“หมอนคร” ขออภัยจัดหาวัคซีนโควิดล่าช้า ไม่ทันการระบาด-กลายพันธุ์ เร่งจัดหาเพิ่มทั้งปีนี้และปีหน้า เน้นวัคซีนรุ่น 2 รองรับกลายพันธุ์ พร้อมเจรจาโคแวกซ์ สำหรับปี 65 ขอรับถ่ายทอดเทคโนโลยีแพลตฟอร์มอื่น ขณะที่กรมควบคุมโรคยันจัดหาวัคซีนรอบคอบทุกขั้นตอน

วันที่ 21 ก.ค.2564 นพ.โสภณ เอี่ยมศิริถาวร รองอธิบดีกรมควบคุมโรค กล่าวถึงการจัดหาวัคซีนโควิด-19 ว่า การดำเนินงานในระดับของกรมควบคุมโรค ได้จัดทีมเจรจากับบริษัทวัคซีน ทั้งในเรื่องผลศึกษาประสิทธิภาพวัคซีน พิจารณาเรื่องราคา ความเหมาะสมในการใช้งานในประเทศไทย เช่น การจัดเก็บและขนส่ง เป็นต้น รวมถึงข้อมูลเรื่องผลข้างเคียงหากมีการใช้งานในต่างประเทศแล้ว

โดยดำเนินการร่วมกับสถาบันวัคซีนแห่งชาติ คณะผู้เชี่ยวชาญด้านวัคซีน การพูดคุยมีขั้นตอน นอกจากการลงนามในเอกสารไม่เปิดเผยข้อมูลความลับ เราก็ต้องพิจารณาเอกสารต่างๆ อย่างรอบคอบ เอกสารส่วนใหญ่เป็นภาษาอังกฤษ ต้องตรวจทานและส่งให้สำนักงานอัยการสูงสุดร่วมตรวจสอบ เพื่อให้รอบคอบก่อนลงนาม

“ส่วนเอกสารเกี่ยวข้องกับการจอง มีข้อความต่างๆ สะท้อนถึงข้อผูกมัด ข้อตกลง ที่ต้องดำเนินการร่วมกัน จึงต้องตรวจสอบก่อนลงนาม และจึงเป็นสัญญาสั่งซื้อ เช่น เมื่อวานที่ลงนามสั่งซื้อไฟเซอร์ เป็นต้น การทำงานแต่ละขั้นตอนมีผู้เกี่ยวข้องหลายส่วน เราเจรจาเพื่อให้เกิดประโยชน์ต่อประเทศไทยมากที่สุด ทั้งเรื่องราคา เงื่อนไขต่างๆ เช่น กำหนดวันส่งมอบวัคซีน การดูแลผลิตภัณฑ์ จะมีการตรวจสอบคุณภาพการผลิตก่อนนำไปใช้ รวมทั้งเรื่องสัญญามัดจำ ต้องวางเงินจองเท่าไร ส่งมอบวัคซีนแล้วต้องจ่ายเงินเท่าไร”

ขออภัย

นพ.โสภณ กล่าวต่อว่า บางบริษัทต้องจ่ายเงินก่อนส่งมอบ ก็ต้องปรึกษาหารือหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง เช่น กรมบัญชีกลาง สำนักงบประมาณ ที่เกี่ยวข้องกับการจัดซื้อจัดจ้าง มีขั้นตอนการดำเนินการที่มีรายละเอียด ทำอย่างรอบคอบในเวลาไม่ล่าช้า ซึ่งกว่าจะได้ก็ใช้เวลาหลายเดือน แต่จะไม่ช้าไปกว่ากำหนดส่งมอบวัคซีน ซึ่งเราจะรู้ว่าวัคซีนจะส่งมอบได้เมื่อไร อย่างไฟเซอร์เริ่มพูดคุยกันก็ทราบว่ามีประเทศต่างๆ จองเข้ามาจำนวนมาก

วันที่ประเทศไทยตัดสินใจสั่งซื้อ กำหนดส่งมอบคือไตรมาส 4 ของปีนี้ ก็เป็นระยะเวลาที่เราอยากได้เร็วกว่านี้ ก็ต้องต่อรองให้เร็วขึ้น แต่บางครั้งก็ไม่เป็นไปตามที่ต้องการทั้งหมด แม้บริษัทให้คำตอบว่าจะทำให้ส่งมอบได้เร็วขึ้นก็ตาม ทุกอย่างเราทำด้วยความรอบคอบ ไม่ให้เกิดผลเสีย แต่เกิดประโยชน์ต่อประเทศไทยมากที่สุด

สำหรับการฉีดวัคซีนตกวันละเกือบ 3 แสนโดส เดือนหนึ่งก็ประมาณ 9 ล้านโดส ความเร็วส่วนหนึ่งขึ้นกับศักยภาพการฉีด เราฉีดได้มาก ต่อไปคือจัดหาวัคซีนให้เพียงพอเดือนละ 10 ล้านโดส ซึ่งตั้งแต่รณรงค์วันที่ 7 มิ.ย. การฉีดถือว่าเป็นไปตามแผน

นพ.นคร เปรมศรี ผอ.สถาบันวัคซีนแห่งชาติ กล่าวว่า สถาบันฯ ทำหน้าที่เจรจาจัดหาติดต่อประสานงานผู้ผลิตวัคซีน ทั้งที่มีวัคซีนแล้วและยังอยู่ระหว่างการวิจัย เริ่มดำเนินการตั้งแต่ ส.ค.2563 พยายามหาช่องทางจองซื้อวัคซีนล่วงหน้าแม้อยู่ระหว่างการวิจัย จึงมีการออกประกาศตาม พ.ร.บ.ความมั่นคงด้านวัคซีนแห่งชาติ พ.ศ.2561 มาตรา 18 (4) ที่เปิดให้สถาบันฯ จองวัคซีนล่วงหน้าระหว่างการวิจัยได้ เป็นที่มาของการจัดหาวัคซีนแอสตร้าเซนเนก้า ที่เป็นการจองล่วงหน้า 61 ล้านโดส การเสนอจัดหาวัคซีนใดๆ ก็ตาม

ขออภัย

เมื่อมีข้อมูลจากการพูดคุยกับผู้ผลิต จะนำเข้าสู่การพิจารณาของคณะทำงานและคณะกรรมการจัดหาวัคซีนที่มีปลัดกระทรวงสาธารณสุขเป็นประธาน ตามกลไกการบริหารในรูปแบบคณะกรรมการ ไม่สามารถทำได้โดยบุคคลใดบุคคลหนึ่ง เพื่อความรอบคอบ เพราะเกี่ยวพันกับภาระงบประมาณ และความผูกพันด้านสัญญา หน่วยงานใดหน่วยงานหนึ่งไม่สามารถตัดสินใจโดยลำพัง

“การดำเนินการก่อนลงนามในส่วนใด จะส่งปรึกษาหารือกับหน่วยงานด้านกฎหมายของประเทศพิจารณาก่อน ตามระบบระเบียบ จึงจำเป็นต้องใช้เวลาดำเนินการ ทำให้เกิดการรับรู้ว่าการดำเนินงานวัคซีนอาจไม่ทันตามจำนวนที่คิดว่าควรจะเป็นได้ ถือเป็นข้อจำกัดที่มี ต้องกราบขออภัยประชาชน ที่สถาบันวัคซีนฯ แม้จะพยายามอย่างเต็มที่ ก็ยังจัดหาวัคซีนจำนวนไม่เพียงพอต่อสถานการณ์ที่ไม่คาดคิด คือ การระบาดและการกลายพันธุ์ ซึ่งไม่ใช่เรื่องคาดหมายได้ล่วงหน้า ทำให้เกิดการระบาดเร็วและรุนแรงกว่าปีที่แล้ว การจัดหาวัคซีนไม่ทันสถานการณ์ ต้องขออภัยอีกครั้ง”

นพ.นคร กล่าวต่อว่า การดำเนินการต่อไปข้างหน้าในความรับผิดชอบ คือ การจัดหาวัคซีนเพิ่มเติมในปี 2564 และปี 2565 เร่งรัดจัดหาพิจารณาผู้ผลิตวัคซีนที่มีการพัฒนารุ่น 2 ที่ตอบสนองไวรัสกลายพันธุ์ เพื่อให้ส่งมอบตั้งแต่ไตรมาส 1 ปี 2565 เป็นสิ่งที่ต้องเร่งดำเนินการ จำเป็นต้องจองล่วงหน้า

ส่วนโครงการโคแวกซ์ ยังไม่มีการลงนามทำความร่วมมือจัดหาวัคซีนร่วมกันผ่านโครงการโคแวกซ์ โดยสถาบันวัคซีนฯ เริ่มเจรจาส่งข้อความประสานงานไปที่องค์กรกาวี (GAVI) ในการขอเจรจาจัดหาวัคซีนร่วมกับโครงการโคแวกซ์ มีเป้าหมายการได้รับวัคซีนของปี 2565 เพิ่มเติมจากการเจรจากับผู้ผลิตโดยลำพัง เมื่อมีข้อสรุปเบื้องต้นชัดเจนจะเสนอผ่านคณะทำงาน คณะกรรมการที่เกี่ยวข้อง

นพ.นคร ระบุด้วยว่า นอกจากนี้จะสนับสนุนวิจัยพัฒนาวัคซีนในประเทศ ทั้งการขอความร่วมมือถ่ายทอดเทคโนโลยี หาผู้ผลิตวัคซีนต่างประเทศที่ประสงค์ขยายกำลังการผลิต ในการผลิตด้วยแพลตฟอร์มอื่นๆ นอกจากไวรัลเวคเตอร์ ทั้งเชื้อตาย mRNA หรือซับยูนิตโปรตีน โดยกระทรวงการต่างประเทศมีบทบาทสำคัญในการเข้ามาช่วยประสานงาน ดูทิศทางการดำเนินงานรวมกับต่างประเทศ

ส่วนการศึกษาวิจัยในประเทศ ทั้ง mRNA ของจุฬาฯ วัคซีนเชื้อตายขององค์การเภสัชกรรม วัคซีนของไบโอเน็ทเอเชีย วัคซีนของบริษัทใบยาไฟโตฟาร์ม ที่มีความก้าวหน้า ก็จะดำเนินการสนับสนุนอย่างเต็มที่ และวิจัยพัฒนาข้อความรู้อื่นๆ เพื่อมาสนับสนุนการดำเนินงานวัคซีนของไทยต่อไปข้างหน้า

 

 

 

ติดตามข่าวสด

ข่าวเด่นประจำวัน