‘แพทย์ชนบท’ เสนอ 3 ข้อ เมืองกรุงกับทางรอด รับตอนนี้โควิดระบาดไกลเกินควบคุมแล้ว​ หากไม่ได้วัคซีนมาฉีดเพื่อลดอัตราการติดเชื้อ

วันที่ 23 ก.ค64 ชมรมแพทย์ชนบท โพสต์ข้อเสนอการแก้ปัญหาโควิด-19 ในกรุงเทพ ความว่า เมืองกรุงกับทางรอด ข้อเสนอจากชมรมแพทย์ชนบท

ความเศร้าประการสำคัญของผู้คนใน กทม.ที่เรารับรู้มาจากการตรวจโควิดในปฏิบัติการแพทย์ชนบทบุกกรุงทั้ง 2 ครั้ง คือ ความสูญเสียของญาติมิตร และความทุกข์จากการไม่มีที่ตรวจโควิด เข้าคิว 3 วัน 5 วันก็แทบจะสิ้นหวัง

แต่ถึงแม้จะมีผล Rapid Ag Test ว่า positive แล้ว สิ่งที่ผู้ป่วยหลายๆคนเจอคือ โรงพยาบาลและโรงพยาบาลสนามใน กทม.ให้ผู้ป่วยไปหาที่ทำ rtPCR เองมาก่อน เพื่อยืนยันการเป็นโควิดแล้วจึงจะรับเข้ามารักษา

ซึ่งผู้ป่วยส่วนใหญ่ไม่สามารถหาที่ทำ rtPCR ได้อยู่แล้วในสภาวะโกลาหลเช่นนี้ ผลก็คือ หลายคนจึงต้องกลับไปนอนรอเวลาแห่งความสูญเสียที่บ้านซึ่งไม่ควรจะเกิดขึ้นเลยในยุคที่เมืองไทยและเมืองหลวงพัฒนาการแพทย์การสาธารณสุขมาไกลถึงขนาดนี้แล้ว

ในขณะที่อำเภอต่างจังหวัดทุกแห่ง หากเราสงสัยโควิด หมอก็จะทำ swab ส่ง rapid test บ้าง rtPCR บ้างให้คนไข้เสมอ ไม่ต้องไปหาตรวจที่อื่น หากใครถือผล rapid test มา เราก็ตรวจ rtPCR ซ้ำให้เพื่อความแน่นอน โดยที่เรารับรู้ว่านี่คือหน้าที่ของเรา ไม่เคยให้คนไข้ไปหาที่ตรวจมาเองแล้วค่อยเอาผลมาให้หมอ แต่ใน กทม.นั้นไม่ใช่ การไม่สามารถหาที่ตรวจโควิดหรือ rtPCR จึงเป็นความทุกข์หนักมากๆของคนกรุงเทพ

ชมรมแพทย์ชนบท ได้ทำการตรวจสวอบคนกรุงไปในทั้ง 2 รอบกว่า 40,000 คนแล้ว ได้ฟังเสียงของคนกรุงเทพมาไม่น้อย พบผลบวกเกินกว่า 10% เราพบว่าแม้เราจะช่วยได้บ้าง แต่ก็ช่วยคนกรุงเทพได้ชั่วคราว หน่วยงานในกรุงเทพต้องระดมความมมือช่วยกันเองให้มาก จึงจะสร้างความหวังได้
ชมรมแพทย์ชนบทจึงขอเสนอว่า

1. ขอให้​ ศบค.กทม.​ กรุงเทพมหานคร โรงพยาบาลต่างๆ และหน่วยงานต่างๆในเมืองหลวง ต้องช่วยกันเพิ่มจุดตรวจโควิดให้มากขึ้นอีกหลายๆเท่า ให้เพียงพอกับสถานการณ์การระบาดที่หนักหน่วง

2. ขอให้โรงพยาบาลและโรงพยาบาลสนามทุกแห่ง ยอมรับผลของ Rapid Ag Test และอย่าได้ผลักภาระการตรวจ rtPCR ให้เป็นภาระของคนไข้ที่เขาต้องไปหาที่ตรวจเอง ซึ่งไม่ควรอย่างยิ่ง ควรเป็นหน้าที่ของโรงพยาบาลที่จะต้องตรวจยืนยันให้เขา

3. ขอให้รัฐบาลส่งเสริมให้มีการตรวจโควิดด้วยตนเองโดย Ag Test Kid ให้กว้างขวาง ทั้งด้วยการส่งให้ตรวจฟรีสำหรับคนที่ร้องขอ หรือการวางขายตามร้านขายยา โดยที่มีการควบคุมคุณภาพและควบคุมราคาให้เหมาะสม

ทั้งสามข้อจะทำให้ทั้งประชาชนคนกรุงและต่างจังหวัดด้วยเข้าถึงการตรวจโควิดได้มากขึ้นอย่างมาก เพราะต้องยอมรับว่า การรู้ตัวว่าตนเองติดโควิดคือหัวใจของการควบคุมโรค เฉกเช่นที่อารยะประเทศเขาปฏิบัติกัน

พร้อมกันนี้ยังระบุอีกว่า ผลการปฏิบัติงานของแพทย์ชนบทบุกกรุงครั้งที่ 2 ในวันแรก​ 21​ กรกฎาคม​2564​ ได้ 9,000 กว่าคน​ สิ่งที่น่าตกใจคือ​ อัตราการติดเชื้อของชุมชนที่เราตรวจสูงถึง​ 19​% ซึ่งสูง มากๆ

นั่นหมายความว่า​ การแพร่ระบาดของเชื้อโควิดไกลเกินกว่าจะควบคุมได้แล้ว​ หากไม่ได้วัคซีนมาฉีดเพื่อลดอัตราการติดเชื้อ​ หรือติดเชื้อแล้วก็ไม่ป่วยหนัก​ คงยากที่จะลดป่วยลดตายได้​ วัคซีนจึงสำคัญมากๆ​ เพราะการตรวจสวอปก็เพียงแค่ให้รู้ว่าติดเชื้อหรือไม่​ แล้วแยกตัวออกมา หากไม่ได้วัคซีน​ ก็ยากที่จะเลี่ยงการติดเชื้ออยู่ดี

นี่คือตัวเลขจริงในชุมชนแออัดใน​ กทม.​ ตัวเลขที่ทุกฝ่ายทุกองค์กรต้องช่วยกันจึงจะผ่านวิกฤตนี้ไปได้

ติดตามข่าวสด

ข่าวเด่นประจำวัน