รฟท. ยกเลิกรถขบวนพิเศษ ส่งผู้ติดโควิดกลับอีสาน เหตุผู้ป่วยน้อย ไม่คุ้มการลงทุน ด้าน รมว.คมนาคม สั่งขสทบ. จัดรถโดยสารเที่ยวพิเศษแทน

26 ก.ค. 2564 – ผู้สื่อข่าวรายงานว่า กระทรวงคมนาคม และกระทรวงสาธารณสุข (สธ.) พิจารณาถึงแนวทางการจัดส่งผู้ป่วยโควิด-19 กลับไปรักษาตัวที่ภูมิลำเนา โดยการรถไฟแห่งประเทศไทย ได้จัดขบวนรถไฟโดยสารด่วนพิเศษไว้เพื่อรับผู้ป่วยติดเชื้อจากกรุงเทพมหานคร ที่ลงทะเบียนจองเตียงรักษาผ่านระบบ สปสช. 1330 กลับไปรักษาตามภูมิลำเนาในภาคตะวันออกเฉียงเหนือ

ล่าสุด มติชนออนไลนฺ์ รายงานว่า จากการตรวจสอบผู้ป่วยที่ลงทะเบียนไว้เมื่อช่วงบ่าย วันที่ 25 ก.ค. พบว่าผู้ป่วยส่วนใหญ่เดินทางกลับไปรักษาที่บ้านเกิดโดยรถของโรงพยาบาล รถของหน่วยกู้ภัย รถโดยสารเช่าเหมาไปแล้ว ขณะที่บางรายรักษาหาย ส่งผลให้เหลือผู้ป่วยที่ประสงค์จะเดินทางกับขบวนรถไฟโดยสารด่วนพิเศษจำนวนน้อย ซึ่งไม่คุ้มค่ากับการลงทุน

การรถไฟแห่งประเทศไทย จึงได้ยกเลิกขบวนรถด่วนพิเศษรับผู้ป่วยโควิดกลับไปรักษาตัวที่ภาคอีสานทั้งหมด และ นายศักดิ์สยาม ชิดชอบ รมว.คมนาคม ได้สั่งการให้กรมการขนส่งทางบกจัดรถโดยสารเที่ยวพิเศษและรถตู้กู้ชีพ ของมูลนิธิต่าง ๆ รับผู้ป่วยที่เหลือส่งกลับไปรักษาที่บ้านแทน

ทั้งนี้ ทาง ศบค.ได้สั่งการให้จังหวัดต่าง ๆ วางแผนประสานหน่วยงาน เช่น สาธารณสุขจังหวัด, ขนส่งจังหวัด, หน่วยงานทหาร, ตำรวจและองค์การปกครองส่วนท้องถิ่น จัดเตรียมยานพาหนะ อาหาร น้ำดื่ม สุขาเคลื่อนที่ ระบบป้องกันการแพร่เชื้อ โดยให้มารับตัวผู้ป่วยที่จะลงยังสถานีรถไฟต่าง ๆ ไปรักษาตามโรงพยาบาล, โรงพยาบาลสนาม หรือจุดพักคอยแต่ละอำเภอจัดไว้

ขณะที่ ศูนย์โควิด-19 โคราช โพสต์ข้อความชี้แจงว่า ไม่มีผู้ป่วยที่เดินทางโดยรถไฟวันที่ 26 ก.ค. จำนวน 296 ราย ตามที่เป็นข่าว จากการตรวจสอบพบว่า ได้รับการรักษาที่ต้นทางจำนวน 7 ราย ที่ติดต่อขอกลับมารักษาที่ จ.นครราชสีมา โดยเข้าระบบ Call Center ได้แก่ ผู้ป่วย อ.คง 2 ราย อ.โชคชัย 1 ราย อ.พิมาย 1 ราย และ อ.สีคิ้ว 3 ราย พร้อมย้ำว่า ไม่มีการเดินทางโดยรถไฟ

ติดตามข่าวสด

ข่าวเด่นประจำวัน