WHO ชี้ “ไทย” ไม่ใช่ประเทศเดียวที่ถูกโควิดเดลตาโจมตีจนระบาดหนัก ประเทศอื่นที่ฉีดวัคซีนครอบคลุมก็เจอปัญหา ย้ำมาตรการต้องเข้มมาตรการ “หมอนคร” แจงวัคซีนไม่มีทางไล่ไวรัสกลายพันธุ์ทัน ไม่แฟร์หากบอกวัคซีนไม่ได้ผล ทุกประเทศหาไม่ทันแม้ทำเต็มที่แล้ว

เมื่อวันที่ 23 ก.ค. นพ.ริชาร์ด บราวน์ ผู้อำนวยการโครงการด้านภัยสุขภาพฉุกเฉิน องค์การอนามัยโลก สำนักงานประจำประเทศไทย กล่าวว่า ในการระบาดของโรคโควิด 19 ระลหกอกแรก ประเทศไทยควบคุมโรคได้สำเร็จ ทำให้องค์การอนามัยโลก (WHO) มาประเมินปัจจัยความสำเร็จ แต่สถานการณ์ขณะนี้ที่มีการระบาดอย่างมาก เนื่องจากสถานการณ์ไวรัสมีการกลายพันธุ์ หลายคนอาจจะไม่ได้คาดการณ์ว่าจะเกิดขึ้น ซึ่งประเทศไทย ไม่ใช่ประเทศเดียวที่มีปัญหานี้ แต่ประเทศที่ฉีดวัคซีนประชากรได้ครอบคลุมมากพอแล้ว ก็ยังเผชิญสถานการณ์ที่มีการระบาดเพิ่มขึ้นอย่างมหาศาล ไม่ว่าจะเป็นประเทศอะไรก็ตาม แม้แต่ประเทศเพื่อนบ้านอย่างกัมพูชา เวียดนาม ก็เจอสถานการณ์นี้

“ขณะนี้มีสายพันธุ์ใหม่ การกลายพันธุ์ทำให้เชื้อแพร่กระจายง่ายขึ้นก็จริง แต่ไม่ได้เปลี่ยนมาตรการป้องกันส่วนบุคคล เราต้องดูว่าปีที่แล้วเราทำเข้มข้นแค่ไหน ตอนนี้ต้องเพิ่มความเข้มข้นมากขึ้นกว่านี้ ทั้งองค์การอนามัยโลก กระทรวงสาธารณสุข (สธ.) ต้องตอบสนองต่อสถานการณ์โดยใช้มาตรการที่ได้ผลดีอยู่แล้วทำให้เข้มข้นขึ้น อย่างไรก็ตาม ความรับผิดชอบส่วนใหญ่อยู่กับประชาชนทั่วไป ควรใช้มาตรการป้องกันส่วนบุคคลต่างๆ เพื่อหยุดยั้งการแพร่ระบาด ทั้งการสวมหน้ากาก ล้างมือ รักษาระยะห่าง ถ้าทุกคนทำได้อย่างเข้มข้นก็จะสามารถตัดวงจรของการระบาดได้ และทำให้เคิร์ฟถูกตบให้แบนลงได้” นพ.ริชาร์ดกล่าว

ด้าน นพ.นคร เปรมศรี ผู้อำนวยการสถาบันวัคซีนแห่งชาติ กล่าวว่า ที่ผ่านมาเราทำได้ดี ไม่ได้เกิดจากการทำงานฝ่ายเดียว แต่เป็นความร่วมมือของทุกคน แม้ สธ.จะออกมาตรการดีเพียงใดหากไม่ได้รับความร่วมมือจากประชาชน ที่ผ่านมาก็คงควบคุมโรคไม่ได้อยู่ดี ความสำเร็จอาจจะไม่เกิดขึ้น อาจเกิดการระบาดเหมือนประเทศอื่นซึ่งไม่จำเป็นต้องเป็นสายพันธุ์เดลตา เพราะปี 2563 ประเทศอื่นๆ ที่เกิดการระบาดก็ไม่ใช่เชื้อกลายพันธุ์ แต่เป็นไวรัสปกติ แม้กระทั่งกลายพันธุ์เป็นสายพันธุ์อัลฟา ประเทศไทยก็ยังรับมือได้ด้วยมาตรการควบคุมโรค อย่าง จ.สมุทรสาครก็ควบคุมกันได้ มาตรการป้องกันควบคุมโรคสำเร็จได้ด้วยความร่วมมือ

“ส่วนเรื่องไวรัสกลายพันธุ์ไม่ใช่ความผิดพลาดคนทำงาน การกลายพันธุ์เป็นธรรมชาติของมัน แล้วมาบอกว่าวัคซีนไม่ได้ผลก็ไม่แฟร์กับวัคซีน เพราะวัคซีนเกิดก่อนไวรัสกลายพันธุ์ วันนี้อยากได้วัคซีนที่สนองต่อไวรัสกลายพันธุ์ก็ยังไม่มี ถ้าวันนี้พัฒนาวัคซีนที่ตอบสนองต่อไวรัสกลายพันธุ์ได้ วันนี้ที่ผู้ผลิตกำลังพัฒนาก็เป็นวัคซีนต่อสายพันธุ์เบตา เพราะสายพันธุ์นี้มาก่อน ยังไม่มีเจ้าไหนผลิตวัคซีนที่ตอบสนองต่อสายพันธุ์เดลตา แม้กระทั่งวัคซีนต่อสายพันธุ์เบตาก็ยังต้องรอปลายปีนี้ ซึ่งก็ไม่รู้ว่าปลายปีนี้จะสายพันธุ์อื่นที่กลายพันธุ์ไปมากกว่านี้หรือไม่ เพราะฉะนั้นตัววัคซีนก็ไล่ตามไม่ทันแน่” นพ.นครกล่าว

นพ.นครกล่าวว่า อีกประเด็นที่ต้องทำความเข้าใจ คือ แต่ละวัคซีนต้องใช้เวลาในการทำงานสร้างภูมิคุ้มกัน เช่น ซิโนแวคใช้เวลา 6 สัปดาห์ในการเกิดภูมิคุ้มกันโรคได้ดี ส่วนแอสตร้าเซนเนก้าใช้เวลาอย่างน้อย 8-10 สัปดาห์ ซึ่งเป็นธรรมชาติของวัคซีน แต่ไวรัสเมื่อถ่ายทอดโรคใช้เวลา 7 วันก็ฟักตัวเป็นส่วนใหญ่แล้ว ต่อให้มีวัคซีนมากยังไง เมื่อมีการระบาดก็ไม่ทันอยู่ดี เว้นแต่เราฉีดวัคซีนไว้ดักหน้าจำนวนมาก ซึ่งสถานการณ์แบบนี้ไม่เกิดขึ้นกับประเทศใดในโลกนี้ สถานการณ์ที่บอกว่ามีวัคซีนมากๆ แล้วฉีดไว้ดักจนไม่เกิดการระบาด เราไม่เคยเห็นในโลกนี้ ไม่มี เพราะไม่มีประเทศไหนที่มีวัคซีนมีเพียงพอที่จะป้องกัน ทุกประเทศเกิดระบาดใหญ่แล้ววัคซีนค่อยมาจัดการ ไปดูทั้งสหรัฐอเมริกา อังกฤษ สหภาพยุโรป ทุกประเทศชั้นนำ

“ที่ต้องทำความเข้าใจและสร้างการรับรู้ คือ ส่วนนี้ เพราะวัคซีนมีจำกัด การที่เราจัดหาวัคซีนไม่ทันต่อสถานการณ์ก็เป็นสถานการณ์ที่เป็นจริง และทุกประเทศก็เป็น เราก็เป็น แต่คนทำงานก็ต้องมีความรับผิดชอบ แม้จะทำงานอย่างเต็มที่แต่ผลออกมาไม่ดี เหมือนกันเชื่อว่าตอนนี้เราก็ทำอย่างเต็มที่ อย่างการควบคุมโรคสอบสวนโรค แต่ผลก็ยังเป็นอย่างที่เห็น แต่เราก็ทำเต็มที่ไม่ได้ย่อหย่อน มองออกไปทุกประเทศมีการระบาดของไวรัสกลายพันธุ์ทั้งสิ้น เพียงแต่ประเทศไหนที่มีไวรัสกลายพันธุ์แล้วเวลานี้มีวัคซีนครอบคลุมที่ดี ก็ได้รับผลกระทบไม่มาก เช่น อังกฤษ เกิดระบาดใหญ่อีกครั้ง ติดเชื้อรายวัน 4 หมื่นคน แต่ผู้เสียชีวิตน้อย แสดงว่าวัคซีนได้ผลป้องกันเจ็บป่วยรุนแรงและเสียชีวิตได้” นพ.นครกล่าว

นพ.นครกล่าวว่า สิ่งสำคัญคือเน้นฉีดวัคซีนกลุ่มเสี่ยงเพื่อลดอาการรุนแรงของโรค ลดเสียชีวิต ลดภาระของ รพ.ที่ดูแลผู้ป่วยหนัก ดังนั้น วัคซีนที่มีอยู่ ไม่ว่าจะเป็นซิโนแวคหรือแอสตร้าเซนเนก้า ทั้ง 2 ตัวยังช่วยป้องกันเจ็บป่วยรุนแรงและเสียชีวิตได้ดีทั้งคู่ แม้เป็นไวรัสกลายพันธุ์ เพระาฉะนั้นที่ต้องทำคือเน้นฉีดกลุ่มเสี่ยงให้ครอบคลุมเร็วที่สุด ทุกหน่วยฉีดวัคซีนจำเป็นต้องเปลี่ยนเป้าหมายที่พยายามฉีดเยอะๆ แต่ไม่ตรงกลุ่ม เปลี่ยนมาเป็นกลุ่มผู้สูงอายุ ผู้มีโรคร่วม น้ำหนักเกิน หญิงตั้งครรภ์ให้มากที่สุดเท่าที่มากได้ ถึงจะมีจุดเปลี่ยน (Turning Point)

เริ่มจากมีผู้ป่วยอาการหนักลดลงก่อน ผู้ป่วยจำนวนเยอะอาจมีได้ แต่ต้องลดผู้เสียชีวิตและอาการหนักให้เร็วที่สุด วัคซีนที่ฉีดต้องเร่งฉีดคนที่ไม่ป่วย เพราะวัคซีนใช้กับคนไม่ป่วย ป่วยแล้วยังไงก็ฉีดไม่ทัน แม้สัมผัสโรคแล้วฉีดไปก็แทบไม่ทัน พื้นที่การระบาดก็ต้องทำแบบนี้ พวกเราทุกคนต้องช่วยกัน และไม่สามารถสำเร็จได้ด้วยภาครัฐ ต้องการความร่วมมือของประชาชนอย่างเต็มที่ เมื่อเจอไวรัสกลายพันธุ์อาจจะต้องเพิ่มความเข้มข้นเข้มงวดในมาตรการป้องกันควบคุมโรคเฉพาะบุคคลให้ต่อเนื่องเราจึงผ่านวิกฤตได้

ติดตามข่าวสด

ข่าวเด่นประจำวัน