติการประชุม เมื่อวันที่ 9 กรกฎาคม พ.ศ. 2564 โดยมีข้อปฏิบัติเรื่องจำกัดการเคลื่อนย้ายและการดำเนินกิจกรรมในระบบขนส่งสาธารณะให้มากที่สุด ซึ่งรัฐบาลขอความร่วมมือให้ประชาชนงดหรือชะลอการเดินทางในช่วงเวลานี้โดยไม่มีเหตุจำเป็นนั้น

เพื่อเป็นการยกระดับการดำเนินมาตรการเฝ้าระวังป้องกันโรคที่สอดคล้องกับข้อกำหนดดังกล่าว สำนักงานการบินพลเรือนแห่งประเทศไทยจึงออกประกาศกำหนดแนวปฏิบัติ ดังนี้

1.ให้ยกเลิกประกาศสำนักงานการบินพลเรือนแห่งประเทศไทย เรื่องแนวปฏิบัติสำหรับผู้ประกอบการสนามบินและผู้ดำเนินการเดินอากาศในเส้นทางการบินภายในประเทศในระหว่างสถานการณ์การระบาดของโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 (COVID-19) ประกาศ ณ วันที่ 17 เมษายน พ.ศ. 2564 และให้ใช้ประกาศฉบับนี้แทน

2.ให้ผู้ดำเนินการเดินอากาศจำกัดการปฏิบัติการบินในระหว่างช่วงเวลา 21.00-04.00 น. เพื่อลดผลกระทบที่อาจเกิดขึ้นกับผู้โดยสารในการเดินทางระหว่างสนามบินและที่พัก และสอดคล้องกับบริการขนส่งสาธารณะประเภทอื่นที่ดำเนินการตามข้อกำหนดและข้อปฏิบัติเดียวกัน

3.ในกรณีที่มีการยกเลิกเที่ยวบินและการรวมเที่ยวบิน ให้มีการแจ้งและดูแลผู้โดยสารอย่างเหมาะสม ตามประกาศกระทรวงคมนาคม เรื่อง การคุ้มครองสิทธิของผู้โดยสารที่ใช้บริการสายการบินของไทยในเส้นทางบินประจำภายในประเทศ พ.ศ. 2553

4.ก่อนออกบัตรโดยสาร ให้ผู้ดำเนินการเดินอากาศตรวจสอบเอกสารสำคัญของผู้โดยสารตามมาตรการป้องกันโรคของจังหวัดปลายทางอย่างเคร่งครัด หากตรวจสอบแล้วพบว่าเอกสารไม่ถูกต้องหรือไม่ครบถ้วน อาจพิจารณาระงับการออกบัตรโดยสารแก่ผู้โดยสารนั้น

5.ให้ผู้ดำเนินการเดินอากาศพิจารณาการจัดที่นั่งในเครื่องบินอย่างเหมาะสมกับจำนวนผู้โดยสารในแต่ละเที่ยวบิน โดยคำนึงถึงมาตรการเว้นระยะห่างเพื่อไม่ให้เกิดความหนาแน่นแออัด อันจะมีส่วนช่วยในการป้องกันควบคุมโรค

6.ให้ผู้ประกอบการสนามบินติดตามดูแลให้ผู้ประกอบการร้านค้าต่างๆ ในเขตพื้นที่สนามบิน ปฏิบัติตามมาตรการของศูนย์บริหารสถานการณ์การแพร่ระบาดของโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 (COVID-19) (ศบค.) โดยเคร่งครัด

7.ให้ผู้ประกอบการสนามบินและผู้ดำเนินการเดินอากาศเพิ่มความเข้มงวดในการติดตามดูแลให้ประชาชนผู้มาใช้บริการปฏิบัติตามมาตรการในระเบียบสำนักงานการบินพลเรือนแห่งประเทศไทย ว่าด้วยแนวปฏิบัติในการให้บริการผู้โดยสารสำหรับเส้นทางการบินภายในประเทศในระหว่างสถานการณ์การระบาดของโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 (COVID-19) พ.ศ. 2564 ประกาศ ณ วันที่ 16 เมษายน พ.ศ. 2564 โดยเคร่งครัด

8.ให้ผู้ประกอบการสนามบินและผู้ดำเนินการเดินอากาศแจ้งเตือนผู้โดยสารกรณีเป็นผู้ป่วยยืนยันหรือผู้สัมผัสเสี่ยงสูง ให้งดการเดินทาง หากฝ่าฝืนอาจได้รับโทษตามพระราชบัญญัติโรคติดต่อ พ.ศ. 2558

ทั้งนี้ ตั้งแต่วันที่ 12 กรกฎาคม พ.ศ. 2564 เป็นต้นไป จนกว่าสถานการณ์ดังกล่าวจะสิ้นสุดไปหรือมีประกาศอื่นใดเพิ่มเติม

ประกาศ ณ วันที่ 9 กรกฎาคม พ.ศ. 2564
(นายสุทธิพงษ์ คงพูล)
ผู้อำนวยการสำนักงานการบินพลเรือนแห่งประเทศไทย

ติดตามข่าวสด

ข่าวเด่นประจำวัน