ราชวิทยาลัยกุมารแพทย์ฯ เผยเด็กไทยติดโควิดเพิ่มขึ้นจากสายพันธุ์เดลตา แต่ภาพรวมยังน้อยกว่าผู้ใหญ่และอาการไม่รุนแรง ขณะที่วัคซีนที่ใช้ในเด็กมีแค่ของไฟเซอร์ในอายุ 12 ปีขึ้นไป ยังไม่แนะนำให้มีการฉีดวัคซีนในเด็กสุขภาพปกติ แต่ให้ใช้วัคซีนที่ใช้ในเด็กได้ในกลุ่มเด็กป่วยโรคเรื้อรัง และฉีดในผู้ใหญ่ที่ใกล้ชิดแทน

ศ.นพ.สมศักดิ์ โล่ห์เลขา ประธานราชวิทยาลัยกุมารแพทย์แห่งประเทศไทย ออกแถลงการณ์โรคโควิด 19 ในเด็ก (ฉบับที่ 2/2564) วัคซีนป้องกันโรคโควิด 19 สำหรับเด็ก ลงวันที่ 16 ก.ค. 2564 มีใจความโดยสรุป ว่า สายพันธุ์เดลตาทำให้ผู้ป่วยเด็กเพิ่มสูงขึ้นกว่าการระบาดในระลอกหนึ่งและสองอย่างมาก ข้อมูลจากกรมควบคุมโรค

ตั้งแต่วันที่ 1 เม.ย. – 15 มิ.ย. 2564 รายงานผู้ป่วยเด็กอายุน้อยกว่า 18 ปี ติดโรคโควิดสะสม จำนวน 13,608 ราย จากผู้ป่วยติดเชื้อทุกอายุ 173,401 ราย คิดเป็นร้อยละ 7.8 ของผู้ติดเชื้อทุกกลุ่มอายุ มีผู้ป่วยเด็กเสียชีวิต 4 ราย คิดเป็นร้อยละ 0.03 ทั้งหมดเป็นผู้ที่มีโรคประจำตัว และเมื่อติดตามข้อมูลจนถึงวันที่ 13 ก.ค. 2564 พบผู้ป่วยเด็กติดเชื้อเพิ่มอย่างรวดเร็วเป็น 33,020 ราย อัตราส่วนของเด็กติดเชื้อสูงขึ้นเป็นร้อยละ 13.2 ของผู้ติดเชื้อทุกกลุ่มอายุ การเพิ่มขึ้นอย่างรวดเร็วของเต็กติดเชื้อใน 4 สัปดาห์ที่ผ่านมา สะท้อนถึงการระบาดในชุมชนและครอบครัวที่ยังควบคุมไม่ได้และมีแนวโน้มที่สูงขึ้น อย่างไรก็ดีพบว่าผู้ป่วยเด็กส่วนใหญ่ติดเชื้อไม่แสดงอาการ หรือมีอาการเพียงเล็กน้อย

วัคซีนโควิด 19 ที่มีข้อมูลรองรับถึงประสิทธิภาพและความปลอดภัยในเด็กอายุ 12 ปีขึ้นไปมีเพียงชนิดเดียว ได้แก่ วัคซีนชนิด mRNA ของไฟเซอร์ ซึ่งได้รับการรับรองให้ใช้ในสหรัฐอเมริกาตั้งแต่วันที่ 10 พ.ค. 2564 อย่างไรก็ตาม มีรายงานเกิดภาวะกล้ามเนื้อหรือเยื่อหุ้มหัวใจอักเสบภายหลังการฉีดในอัตราที่ต่ำมาก (8 ต่อ 1,000,000 คนที่ฉีด) ภายหลังจากได้รับวัคซีนในไม่กี่วัน มักพบในเพศชายอายุน้อยกว่า 30 ปี และพบหลังการฉีดเข็มสองมากกว่าเข็มแรก ผู้ป่วยส่วนใหญ่หายกลับคืนมาใช้ชีวิตตามปกติได้ แต่ยังคงต้องเฝ้าระวังอาการไม่พึงประสงค์นี้และติดตามข้อมูลต่อเนื่องอย่างใกล้ชิด วัคซีนนี้ได้รับการขึ้นทะเบียนโดย อย.ไทยให้ใช้ในอายุ 12 ปีขึ้นไป เมื่อวันที่ 26 มิ.ย. 2564 การนำเข้ายังอยู่ในระหว่างดำเนินการ

สำหรับวัคซีน Sinovac แม้จะมีการใช้ในจีนในเด็กอายุ 3 – 17 ปี จากการศึกษาวิจัยในระยะ 1 และ 2 พบว่ากระตุ้นภูมิคุ้มกันได้ดี แต่ยังไม่มีข้อมูลเรื่องของประสิทธิภาพในการป้องกันโรคโควิด 19 ในเด็กกลุ่มนี้ ในขณะนี้ยังมีการศึกษาวิจัยวัคซีนอีกหลายชนิดในผู้ป่วยเด็กในกลุ่มอายุต่างๆ ลงไปจนถึงอายุ 6 เดือน ซึ่งน่าจะมีข้อมูลต้านประสิทธิภาพและความปลอดภัยออกมาเพิ่มเติมในอีกไม่นานนี้

ภาพรวมยังพบการติดโรคโควิด- 19 ในเด็กน้อยกว่าผู้ใหญ่ และผู้ป่วยเด็กที่ติดเชื้อโรคโควิด 19 มักไม่รุนแรง ดังนั้น ราชวิทยาลัยกุมารแพทย์แห่งประเทศไทยจึงมีความเห็นสอดคล้องกับองค์การอนามัยโลก โดยที่ยังไม่จัดให้เด็กปกติที่มีสุขภาพดีเป็นกลุ่มที่มีลำดับความสำคัญในอันดับต้นในการฉีดวัคซีนป้องกันโรคโควิต 19 ในขณะนี้ คำแนะนำของราชวิทยาลัยกุมารแพทย์แห่งประเทศไทยในขณะนี้ มีดังต่อไปนี้

1.ยังไม่แนะนำวัคซีนโควิด 19 สำหรับเด็กทั่วไปที่แข็งแรงดีในขณะนี้จนกว่าจะมีวัคซีนที่มากขึ้น และมีข้อมูลเรื่องประสิทธิภาพและความปลอดภัยของวัคซีนโควิด 19 ในเด็กเพิ่มเติม

2.แนะนำให้ฉีดวัคซีนที่กระทรวงสาธารณสุขรับรองให้ใช้ในเด็ก ในกรณีผู้ป่วยเด็กที่มีมีโรคประจำตัวที่มีความเสี่ยงของโรคโควิต 19 ที่รุนแรง เช่น โรคอ้วน โรคทางเดินหายใจเรื้อรัง โรคหัวใจและหลอดเลือด โรคไตวายเรื้อรัง โรคหลอดเลือตสมอง โรคมะเร็งและภาวะภูมิคุ้มกันต่ำ และโรคเบาหวาน เป็นต้น

3.แนะนำให้ผู้ใหญ่ที่ใกล้ชิดรับวัคซีน

4.แนะนำให้สร้างวินัยในการป้องกันตัวเอง เช่น สวมหน้ากาก ล้างมือเว้น ระยะห่างให้แก่เด็กในทุกวัยและหลีกเลี่ยงการอยู่ในที่อากาศไม่ถ่ายเท

5.แนะนำให้ผู้ปกครอง ทำงานที่บ้าน งดการเยี่ยมเยียนจากบุคคลภายนอก

ทั้งนี้ ราชวิทยาลัยกุมารแพทย์ฯ ขอสนับสนุนให้มีการใช้มาตรการควบคุมการระบาดของโรคโควิด 19 ในชุมชนอย่างเข้มงวด และการให้วัคซีนที่มีประสิทธิภาพสูงแก่ผู้ใหญ่ เพื่อคุ้มครองเด็กชื่งยังไม่ได้รับวัคซีนในขณะนี้

ราชวิทยาลัยกุมารแพทย์

ติดตามข่าวสด

ข่าวเด่นประจำวัน